พาราสาวะถี

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จึงยิ่งต้องกระตุ้นยอดขายกันหนักหน่วง ซึ่งมันสวนทางกับการบริหารงานของรัฐบาลที่ประกาศนำพาประเทศและประชาชนก้าวไปข้างหน้า


วันที่ 9 เดือน 9 คนที่มีความเชื่อในแต่ละด้านก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป ส่วนโลกธุรกิจก็คลอดแคมเปญกันอุตลุด ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้จึงยิ่งต้องกระตุ้นยอดขายกันหนักหน่วง ซึ่งมันสวนทางกับการบริหารงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ประกาศนำพาประเทศและประชาชนก้าวไปข้างหน้า ทว่าผ่านมากว่า 7 ปี ด้วยเหตุที่มีโควิด-19 จึงถูกยกขึ้นมาอ้างว่าทำให้ทุกอย่างติดขัดขยับไปไหนไม่ได้ เป้าหมายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงย่ำอยู่กับที่

ประสาคนชอบแก้ไขอ้างสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างติดขัดไปทั้งหมด ทุกครั้งบนวิกฤติหากเป็นนักบริหารมืออาชีพจะถือเป็นโอกาส เพราะนี่จะเป็นจุดพิสูจน์ความสามารถในการบริหาร ทว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะนอกจากจะทำการแจกแหลกด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับประชาชน ยังไม่เห็นทิศทางว่าระหว่างที่สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้เราจะเดินกันแบบไหนและคนในชาติจะมีความหวังได้อย่างไร

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย หลังจากกรณีตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครมาแล้ว ความน่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หดหายลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงกรณีของวัคซีน ดังนั้น วันนี้มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศทำตามคือมาตรการแบบครอบจักรวาล ก็เป็นเพียงแอ็คชั่นที่ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่อยู่รอบตัวเราและต้องป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่

แต่คนโดยทั่วไปก็ตั้งคำถามกลับไปเหมือนกัน ที่ผ่านมาประชาชนการ์ดตก ไม่ระมัดระวังกันอย่างนั้นหรือ คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดมาจากอะไรหากไม่ตอแหลหรือปัดสวะให้พ้นตัวต้องยอมรับความเป็นจริง เวลานี้สิ่งที่ต้องช่วยกันจับตามองคือการส่งสัญญาณที่จะเลิกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วหันไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณาแทน

เหตุผลสำคัญไม่ใช่เพราะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่อยากถูกครหาว่ารวบอำนาจแล้วแก้ไขปัญหาไม่ได้ หากแต่ปัจจัยอยู่ที่เนื้อหาของร่างกฎหมายที่จะมีการแก้ไขนั้น นอกจากการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในการประสานหรือสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเหมือนกรณีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มันจะเป็นเรื่องเฉพาะมากขึ้นที่เกี่ยวกับโรคระบาดรุนแรงหรือโรคอุบัติใหม่โดยตรง สิ่งสำคัญคือในข้อกฎหมายฉบับนี้จะมีความคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในการรับมือกับโรคระบาดด้วย

โดยเฉพาะโควิด-19 ที่จะต้องรอดูว่าเนื้อหากฎหมายที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยกฤษฎีกานั้น จะเป็นไปอย่างที่มีข้อกังวลกันหรือไม่ว่าจะนิรโทษกรรมให้กับความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจเนื่องจากทำงานเต็มที่กรณีของผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงพวกหน้าด้านที่บริหารงานในเชิงนโยบายผิดพลาด แล้วเกรงว่าตัวเองจะถูกเล่นงานภายหลัง จึงต้องใช้สูตรสำเร็จเหมือนที่เผด็จการสืบทอดอำนาจทำมาแล้วคือยกเว้นความผิดของตัวเองไปเสีย

อย่างไรก็ตาม การเตรียมการใช้กฎหมายใหม่ไม่ได้มีแค่ผลพลอยได้ที่วางกันไว้ดังว่าเท่านั้น หากแต่ยังจะเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะรองรับการเปิดประเทศตามที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศไว้ภายใน 120 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้พอดี และจังหวะดังกล่าวก็จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ บนความหวังที่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หรือไม่ก็อ้างว่ามาตรการควบคุมที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอนั้นเอาอยู่

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าทุกครั้งที่มีการก่อนคลายหรือเตรียมการที่จะดำเนินการในเรื่องที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับคืนมา มักจะเกิดเหตุการณ์การระบาดแบบไม่คาดฝันทุกรอบ หนนี้ก็เช่นเดียวกัน ฟังจากสิ่งที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงไว้วันก่อนเรื่องตัวเลขที่ลดลงเป็นการ ”กินบุญเก่า” จากผลของมาตรการที่เคร่งครัดและการร่วมมือของประชาชนสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สองสัปดาห์หลังจากนี้ที่มีการผ่อนคลายมาตรการต้องดูตัวเลขว่าเป็นอย่างไร

โดยที่โฆษกศบค.พูดถึงยอดผู้ติดเชื้อหลัก 3 หมื่นคนต่อวัน ตรงนี้หากประชาชนยังระวังตัวเองกันอย่างเต็มที่ ประกอบกับมาตรการเชิงรุกของภาครัฐไม่ได้ย่อหย่อนก็เชื่อว่าคงจะเป็นเช่นนั้นยาก เว้นเสียแต่จะมีการปล่อยปละละเลยในบางกิจกรรมกิจการ กรณีของแคมป์คนงานหรือแม้แต่สถานประกอบการที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก ถ้าไม่เข้มงวดเหมือนที่ผ่านมา ก็มีโอกาสที่จะพบคลัสเตอร์ใหม่และกลายเป็นจุดตั้งต้นของการแพร่ระบาดอีกได้

มีตัวอย่างให้เห็นแล้วที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ดำเนินการยุทธศาสตร์ “โควิด ซีโร่” ด้วยการกวาดล้างให้สิ้นซาก ใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งการบังคับเว้นระยะห่างทางสังคม ปิดร้านอาหาร และปิดพรมแดน ก่อนที่จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และคอยจับตาศักยภาพการรับมือของระบบสาธารณสุขมากกว่าการใช้มาตรการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

ทั้ง ๆ ที่สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนบุคคลที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูงที่สุดในโลกถึงกว่าร้อยละ 80 แต่การระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ ทำให้ทางการสิงคโปร์ต้องออกมาประกาศว่าการผ่อนปรนมาตรการไม่สามารถทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ส่งผลให้มีผู้ป่วยไอซียูมากขึ้นรวดเร็ว ก็อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยกระดับมาตรการสกัดกั้นการระบาดที่ต้องกลับมาคุมเข้มกันเหมือนเดิม แล้วประเทศไทยที่การฉีดวัคซีนครบสองเข็มยังเพิ่งเกิน 10 ล้านคนนิดเดียวจะหวังอะไรได้ หมอการเมืองทั้งหลายต้องเลิกโกหกประชาชนและพูดความจริงได้แล้ว

Back to top button