ทนายหน้าหอแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

เพิ่งพูดไปหยกๆ ว่า เกม “ผิดนัดชำระหนี้” ของ บริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ยังจบไม่ลงง่ายๆ แม้ว่า ลูกหนี้อย่างเสี่ย วิน วิริยประไพกิจ จะ “มอบตัว” เข้าแผนฟื้นฟู ภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าหนี้ยอมรับว่าให้ลูกหนี้บริหารแผนเองไปแล้ว


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

เพิ่งพูดไปหยกๆ ว่า เกมผิดนัดชำระหนี้” ของ บริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ยังจบไม่ลงง่ายๆ แม้ว่า ลูกหนี้อย่างเสี่ย วิน วิริยประไพกิจ จะ “มอบตัว” เข้าแผนฟื้นฟู ภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าหนี้ยอมรับว่าให้ลูกหนี้บริหารแผนเองไปแล้ว

เหตุที่ไม่จบลงง่ายๆ เพราะปรากฏว่ามีเรื่องแทรกทันควัน คราวนี้ เสี่ยวิน ไม่ต้องออกโรงเอง  แต่มีทนายหน้าหอ ออกมาแก้ต่างชนิด “ตัดตอนความผิด” อย่างร้อนรน โดยไม่ต้องร้องขอ แถมมีตำแหน่งใหญ่โตน่าเชื่อถือ

ธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต. นั่นเอง

ธวัชชัย ออกมาให้สัมภาษณ์แจกแจงเสมือนโฆษกประจำตัว เสี่ยวิน เลยทีเดียว โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น

– การซื้อโรงถลุงเหล็กในประเทศอังกฤษ จากงบการเงินไม่พบความผิดปกติ

– ผลการดำเนินงานของ SSI ที่ออกมานั้นสอดคล้องต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี ความต้องการเหล็กที่ลดลง และราคาเหล็กที่ย่ำแย่ ทำให้ผลดำเนินงานติดลบ หลังจากเข้าซื้อโรงถลุงเหล็กในอังกฤษ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

– ราคาที่ SSI ซื้อโรงงานเหล็กที่อังกฤษถือว่าแพง เพราะมีการจ่ายค่าความนิยม (Goodwil) สูงกว่าราคายุติธรรม แต่เป็นข้อตกลงกับผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ต้องรับภาระมาก ไม่ได้มีการแต่งงบฯ แต่อย่างใด

– การที่ SSI จะเข้ากระบวนการฟื้นฟู ก.ล.ต. ก็ยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไร

พูดอย่างนี้ เท่ากับประทับตรา “ธรรมาภิบาล” ให้กับคนที่ทำธุรกิจ 5 หมื่นล้านบาท แล้วพังทลายภายใน 3 ปีเป็นสถิติระดับโลก เล่นเอางงไปทั้งบางเลยว่า วัตถุประสงค์ของ ผอ.ใหญ่ ก.ล.ต. คืออะไร

ที่ว่า ตรวจสอบงบการเงินแล้วไม่พบความผิดปกติ ก็ไม่แปลก เพราะถ้ามีผู้ตรวจสอบบัญชีถูกเล่นงานไปแล้ว

เรื่อง SSI UK จะเจ๊งถึงขั้นปิดโรงงาน เพราะอะไรก็ไม่แปลก อ้างเหตุกันได้เรื่อยๆ

ที่แปลกพิลึกมาก ทำให้เกิดคำถาม คือ ที่บอกว่าซื้อโรงงานแพง เพราะจ่ายค่าความนิยมสูงกว่าราคายุติธรรม

ทำไม ก.ล.ต. ต้องออกหน้ามาบอกว่า ที่จ่ายแพงเพราะ ค่าความนิยม หรือ goodwill สูงกว่าปกติ นี่มันหน้าที่ของ ก.ล.ต.หรือ เจ้าหนี้กันแน่

ตามหลักการของการปล่อยกู้โครงการแล้ว เจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดเรื่องคุณภาพสินเชื่อ เขาจะพิจารณาสินทรัพย์ และสัดส่วนทางการเงิน โดยแยกเอาค่าความนิยม ออกจากการคำนวณสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ดี/อี อยู่แล้ว  

ดังนั้น การที่ ก.ล.ต. บอกว่า ราคาที่ซื้อแพงนี่ รวมเอาค่าความนิยมเข้าไปด้วย แสดงว่า ตอนพิจารณาปล่อยสินเชื่อเงินกู้เมื่อต้นปี 2554 นั้น เจ้าหนี้รวมค่าความนิยมเข้าไปคำนวณด้วยอย่างนั้นหรือ

ที่ร้ายกว่านั้น มีประเด็นใหญ่กว่าคือ การพิจารณาค่าความนิยมของโรงงาน TCP (เปลี่ยนชื่อเป็น SSI UK) ในปลายปี 2553 ก่อนที่จะปล่อยสินเชื่อเกือบ 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น ให้ค่าความนิยมเกินเลยกว่าปกติ เนื่องจากโรงงาน TCP ที่ว่า ปิดโรงงานมาแล้วมากกว่า 3 ปี เพราะกลุ่มตาต้ากรุ๊ปของอินเดียขาดทุนป่นปี้ แบกรับต่อไม่ไหว ขอบอกศาลา ไม่ต่างอะไรกับบรรดาเจ้าของโรงงานก่อนหน้านั้นมากกว่า 10 ราย ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

โรงงานเหล็กเก่าคร่ำคร่าอย่างนั้น ไม่ควรมีค่าความนิยม หรือ Goodwill ด้วยซ้ำ

หากมองจากแง่มุมนักการเงินล้วนๆ ค่าความนิยม มันก็คือ การจ่ายเงินใต้โต๊ะด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่เปิดเผย หรือ kick back ธรรมดานี่เอง เพราะเป็นเรื่องรู้ๆ กันอยู่ แต่ไม่มีใครเอ่ยปาก เท่านั้น (เพียงแต่อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ เป็นแค่ข้อสังเกต เพราะไม่มีหลักฐานอะไรว่าเสี่ยวินและพวก ได้กระทำให้กล่าวหาได้)

โดยข้อเท็จจริง ค่า goodwill นั้น ฝั่งคนขายคือ ตาต้ากรุ๊ป น่าจะเป็นคนจ่ายต่างหาก ชดเชยที่ SSI ซื้อมาขาดทุนทุกปีจนต้องปิดโรงงาน

ที่ ผอ.ธวัชชัย เปิดแง้มมา แสดงว่า ได้เข้าไปเจาะใจกลางปัญหาทีเดียว เพียงแต่ว่า เมื่อเจาะแล้ว จะกล้าเปิดเผยต่อมากน้อยแค่ไหน

ถ้าไม่เปิด คนที่เคยลืม จะยิ่งกลับมาคิดใหม่ว่า ใครช่วยใคร ในการจ่าย ค่า goodwill เพราะเรื่องนี้ คนที่ไม่ได้กินแกลบในวงการ เขาย่อมเดาไม่ยาก และตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ออกมาแก้ตัวทำไม หากไม่มีนอกมีใน  

แล้วถ้ายังไม่ยอมเปิดอีก เสี่ยวินสมควรต้องส่งช่อดอกไม้ใหญ่สุด ไปขอบพระคุณ ผอ.ธวัชชัย ด่วนที่สุด

Back to top button