โจทย์เก่า & กสทช.ใหม่
กสทช. (ชุดรักษาการ) ต้องอยู่ทำหน้าที่ตามคำสั่งของ คสช. ที่มีคำสั่ง ม.44 ระงับกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่เอาไว้…คงอยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้
ล้มลุกคลุกคลานมา 5-6 ปี กับการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการล้มกระดานสรรหามาถึง 3 ครั้ง จนทำให้ กสทช. (ชุดรักษาการ) ที่หมดวาระลงตั้งแต่ปี 2558 ต้องอยู่ทำหน้าที่ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีคำสั่ง ม.44 ระงับกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่เอาไว้…คงอยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้
ล่าสุดคณะกรรมการสรรหา กสทช. ประกาศรายชื่อ 7 คน ที่ถูกคัดเลือกเป็น กสทช.ชุดใหม่ตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2564 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป
ประกอบด้วย 1) พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) 2) ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ด้านกิจการโทรทัศน์ 3) นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) 4) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) 5) นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) 6) รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) 7) ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ (ด้านกฎหมาย)
พร้อมเสียงวิพากษ์ต่าง ๆ นานา ถึงที่มาที่ไปของว่าที่ “7 อรหันต์ กสทช.” มาจากเส้นสาย-ร่างทรงใครหรือไม่ และหลายคนที่มีอันต้องตกคุณสมบัติอย่างน่าฉงน.!?
สำหรับโจทย์ใหญ่ของ กสทช.ชุดใหม่ มีหลายปัญหาด้านการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ กติกาการกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และโดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคม ที่รอการสะสาง เริ่มตั้งแต่การจัดระเบียบวิทยุและวิทยุชุมชน ทั้งคลื่นหลัก คลื่นรองที่เกิดขึ้นใหม่ร่วม 1,000 สถานี
ทำให้เราได้ยินเสียงกรอกหูจากโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ปุ๋ยหรือสารเคมี เครื่องรางของขลังเต็มบ้านเต็มเมือง ดูไม่ต่างอะไรจากกิจการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี ที่มีการออกอากาศอย่างไร้ทิศทางที่ชัดเจน
อีกเรื่องที่น่าสนใจ “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO)” ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.อัตรา 2.5% จนแต่ละปีมีรายได้กว่า 35,000-40,000 ล้านบาท
จนถูกติฉินว่าเป็นเงินก้อนโต..ที่สุ่มเสี่ยงถูกนำไปใช้อย่างไม่ชอบธรรมและผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้
ว่ากันว่า..กรรมการ กสทช.และกรรมการกองทุนฯ มีนโยบายให้คงอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวไว้เช่นเดิม พร้อมสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อหาเหตุแห่งการใช้งบกองทุน USO ดังกล่าวอีกด้วย
ขณะที่เรื่องกิจการ OTT (Over-The-Top TV) หรือบริการที่ให้เราสามารถรับชมภาพยนตร์, ซีรีย์, คอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยไม่มีการจัดระเบียบอย่างแท้จริง..
อีกไฮไลท์สำคัญคือ เรื่องใบอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่เกิดปรากฏการณ์ “เปิด-ยืด-ล้ม” กรณีการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ กสทช.ชุดรักษาการ เพิ่งประกาศล้มประมูลไปเมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังเปิดประมูล-ขยายเวลา แต่สุดท้ายล้มประมูลกันไปในที่สุด
เป็นไปได้ว่า..เหตุผลหนึ่งที่บอร์ด กสทช.ชุดรักษาการลงมติล้มประมูล คือจดหมายทักท้วงจาก “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ขอให้รอบอร์ด กสทช.ตัวจริง เข้ามาเป็นผู้จัดการประมูล น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะการให้ไลเซ่นส์ประกอบธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ย่อมกินเวลานานมากกว่า 15 ปี มีภาระผูกพันในประเด็นข้อกฎหมายตามมาอีกมากมาย.!!
นี่ยังไม่รวมดีลใหญ่จากค่ายมือถือ..ว่าด้วยเรื่อง “การซื้อกิจการ” ที่กำลังหยิบยกขึ้นมาบนโต๊ะเจรจากันอีกครั้ง และต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.ด้วยเช่นกัน
แหละนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน “โจทย์เก่า” ที่เฝ้ารอ “กสทช.ชุดใหม่” เข้ามาดำเนินการ..ว่าแต่การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ครั้งนี้ คงไม่ล่มอีกนะ…มิเช่นนั้นจะกลายเป็น “สายลม…ไร้ทิศทาง” กันต่อไป.!!