39 ปีไม่ไปไหนเลยทายท้าวิชามาร
39 ปีเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เวียนมาในวาระที่ประเทศนี้ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ไม่ต่างจากยุคสฤษดิ์ ถนอมหรือรัฐบาลหอย ซึ่งกำลังตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง สภาขับเคลื่อน “ปฏิรูป” กันอีกครั้ง โดยไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ว่า 21 คน 200 คน ก็อยู่ในทัศนะเดิมๆ ไม่แตกต่างหรืออาจถอยหลังกว่า 36 คน 250 คนซ้ำไป
39 ปีเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เวียนมาในวาระที่ประเทศนี้ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ไม่ต่างจากยุคสฤษดิ์ ถนอมหรือรัฐบาลหอย ซึ่งกำลังตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง สภาขับเคลื่อน “ปฏิรูป” กันอีกครั้ง โดยไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ว่า 21 คน 200 คน ก็อยู่ในทัศนะเดิมๆ ไม่แตกต่างหรืออาจถอยหลังกว่า 36 คน 250 คนซ้ำไป
ขำๆ นะครับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เป็น สนช.ครั้งแรกก็ปี 2520 หลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลา 2519 ประกาศ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 12 ปี” แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ถูกโค่น รอบนี้เราก็จะ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยตอนแรกวางโรดแมปแค่ปีกว่า แต่หาทางลงไม่ได้ต้องยืดเวลาไปตามสูตร 6-4-6-4 ซึ่งเริ่มนับจากวันที่ 5 ตุลานี่เอง ไปๆ มาๆ คสช.กลายเป็นคณะรัฐประหารที่จะอยู่นานที่สุดนับแต่ยุคสฤษดิ์กึ่งพุทธกาลา
สังคมไทยเป็นอะไร ถึงถอยหลังไปนานขนาดนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องของทหารโดยลำพัง แต่คนในสังคมโดยเฉพาะ “คนชั้นกลางมีการศึกษา” ยินยอมพร้อมใจ ไม่เอาประชาธิปไตยไม่อยากกลับสู่เลือกตั้ง
ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวในงานรำลึก 6 ตุลาว่า 39 ปี สังคมไทยไม่ได้ก้าวไปไหน ผมอยากบอกว่าบางอย่างก้าวไปข้างหน้าแต่บางอย่างล้าหลังกว่าเดิมด้วยซ้ำ คนไทยมีเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน 3G 4G แต่กลายเป็นเครื่องมือปลุกความเกลียดชังทางการเมืองอย่างไร้สติ พอๆ กับเป็นเครื่องมือขายความเชื่อ เช็กดวง ทำนายราศี หรือเห่อกินนั่นกินนี่เชื่อว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยไม่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ไปจนกระทั่งเห่อดารา บ้าละครหลังข่าว
หรือยกตัวอย่างการศึกษา ผมส่งลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาล ยังปกครองแบบโบราณไม่ต่างจากสมัยผมนุ่งขาสั้น ขณะที่คุณภาพและความรับผิดชอบของครูต่ำกว่า
อย่าแปลกใจเลยว่าศักยภาพในการแข่งขันของคนไทยแย่ลงทุกด้าน ไม่ว่าสติปัญญาความสามารถ หรือวินัยในการทำงานการใช้ชีวิต คนไทยไม่มีวินัย เพราะสังคมไทยไม่เคยยึดหลัก สังคมไทยเอาอำนาจเป็นใหญ่ ใครมีอำนาจคนนั้นถูกต้อง ใครมีอำนาจคนนั้นคือความยุติธรรม
6 ตุลาคือประจักษ์หลักหมุดว่าอำนาจเหนือความยุติธรรม สังคมไทยมักก้าวผ่านวิกฤตด้วยการเกี้ยเซียะประนีประนอมและทิ้งคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมไว้เบื้องหลัง ตั้งแต่ 6 ตุลา พฤษภา 35 มาถึงพฤษภา 53 (ซึ่งกระทั่งพรรคเพื่อไทยเองก็จะนิรโทษกรรม)
ใช่ ยุคสมัยก่อนหน้านั้นก็มีความอยุติธรรม แต่สังคมปัจจุบันไม่สามารถเดินหน้าสู่อารยะ ถ้าปราศจากการ “จัดระเบียบ” ซึ่งก็คือเคารพหลักนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เป็นหลักประกันของการอยู่ร่วมกัน
“ประชาธิปไตยฝรั่ง” เข้มแข็งเพราะอย่างนี้ คือ “นิติรัฐ” คือการยืนหยัดแสวงหาความยุติธรรมความเท่าเทียมโดยไม่เกี้ยเซียะ ต่างจากวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมเอเชีย ที่มีผู้น้อยผู้ใหญ่มีอะไรก็หยวนยอมลูบหน้าปะจมูก
39 ปีผ่านไป สังคมไทยไม่เพียงเกลียดชังกันมากกว่าและกว้างขวางกว่า แต่คนมีการศึกษากลับถอยหลัง “ไม่เอาประชาธิปไตย” ซึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง หัวใจของประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพ คือการเปิดกว้างให้ทุกคนคิดค้นสร้างสรรค์วิพากษ์วิจารณ์โดยขณะเดียวกันก็เคารพความเห็นต่าง ซึ่งสำคัญยิ่งในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปกว้างไกล ไม่มีใครผูกขาด “ซิงเกิ้ล” ความคิดได้
ถ้ายังไม่ก้าวไปไหน ยังเป็นอย่างที่เห็นอยู่ ก็ส่งผลทุกด้านไม่ว่าการเมืองการศึกษาวิถีชีวิต ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ใบตองแห้ง