ยุคค่ายรถจีนผงาดโลก
ค่ายรถยนต์อเมริกันครองโลกมานานกว่า 100 ปี ก่อนที่จะหลีกทางให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น แต่จีนกำลังคิดจะครองโลกเก่าแทนที่ญี่ปุ่นด้วยรถไฟฟ้าและไฮบริด
ค่ายรถยนต์อเมริกันครองโลกมายาวนานกว่า 100 ปี ด้วยยุคเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ icv แม้จะไม่สามารถผลิตรถยนต์ดีสุดในโลกได้ ก่อนที่จะหลีกทางให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น แต่จีนกำลังคิดจะครองโลกเก่าแทนที่ญี่ปุ่นด้วยรถไฟฟ้าและไฮบริดภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี
คำถามว่าจีนจะทำได้ หรือแค่โม้ไปอย่างนั้นเอง เริ่มมีคำตอบในทางแรกมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เสียงของฝ่ายหลังยังมีอยู่ แต่เบาลงไปมาก
เหตุผลเพราะพลังการผลิตของผู้ปรกอบการจีนที่นำเสนอรถยนต์แบรนด์ใหม่ออกสู่ตลาดในระยะ 2-3 ปีนี้ ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้เสียงเปราะบางลงได้ชัดเจน
ค่ายรถยนต์ของจีน ไม่เพียงแต่นำเสนอแบรนด์รถยนต์ที่ตายไปแล้วอย่าง MG ของอังกฤษ หรือ วอลโว่ของสวีเดน ให้กลับมามีชีวิตครั้งใหม่ ด้วยจุดขายเชิงคุณภาพที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หากยังบุกเบิก เช่น ANK, XPENG, DFSK สร้างแบรนด์เองในรถยนต์ตลาดล่างอย่าง BYD ตลาดระดับพาณิชย์อย่าง HAWAL, ORA, DFSK ตลาดรถเฉพาะกลุ่มเช่นTANK, XPENG, BAOJUN หรือ WEY ความสำเร็จทางการตลาดในจีนและเริ่มรุกส่วนแบ่งในตลาดรถต่างประเทศจนลูกค้าเริ่มคุ้นชินกับแบรนด์มากขึ้น หากเป็นในอดีตคงมีข้อกล่าวหาว่าทางการจีนบิดเบือนตลาดด้วยกระบวนการ อุดหนุนสารพัด แต่ข้อเท็จจริงที่ยินยันในตัวเลขงบการเงินของค่ายรถเหล่านี้ตอกย้ำว่า มีความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาดดีเยี่ยม
ข้อมูลจากงบการเงินของ GWM ค่ายรถใหญ่สุดของจีนจดทะเบียนในหลายตลาดหุ้นสำคัญของโลกยืนยันว่ายอดขายที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องสร้างรายได้ ในหลายปีมานี้โดยมีกำไรสุทธิเติบโตปีละกว่า 10% ส่งผลให้มีเงินลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากถึงปีละ 1.8 พันล้านหยวนหรือ 6.4 พันล้านบาท
ความสำเร็จที่ผ่านมาในการเข้าสูตลาดรถยนต์ที่รวดเร็วประดุจไฟลามทุ่งที่พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาสามารถแข่งขันในระบบทุนนิยมได้ดีเพียงใด ถือเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยุทธวิธีที่พวกเขากำลังใช้อยู่คือ ”กินข้าวทีละคำ” เพิ่อไปบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ “กินรวบทั้งกระดาน” ด้วย 36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะนั่นเอง
