‘จีน’ ปริวรรตการทำงาน-เรียน-เกม
“รัฐบาลจีน” มีการเผยแพร่เอกสารเชิงวิจารณ์ต่อบริษัทหลายแห่งในจีน ที่กำลังมีวัฒนธรรมองค์กร “ทำงานนานเกินเวลา” ที่เรียกกันว่า “996”
“รัฐบาลจีน” โดยศาลฎีกาและกระทรวงความปลอดภัยทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ มีการเผยแพร่เอกสารเชิงวิจารณ์ต่อบริษัทหลายแห่งในจีน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี การรับ-ส่งพัสดุ ธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ ที่กำลังมีวัฒนธรรมองค์กร “ทำงานนานเกินเวลา” ที่เรียกกันว่า “996”
นิยามของ 996 คือ การทำงานตั้งแต่ 09.00-21.00 น. โดย 9 ตัวแรกคือ 9 โมงเช้า ส่วน 9 ตัวที่ 2 คือ 3 ทุ่ม เข็มสั้นชี้ที่เลข 9 และเลข 6 คือ ทำงาน 6 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์..นั่นเอง
สำหรับรูปแบบการทำงานลักษณะ “996” ดังกล่าว กำลังเป็นที่นิยมปฏิบัติในบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน แต่ฝ่ายรัฐบาลจีน ระบุว่า เป็นการละเมิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ทำให้บริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง TikTok และกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) เจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซใหญ่สุดของโลก ประกาศ “ยกเลิกนโยบาย 996” ไปเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เป็นการใช้แรงงานคนราวกับเครื่องจักร ขาดจิตสำนึกถึงความปลอดภัยในชีวิตของพนักงาน และเคยมีกรณีพนักงานเสียชีวิต เพราะการทำงานแบบ 996 มาแล้วหลายรายด้วยกัน
ที่สำคัญ “การทำงานแบบ 996” กำลังขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศจีนตามแนวทางสังคมนิยมสมัยใหม่ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญกับคน ในฐานะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาความมั่งคั่ง หรือ ประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องได้รับร่วมกันอย่างเท่าเทียม
โดยตามกฎหมายของจีน ชั่วโมงการทำงานมาตรฐานคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการจะให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ต้องคำนึงหลาย ๆ ปัจจัยโดยเฉพาะ “สุขภาพกายและใจ” อย่างกรณีบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง มีการไล่พนักงานออก เพียงเพราะปฏิเสธทำงานล่วงเวลา ทำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตัดสินให้บริษัทเป็นฝ่ายผิด เพราะกระทำการละเมิดกฎหมาย และต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานดังกล่าว
นอกจากการปริวรรต “วัฒนธรรมการทำงาน” แล้ว รัฐบาลจีนมีการปริวรรต “วัฒนธรรมการเรียนและการเล่นเกม” ของเยาวชนจีนด้วยเช่นกัน
ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนออก 2 มาตรการใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจของเยาวชน 1) มาตรการ “ไม่ให้มีการสอบข้อเขียนสำหรับนักเรียนวัย 6-7 ขวบ” โดยกระทรวงศึกษาธิการจีน มีมาตรการใหม่ “ไม่ให้มีการสอบข้อเขียน” สำหรับนักเรียนวัย 6-7 ขวบ (ประมาณประถมปีที่ 1-ประถมปีที่ 2)
มาตรการนี้ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ต่อเนื่องจากมาตรการห้ามโรงเรียนกวดวิชาแสวงหากำไร และห้ามสอนวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่ผ่านมาธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาของจีนมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณกว่า 3.3 ล้านล้านบาท) และการศึกษาในจีน มีการแข่งขันสูงมาก โดยพบว่า ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลาง ต้องยอมจ่ายเงินปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท เพื่อส่งลูกเรียนกวดวิชา เพื่อปูทางเข้าสู่โรงเรียนชั้นนำต่อไป
2) มาตรการ “อนุญาตให้เด็กเล่นเกมออนไลน์ เพียงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 1 ชั่วโมง” โดยสำนักบริหารสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติจีนออกมาตรการป้องกันเยาวชนติดเกมออนไลน์ โดยผู้ให้บริการเกมออนไลน์สามารถให้บริการแก่เยาวชนได้เฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 1 ชั่วโมง คือ ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. เท่านั้น
วิธีการลงทะเบียนเข้าเล่นเกมต้องล็อกอินด้วย “ชื่อ-สกุลจริง” ผู้ให้บริการเกมออนไลน์จะต้องเข้มงวด ไม่ให้บริการเกมกรณีผู้ไม่ได้ล็อกอินด้วยตัวตนจริง และบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ส่วนบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกตรวจสอบและมีบทลงโทษทันที
ขณะที่จีนมีการปริวรรตทั้ง “การทำงาน-ลดเหลื่อมล้ำเรื่องการเรียน-ตีกรอบเกมออนไลน์” เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ “การปฏิรูป” ของไทยที่พร่ำเพ้อเป็นแผ่นเสียงตกร่องมากว่าหลายทศวรรษ..ดูเหมือน “ย่ำอยู่กับที่” กันอยู่เลย..!!