พาราสาวะถี

ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ชัดเจนว่าเป็นผลพวงมาจากช่วงซักฟอกที่ผ่านมา


ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตกใจอะไรทั้งสิ้นต่อการที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ชัดเจนว่าเป็นผลพวงมาจากการเคลื่อนไหวโหวตคว่ำผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในช่วงซักฟอกที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า มีคำถามตามมาการพ้นจากเก้าอี้ครั้งนี้เป็นการ “ปลด” หรือ “ลาออก” เพราะก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น ธรรมนัสมีการแถลงยื่นใบลาออกที่รัฐสภา

น่าสังเกตก็คือ ในการแถลงของธรรมนัสบอกว่าหนังสือลาออกจะต้องยื่นเมื่อวานนี้ แต่ฝ่ายเลขาฯ  เข้าใจผิดนั่นหมายความว่ายังไม่ได้ยื่น แม้จะมีการลงนามลาออกในวันที่ 8 กันยายน แต่มาแถลงข่าว 9 กันยายนว่าจะยื่นในวันดังกล่าว ขณะที่การรับสนองพระบรมราชโองการของนายกรัฐมนตรีที่ให้รัฐมนตรีทั้งสองรายพ้นจากตำแหน่งนั้น ประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2564 หมายความว่ามีการชงปลดรัฐมนตรีทั้งคู่ ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวไปแล้ว

ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ชัดเจนจากถ้อยแถลงของธรรมนัสไม่ใช่เฉพาะแค่การอยู่ร่วมรัฐบาลไม่ได้เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการไม่สามารถอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับพรรคสืบทอดอำนาจต่อไปได้อีกด้วย สิ่งที่เจ้าตัวประกาศออกจากปากมานั้นยืนยันว่าคับที่อยู่ได้แต่คับใจอยู่ยาก บอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า โหวตไว้วางใจจบแต่ปัญหาความไม่ลงรอยกันนั้นไม่มีทางจบด้วยดี ท่วงทำนองที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพี่รองจากแก๊ง 3 ป.ที่แสดงออกต่อธรรมนัสในวันประชุม ครม.นั้นคือตัวชี้วัดชัดเจน

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาช่วยงานทางการเมืองในพรรคสืบทอดอำนาจของธรรมนัสนั้น เนื่องจากการถูกกลไกบังคับจำยอมตั้งแต่ยุคเผด็จการ คสช.  หรือพูดง่าย ๆ ว่าตั้งแต่พรรคเพื่อการอยู่ยาวยังไม่ถือกำเนิดเสียด้วยซ้ำ เมื่อถูกบีบให้ต้องเดินเส้นทางนี้โดยมีหลักประกันว่าถ้าสามารถรวบรวมกำลังพลส.ส.ได้ตามเป้าหลังเลือกตั้งจะมีการปูนบำเหน็จกันอย่างเต็มที่ จึงเป็นที่มาของเก้าอี้ที่เจ้าตัวได้นั่งอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้จะถูกฝ่ายค้านตรวจสอบอย่างหนักหน่วงก็ตาม

ทว่าทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยากได้อย่างไรแล้วต้องเป็นไปตามนั้น เพราะมันจะทำให้  ส.ส.ที่ยอมมาอยู่ภายใต้อาณัติเชื่อฟังได้แค่หนเดียว ในระยะยาวหรือการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าไม่รักษาน้ำใจไมตรีต่อกันไว้ คนเหล่านั้นก็จะแปรพักตร์ไปอยู่กับคนที่มองเห็นค่าหรือให้ราคามากกว่า ดังนั้น ด้วยโจทย์ข้อนี้จึงเป็นที่มาของฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องตัดญาติขาดมิตรกัน เมื่อธรรมนัสกล้าที่จะประกาศขอเก้าอี้มท.1จากพี่รองของแก๊ง 3 ป.ทั้งที่รู้อยู่ว่าแตะไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น การเคลื่อนไหวเรื่องโหวตสวนถือเป็นปมที่สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ถึงขั้นประกาศกางวงของ 3 พี่น้อง “อย่างนี้ก็ปล่อยไว้ไม่ได้ อย่ามาอยู่ร่วมกันอีกเลย” เพียงแต่ว่าบริบทก่อนวันลงมติ จำเป็นต้องเดินตามสิ่งที่พี่ใหญ่กำกับบท มิเช่นนั้น อาจจะเกิดการแปรเปลี่ยนในช่วงข้ามคืนได้ ประกอบกับไม่ใช่แค่การตกอยู่ในภาวะจำยอมชั่วคราว หากแต่ยังต้องมีการแจกกระสุนเพื่อการันตีความปลอดภัยให้กับเก้าอี้ของตัวเองด้วย

