เศรษฐกิจในโลกโกรธ
การเมืองไม่มีผลต่อหุ้นไทย ตลกร้ายกว่านั้น กรณี กัลฟ์-อินทัช-ไทยคม ถูกพรรคก้าวไกลยกไปถล่มรัฐมนตรีดีอีเอสแต่ราคาหุ้นกัลฟ์กลับพุ่งไม่หยุด
การเมืองไม่มีผลต่อหุ้นไทย ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจดุเดือดแค่ไหน รัฐบาลมีข่าวแตกร้าวภายใน หุ้นไทยก็ยังขึ้น ตลกร้ายกว่านั้น กรณี กัลฟ์-อินทัช-ไทยคม ถูกพรรคก้าวไกลยกไปถล่มรัฐมนตรีดีอีเอส ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ราคาหุ้นกัลฟ์กลับพุ่งไม่หยุด
พูดอีกก็ถูกอีก เพราะหุ้นเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ระยะกลาง ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าถามว่าการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจไหม รัฐบาลล้มเหลวในการรับมือโควิดทำเศรษฐกิจฉิบหายไปเท่าไหร่ ทุกคนก็รู้แก่ใจ เพียงแต่ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น เอาตัวรอดได้
กระนั้น ในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็รู้กันอีกละว่า รัฐล้าหลังไร้ประสิทธิภาพกดทับความเติบโต เช่นที่เกียรตินาคินภัทรชี้ว่า โลกไม่สนใจไทยอีกต่อไป ส่งออกไม่ดี ไร้เทคโนโลยีชั้นสูง ได้แค่รับจ้างผลิต ต่างชาติเข้ามาลงทุนลดลง บริษัทไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ปัญหาการเมืองที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อไป แม้ไม่ทันทีทันใด คือไม่ใช่การเมืองเรื่องเปลี่ยนรัฐบาล แบบรัฐบาลไหนมาก็เหมือนกัน แต่มันจะมีความเป็นการเมืองมวลชนมากขึ้น ซ้ำยังเป็นมวลชนที่โกรธแค้น ทั้งโกรธรัฐราชการ ทหาร ตำรวจ ศาล และโกรธความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งโควิดยิ่งทำให้เลวร้าย คนจน คนตกงานเต็มไปหมด คนทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ยิ่งจมกองหนี้ ชีวิตยิ่งล้มละลาย
ความโกรธนี้ปะทุให้เห็นแล้วจากกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” วัยรุ่นมอเตอร์ไซค์ รวมตัวกันปะทะ คฝ.ที่ดินแดงโดยไม่มีแกนนำ ซึ่งเท่าที่สื่อไปสัมภาษณ์ มาจากความโกรธรัฐบาล ความไม่พอใจตำรวจที่สั่งสมมา กับปัญหาเศรษฐกิจที่ครอบครัวต้องเผชิญ
ความโกรธของคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ที่ปะทุเป็นม็อบสามนิ้วก็คล้ายกัน ไม่ใช่แค่ไม่พอใจอำนาจชนชั้นนำ แต่ทางเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่ก็มองไม่เห็นอนาคตในโลก disruption ภายใต้อำนาจล้าหลัง
ความโกรธนี้จะพุ่งสู่กลุ่มธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกโยงกับอำนาจ เช่นซีพีที่ต้องเพียรชี้แจงว่า ไม่เกี่ยวกับการนำเข้าซิโนแวค แต่ก็ถูกถล่มหนักเรื่องซื้อแมคโครโดย กขค.ไม่มีความหมาย กัลฟ์ ถูกโยงเข้ากับเครือข่ายป่ารอยต่อ ความสัมพันธ์กับชัยวุฒิ (ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ถูกยี้อันดับต้น ๆ) แม้พยายามบอกว่า ตอนรัฐประหาร 57 สารัชถ์ รัตนาวะดี ก็ถูก คสช.เรียกรายงานตัว หรือบอกว่า กัลฟ์ชนะประมูลโรงไฟฟ้ายุคยิ่งลักษณ์ แล้วถูก คสช.สกัด จนฟ้องศาลปกครองชนะ
แต่ก็นั่นละ ความไม่พอใจจะพุ่งไปสู่ธุรกิจที่ถูกมองว่าผูกขาด “กินรวบ” ทุกกลุ่มไม่ว่าอยู่ข้างไหน มันไม่ใช่การเมืองยุคที่พรรคฝ่ายค้านเปลี่ยนเป็นรัฐบาลแล้วหันมาจับมือกลุ่มธุรกิจบอกว่า “จบนะ” นักการเมืองจบ มวลชนไม่จบ
นี่เป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจพึงตระหนัก ทำความเข้าใจ การไล่ฟ้องไม่ทำให้ดีขึ้น มีแต่ทำให้คนยิ่งโกรธ การทำ PR CSR ก็แหกตาคนไม่ได้ แบบทุนผูกขาดชูป้ายต้านคอร์รัปชั่น ยิ่งทั้งหัวร่อ ทั้งสังเวชเหมือนพูดหยุดโกง
อันที่จริงนี่เป็นกระแสโลก ความโกรธ ความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำล้นหลามไปหมด โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจวิบัติ เช่นหลังวิกฤตซับไพรม์ก็เกิด Occupied Wall Street
วิกฤตโควิดยิ่งสาหัสกว่า แม้อเมริกาอัดฉีดเต็มที่ ไบเดนชนะเลือกตั้งประกาศนโยบายแข่งขันเป็นธรรม ลดการผูกขาดธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แต่ทำอะไรไม่ได้มาก สี จิ้นผิงฟันฉับเสียก่อน แม้รู้ว่านั่นมันเผด็จการ “นิวเหมาเจ๋อตง” อาจทำให้ฉิบหาย แต่คนจำนวนไม่น้อยก็สะใจและมองว่าน่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลิบลิ่ว
ยังมองไม่ออกหรอกว่าความโกรธในโลกยุคนี้จะนำไปสู่อะไร รู้แต่ว่ามันแรงขึ้น ๆ และพึงระวังไว้