หมดยุคใส่ ‘สูท’
M&S บริษัทค้าปลีกข้ามชาติของอังกฤษประกาศว่าจะไม่ขาย “สูทผู้ชาย” ในร้านค้ากว่า 100 สาขาอีกต่อไป เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
มีข่าวเล็ก ๆ แต่ชวนให้ต้องเปิดอ่านเมื่อ มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ (M&S) บริษัทค้าปลีกข้ามชาติของอังกฤษประกาศว่าจะไม่ขาย “สูทผู้ชาย” ในร้านค้ากว่า 100 สาขาอีกต่อไป เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เทรนด์การสวมใส่สูทลดลง แต่เทรนด์ “เสื้อลำลอง” เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น
จากนี้ไป เอ็มแอนด์เอสจะขายสูทผู้ชายเฉพาะในร้านใหญ่ ๆ เพียง 110 สาขาเท่านั้น จากที่มีสาขาใหญ่ ๆ ราว 254 สาขา บริษัทให้เหตุผลในการเลิกขายสูทว่า ผู้ชายได้เปลี่ยนไปชอบใส่เสื้อผ้าที่ไม่เข้าชุดกันมากขึ้น ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว แต่โควิดได้เร่งให้เทรนด์ในการสวมเสื้อผ้าแบบลำลอง โตเร็วขึ้น
ข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาดที่ชื่อว่า คันตาร์ กรุ๊ป ชี้ว่า ยอดขายสูทผู้ชายในอังกฤษได้ลดลงประมาณ 2.3 ล้านชุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ผู้ชายซื้อสูทเพียง 2 ล้านชุด เทียบกับที่ซื้อ 4.3 ล้านชุดในช่วงเดียวกันของปี 2560
ยอดขายสูทผู้ชายของเอ็มแอนด์เอสได้ลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 โดยลดลงประมาณ 7% แต่ในช่วงสองเดือนแรกที่โควิดระบาด ซึ่งคนทำงานอยู่กับบ้านมากขึ้น มียอดขายสูทเพียง 7,500 ชุด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 80%
ในทางกลับกัน ยอดขายกางเกงขาสั้นและกางเกงออกกำลังกาย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการระบาด จนบริษัทต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าจะมีความต้องการสูทมากขึ้นหลังมีการคลายมาตรการควบคุมโควิดและมีการอนุญาตให้จัดงานแต่งงานได้ แต่ในขณะนี้เอ็มแอนด์เอสก็ยังหันมาเน้น “Smartwear” มากขึ้น หรือ เสื้อผ้าที่แยกกันใส่ได้ ง่ายต่อการสวมใส่ และมีสไตล์ที่สามารถใส่ได้ในหลาย ๆ แบบและหลายโอกาส
ข้อมูลของ คันตาร์ ชี้ว่า การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของสูทผู้ชาย ลดลงเช่นกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยจากที่มีมูลค่า 534 ล้านปอนด์ ในปี 2554 เหลือ 469 ล้านปอนด์ใน 5 ปีต่อมา และลดลงเหลือเพียง 159 ล้านปอนด์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ถึง กรกฎาคม ปีนี้
ยอดขายไม่ได้ลดลงแต่เฉพาะสูทผู้ชาย สูทผู้หญิงก็ลดลงเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าไม่ชัดเจนเท่ากับสูทผู้ชาย โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ผู้หญิงซื้อสูท 500,000 ชุด เทียบกับที่ซื้อ 600,000 ชุดในปี 2560
วัฒนธรรมการแต่งชุดสูทมีมานานเมื่อ 400 ปีที่แล้ว เดิมทีเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงและขุนนางในศาลสูงของฝรั่งเศส โดยมีเสื้อตัวนอกยาวลงมาถึงเข่า ประดับตกแต่งด้วยอัญมณี ปลายแขนเสื้อกว้าง ต่อมาได้ใช้เป็นเครื่องแบบของขุนนางในศาลอังกฤษ ในยุคพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จนกระทั่งถึงยุครีเจนซี่ของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 จอร์จ ไบรอัน “โบ” บรัมเมลล์ ได้บุกเบิกและปรับชุดสูทให้ดูทันสมัยมากขึ้น
ชุดสูทเริ่มฟู่ฟ่ามากขึ้นในยุคแจ๊ส ซึ่งเป็นช่วงที่มีการอวดความร่ำรวยของเศรษฐีใหม่ในอเมริกา แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำผ้าขนสัตว์ และผ้าทวีดไปตัดเครื่องแบบทหารจนผ้าขาดตลาด ผู้ชายในยุคนั้นจึงหันไปใส่ชุดสูทผ้าเรยอน หรือใยสังเคราะห์แทน และจากที่เคยใส่ชุดสูทที่มีสามชิ้น ก็ถูกลดเหลือเพียงแค่สองชิ้นเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในยุคนั้น
เมื่อสงครามผ่านพ้นไป ชุดสูทก็กลับมามีบทบาทมากขึ้น โดยนิยมสูทโทนสีเข้มใส่คู่กับเชิ้ตขาว เนกไทสีเข้ม ในยุคนี้ เอลวิส เพรสลีย์ ได้ฉีกกฎด้วยการใส่แจ็กเก็ตสูทตัวโคร่งคู่กับเชิ้ตโปโลและกางเกงเอวปกติ
แฟชั่นชุดสูทได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงยุคมิลเลนเนียล ทางเลือกในการสวมชุดสูทของผู้ชายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ชุดสูทที่เคยหลวมโคร่ง ถูกปรับแต่งใหม่ให้เข้ารูปมากขึ้น และบางครั้งเสื้อกับกางเกงไม่เป็นสีเดียวกัน แถมยังมีการแหกกฎโดยใส่สูทกับรองเท้าสนีกเกอร์ด้วย
แนวโน้มในการแต่งกาย หลังการระบาดของโควิดกำลังชี้ว่า วัฒนธรรมการใส่สูทกำลังจะหมดยุคแล้ว จากที่มันเคยเป็นสัญลักษณ์ของผู้ดีและคนมีฐานะ มันกำลังกลายเป็นแฟชั่นที่ล้าสมัย และไม่เป็นที่ต้องการของคนยุคใหม่ที่ชอบเน้นความสบายและคล่องตัว มากกว่าการแต่งกายตามมารยาททางสังคม
ในอดีตใครลองใส่กางเกงลำลอง เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ต ไปเฉียดแถวล็อบบี้โรงแรมหรือร้านอาหารหรู ๆ ก็จะรู้สึกได้ถึง “รังสีแห่งการดูหมิ่นดูแคลน” ดังนั้น จะว่าไปแล้ว โควิดก็มีข้อดีเหมือนกัน โดยในกรณีของชุดสูท อย่างน้อยมันก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการแต่งกายและการเข้าสังคม ซึ่งช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ๆ และเรียบง่ายมากขึ้น ไม่ต้องทนร้อน และอึดอัดเหมือนยุคก่อน