กลยุทธ์การตลาดค่ายรถสไตล์จีนยังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจไม่ธรรมดา เพราะเห็นได้ชัดว่าเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเดียวกับหัวเหว่ย และเสี่ยวมี่ ที่ได้ผลมาแล้วไม่นับรวมถึงกล้องวงจรปิดที่ครองโลกไปได้เรียบร้อย
ก่อนหน้านี้ ความสำเร็จทำนองเดียวกันกับกีฬาที่ไม่ต้องพึ่งพาสถิติอย่าง ปิงปอง แบดมินตัน และวอลเลย์บอลหญิง ยิมนาสติก ก่อนจะขยายไปเป็นกีฬาที่ต้องพึ่งพาสถิติ นั่นคือเจาะตลาดเป็นจุดแแบบ segmetization tactics จนกระทั่งขึ้นชั้นหัวแถวในทัวร์นาเมนต์สำคัญอย่างโอลิมปิก
ตัวอย่างความสำเร็จของ GWM ในการสร้างแบรนด์รถยนต์ HAWAL เจาะตลาด SUV ของตลาดจนกลายเป็นอันดับหนึ่งเหนือค่ายรถญี่ป่น อย่าง โตโยต้า และฮอนด้า สะท้อนความก้าวหน้าของ “การปลดปล่อยพลังการผลิต” ที่โดดเด่น
จากควาพยายามลอกเลียนแบบ ด้วยการพยายามผนวกระบบความปลอดภัยแบบวอลโว่ เทคโนโลยีเครื่องยนต์แบบ bmw และการตลาดแบบโตโยต้า ในลักษณะ 3 in 1 ในยุคแรกด้วยการใช้แบรนด์ HOVER พวกเขาได้พบว่า ประสบความสำเร็จต่ำ เพราะคนซื้อสนใจกับเรื่องราคาเป็นหลัก โดยมีมุมมองว่ารถของบริษัทเป็นแค่ส่วนผสมที่ไม่ลงตัวของความสำเร็จทางเทคนิคของแบรนด์อื่น เพราะรถรุ่นแรกที่ผลิตคัดลอกมาจาก Isuzu Axiom ระบบกันสะเทือนถูกนำมาจาก Toyota 4Runner และหน่วยพลังงานนั้นจัดหาโดย Mitsubishi เพียงแต่โชคดีที่ขายดีในตลาดจีนและรัสเซีย
เพื่อสร้างภาพลักษณ์หมู่แบรนด์ HAWAL จึงถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่เพื่อเป็นรถที่มีลักษณะโดดเด่นของตัวเองที่มีพื้นฐานในแง่ของคุณภาพและการออกแบบ โดยลงทุนว่าจ้างดีไซเนอร์ชาวอิตาลีเพื่อสร้างรูปลักษณ์ใหม่ และตัดสินใจเลิกใช้แบรนด์ HOVER ทิ้งไป โดยเพิ่มอุปกรณ์ทางเทคนิคที่ได้รับการปรับปรุง คุณภาพของวัสดุตกแต่ง และติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 1.8 ลิตร ผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะรถรุ่น H2 ได้รับ 5 ดาวความปลอดภัย ซึ่งบ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน มียอดขายถล่มทลายถึง 1 ล้านคันในเวลา 2 ปี
ในปี 2014 รุ่นที่ 2 ของ Haval SUV รุ่น H2 ได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ เป็น SUV ราคาประหยัดที่เน้นสภาพเมือง และหันกลับมาหาเครื่องยนต์เบนซีนขนาด 1.5 ลิตร 150 แรงม้า ก่อนตามมาด้วย H6, H8, H9, Coupe C. ที่รุ่น H6 กลายมาเป็นไฮบริดที่ขายดีกว่า 3.5 ล้านคันเข้าไปแล้ว ด้วยยอดขายในจีนรัสเซียและตะวันออกกลาง ก่อนจะรุกเข้าในอาเซียน โดยมีพันธมิตรด้านเครื่องยนต์ BMW ให้การสนับสนุนเบื้องหลัง
หลังจากทุ่มทุนซื้อโรงงานเก่าของเจนเนอรัลมอเตอร์ ที่ระยอง (ด้วยเหตุต้องการถอนตัวจากตลาดไทยและอินเดียอย่างหมดสภาพ) ชั้นนี้ค่ายรถ GWM จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เป็นหัวหอกทะลวงฟัน ที่ค่ายรถญี่ปุ่นที่เคยถือตลาดไทยและอาเซียนเป็น “ของตาย” มาหลายทศวรรษต้องรู้สึก “ขนหัวลุก” กันบ้าง
ของตายไม่มีอีกแล้วนะ
อาริงาโตะ โกไซมัส!!