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่ม 4 ช.จึงถูกเขี่ยแค่ธรรมนัสกับนฤมล เพราะ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังนั้นกระโดดหนีเอาตัวรอดไปก่อนหน้านั้น กับข่าวที่ดอดเข้าพบผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจภายในห้องพักที่อาคารรัฐสภา พร้อม ๆ กับ วิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาล ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยคมนาคมไม่ถูกลูกหลงไปด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่มีพ่อเท่านั้นที่คอยอุ้ม แต่คนต่างพรรคแต่ร่วมรัฐบาลเดียวกันจากภูมิใจไทยก็ให้การรับรองด้วย

ในส่วนของธรรมนัสนั้นประสานักเลงพูดตรงไปตรงมา เมื่อย้ำว่าหลังซักฟอกทุกอย่าง “ไม่จบ” แม้จะบอกว่าตัวเองไม่สบายใจ ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำไป ซึ่งน่าขีดเส้นใต้ประโยคต่อมาที่ว่า เมื่อพูดด้วยเหตุและผลแล้วไม่เกิดประโยชน์ ก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ต้องรอดูว่าอีกฝ่ายจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร ที่แน่ ๆ เมื่อพ้นสภาพจากความเป็นรัฐมนตรีแล้วตำแหน่งแห่งหนหรือสถานะในพรรคสืบทอดอำนาจก็คงจะอยู่ยากเช่นกัน ชะตากรรมของกลุ่ม 4 ช.ก็ไม่ต่างอะไรกันกับแก๊ง 4 กุมารก่อนหน้านั้น

เพียงแต่ว่ากรณีของกลุ่มหลังมีปัญหาเรื่องการทำงานไม่เป็นไปตามเป้า จากความหวังที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้รับคำชมกลับถูกถล่มเละ ประกอบกับการเมืองภายในพรรคที่เล่นกันแรงจึงต้องพาพรรคพวกตัวเองออกไปให้พ้นจากวงโคจรดีกว่าถูกไล่แบบหมดท่า ขณะที่ปมของ 4 ช.มันมีที่มาทั้งจากไม่ได้อย่างที่หวังหรือตามที่ตกลงกันไว้ และเกิดเป็นแรงกระเพื่อมมาโดยตลอด โดยที่ฝ่ายเสี้ยมก็สุมไฟไม่หยุดหย่อนเช่นกัน นี่คือการเมืองที่ท่านผู้นำไม่อยากเจอแต่หนีไม่พ้นเพราะพฤติกรรมลูบหน้าปะจมูก

อย่างไรก็ตาม ผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ไม่ได้กระทบแค่เก้าอี้ของรัฐมนตรีสองรายที่ถูกเขี่ยให้พ้นเส้นทางเท่านั้น หากแต่ยังต้องจับตามองการประชุมรัฐสภาในวันนี้ด้วย ที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในวาระ 3 แม้ทางพี่ใหญ่ 3 ป.จะสั่งให้ ส.ส.ของพรรคโหวตผ่าน แต่เสียงชี้วัดสำคัญอยู่ที่ ส.ว.ลากตั้ง หากได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็มีอันจบเห่ งานนี้จึงอยู่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่าจะชี้นิ้วแบบไหน

ถ้าฟังจาก วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ล่าสุดต่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังจะโหวตด้วยประโยคที่ว่า “มันก็ไม่ได้สมบูรณ์นักอย่างที่เรารู้กันอยู่” น่าจะเห็นปลายทางว่ามีโอกาสถูกคว่ำสูง ซึ่งแน่นอนว่า ภาษาสวยหรูจาก ส.ว.ลากตั้งคือการแก้ไขไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน แต่เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้จากที่หวังจะแก้รองรับการเติบโตก็คงต้องใช้วิธีการแบบเดิม ได้ ส.ส.แบบเดิม ยืมมือ ส.ว.โหวตเลือกคนเดิมมาเป็นนายกฯ ส่วนพรรคการเมืองที่จะมาร่วมถือหางขบวนการสืบทอดอำนาจไม่ต้องห่วง รอรับส่วนบุญกันหน้าสลอนอยู่แล้ว

Back to top button