เงื่อนงำไทยคม
เป็นงง! จู่ ๆ ครม. ก็มีมติให้บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม หรือ THCOM จาก 41.13% เป็นไม่น้อยกว่า 51%
เป็นงง! จู่ ๆ ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีมติให้บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม หรือ THCOM จาก 41.13% เป็นไม่น้อยกว่า 51%
ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทคู่สัญญา (ชินคอร์ปในอดีต-อินทัชปัจจุบัน) มีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ
ภาษาราชการก็แบบนี้แหละ ต้องแปลไทยเป็นไทย และเขียนให้มันคลุมเครือเพื่อจะปกปิดอะไรบางอย่างที่ไม่อยากให้พูดถึงไว้ก่อน
นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า เกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
แสดงว่าเรื่องนี้ใหญ่มาก และนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ทั้งที่เป็นเรื่องผ่านมาแล้วถึง 30 ปี และเคยมีอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งต้อง “สังเวย” ติดคุกเรื่องนี้มาแล้ว
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมรัฐบาลให้ความสำคัญประเด็นให้อินทัชเพิ่มทุนอีก 10% ในไทยคมจัง มีอะไรสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
ในเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นไทยคมแค่ 41% ก็ยังบริหารงานได้สบาย ยิงดาวเทียมแต่ละลูกเป็นพันล้าน-หมื่นล้านมาตั้ง 7-8 ดวงแล้ว การบังคับให้เพิ่มทุนอีก 10% เพื่ออะไร
หากจะบอกว่า เพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง ก็คงดูประหลาดชอบกล เพราะดาวเทียมไทยคมน่ะ ตกอยู่ในกำมือเอกชนทั้งไทยและเทศมาตั้ง 30 ปี จนกระทั่งกลับมาอยู่ในกำมือบริษัทคนไทยอีกแล้ว ถ้าบอกว่าเสียหายด้านความมั่นคง ก็คงจะเสียจน “เยิน” แล้วล่ะ
มาวี๊ดว๊ายกระตู้วู้อะไรกันตอนนี้!
ผมไม่เห็นเหตุว่า ทำไมรัฐบาลต้องออกมติ ครม.พิสดารดังกล่าว ด้วยเหตุผลสนับสนุน 2 ประการครับ
หนึ่ง รัฐบาลเอาอำนาจอะไรไปบังคับให้บริษัทเอกชนเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้น และสอง สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมอายุ 30 ปี ก็จะหมดสัญญาลงในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้แล้ว
สัญญาที่สิ้นอายุก็คือสิ้นอายุ เรื่ื่องใดที่เป็นข้อผูกพันกันมา ก็สิ้นสุดสภาพบังคับตามไปด้วย รัฐบาลจะไปบังคับให้เอกชนปฏิบัติตามสัญญาที่สิ้นสุดไปแล้วได้อย่างไร!
ดูยังไง มติ ครม.ดังกล่าว ก็ไม่มีความสมเหตุสมผล ทำให้ผมนึกถึงปมเงื่อนบางประการที่เกิดขึ้นในช่วงอายุ 30 ปีของสัมปทานดาวเทียมไทยคม
เรื่องหนึ่งก็คือ การแก้ไขสัญญาสัมปทานปี 2547 ที่ บมจ.ชินคอร์ปขอแก้ไขให้ตนเอง ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงมาจากเดิมไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% เพื่อขยายพันธมิตรร่วมทุน จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานสมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เป็นรัฐมนตรีไอซีที
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และสั่งจำคุก นพ.สุรพงษ์และพวกฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ
เรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกามานานแล้ว ทำไมไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาคือ “เพิ่มทุน” เสีย มากระวีกระวาดเอาตอนจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันนี้วันพรุ่งอะไรกันเนี่ย
หรือกำลังจะหาผู้รับผิดเพิ่มกันอีก หรือเพื่อจะป้องกันตัวเองที่ละเว้นปฏิบัติในการบังคับให้มีการเพิ่มทุนกันล่ะ
เรื่องที่สองก็คือ คดีพิพาทระหว่าง บมจ.ไทยคมกับกระทรวงดีอีเอสและกสทช.ที่ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ไทยคมมีสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
คดีนี้ บมจ.ไทยคมอ้าง ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นการประกอบกิจการในระบบอนุญาตของ กสทช. แต่กระทรวงดีอีเอสอ้าง ยังเป็นกิจการในระบบสัมปทาน อันจะทำให้ บมจ.ไทยคมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายได้ทั้ง 2 ระบบ
รัฐบาลและกระทรวงดีอีเอสหวังผลอะไรทางคดีในเรื่องนี้หรือเปล่า
เรื่องที่ 3 ก็คือข้อมติรับรองดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่เคยถูกคำพิพากษาให้เป็นดาวเทียมเถื่อนมาเป็นดาวเทียมโดยชอบภายใต้สัญญา
นี่ก็น่าสงสัยในนัยแฝงเร้นกันอีก
อีกไม่นาน คงมีคำเฉลยเงื่อนงำพิลึกเร็ววันนี้