โลกของคนรุ่นใหม่

ยูเอส โอเพ่น แกรนด์สแลมรายการสุดท้ายของปีในประเภทหญิงเดี่ยว จบลงด้วยชัยชนะของสาว เอ็มม่า ราดูคานู ที่มีต่อเลย์ล่า เฟอร์นันเดซ


ยูเอส โอเพ่น แกรนด์สแลมรายการสุดท้ายของปีในประเภทหญิงเดี่ยว จบลงด้วยชัยชนะของสาวสัญชาติอังกฤษวัย 18 ปี เอ็มม่า ราดูคานู ที่มีต่อเลย์ล่า เฟอร์นันเดซ สาวสัญชาติแคนาดาวัย 19 ปี

ทั้งคู่ต่างก็มีเลือดผสมชาวเอเชีย หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ต่างก็เป็นมือนอกอันดับการจัดวาง ชื่อเสียงไม่เป็นที่รู้จัก แต่ต่างคนต่างก็ปราบสุดยอดฝีมืออันดับต้น ๆ มาอย่างราบคาบ

เอ็มม่าสาวแชมป์ ไม่เสียเซตให้ใครเลยตั้งแต่รอบควอลิฟายด์ยันนัดชิง ที่เล่าขานกันเป็นตำนานว่า “ทีนเอจ ไฟนัล” โลกเทนนิสสลัดยุคสมัยมาเป็นของคลื่นลูกใหม่แล้ว

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากนี้ไป คงรอเธอทั้งคู่ ผู้มีรอยยิ้มสดใสร่าเริงเป็นผู้จารึก

ไม่เพียงแต่ เทนนิสหญิงเดี่ยวเท่านั้น ในประเภทชายเดี่ยวที่ชิงแชมป์กันระหว่างโนวัค ยอโควิช มือ 1 ของโลกวัย 34 ปีจากเซอร์เบีย และดานิล เมดเวเดฟ มือวาง 2 วัย 25 ปี จากรัสเซีย

โดยมีเดิมพันใหญ่ของโนวัคที่จะเหมาครองสถิติแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการในรอบปี และสถิติครองแชมป์แกรนด์สแลม 21 รายการ มากกว่าคู่แข่งเจนสังเวียนรุ่น “เก๋า” ด้วยกันอย่าง “เฟเดอเรอร์-นาดาล” ที่ครองแชมป์แกรนด์สแลมมา 20 รายการเท่ากัน

โนวัคไปไม่ถึงเดิมพันใหญ่ของเขา ขณะเดียวกันก็ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับคลื่นลูกใหม่อย่างเมดเวเดฟที่ได้ลิ้มรสถ้วยรางวัลแกรนด์สแลมแรกของเขาใน “ยูเอส โอเพ่น”

มาตรฐานการเล่นของหมายเลข 1 โลก ไม่ได้ด้อยลงมาก แต่เป็นนักเทนนิสรุ่นน้องที่อายุห่างกันเกือบ 10 ปีมากกว่า ที่ยกระดับการเล่นขึ้นสู่ระดับฟอร์มสูงสุด ใช้ความหนักหน่วงเอาชนะสไตล์การเล่นที่หลากหลายของโนวัคจนเอาชนะไปได้ 3 เซตรวด

สัญญาณแรกแห่งการผลัดใบในวงการเทนนิสโลกประเภทชายเดี่ยว เดินทางมาถึงแล้ว

จากนี้ไปผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ก็คงจะเป็นคลื่นลูกหลังอย่างเมดเวเดฟ, ซูเอเรฟ และซิตซิพาส เรียงหน้ากันเข้ามา ในขณะที่คลื่นลูกแรกอย่างเฟดเดอเรอร์, นาดาล กระทั่งโนวัค ก็คงจะเหน็ดเหนื่อยมากยิ่งขึ้นในการรักษาชัยชนะ

เช่นเดียวกับในประเภทหญิง ที่จากนี้ไป ชื่อของสาวน้อยมหัศจรรย์ เอ็มม่า ราดูคานู และ เลย์ล่า เฟอร์นันเดซ จะไม่ใช่ชื่อ “โนเนม” อีกต่อไปแล้ว และเธอทั้งสองก็อาจจะเดินเส้นทางอันรุ่งโรจน์รอยเดียวกับราชินี เซเรนา วิลเลียมส์ที่ผ่านมา

กงล้อประวัติศาสตร์” บ่งบอกเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลกนี้ ล้วนเกิดจาก “คนรุ่นใหม่” เป็นผู้ผลักดัน ผู้ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ย่อมกลายเป็นผู้ขัดขวาง “กงล้อประวัติศาสตร์” ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในบ้านเมืองเรา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เป็นคนในยุคที่เรียกว่า “เบบี้ บูมเมอร์” เป็นคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงวัยในปัจจุบันก็อยู่ระหว่าง 55-73 ปี ยังเป็นวัยที่ต้องการได้รับความสนใจเหมือนคนทั่วไป แต่สนใจเรื่องเทคโนโลยีน้อย และไม่สนใจอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่เลย

แนวโน้มค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยมระดับกลาง ๆ ไปถึงระดับอนุรักษ์นิยมจัด ซึ่งตรงนี้อันตรายต่อบ้านเมืองมาก

แต่จะว่า ผู้นำไทยไม่สนใจเทคโนโลยีเสียทีเดียว ก็คงไม่ได้ เพราะยุคหนึ่งในช่วงกลาง ๆ ครองอำนาจ 7 ปี ก็ยังพูดถึงเศรษฐกิจ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตรกรรมกัน  เพียงแต่ในภาคปฏิบัติ ยังออกมาเป็นเศรษฐกิจ 0.4 อยู่ และก็ยังติดตรึงในภาพจำเก่า ๆ อยู่มาก

อาทิเช่นผู้นำแนะให้นักเรียน เยาวชนไปอ่านหนังสือ “จินดามณี” ซึ่งแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ไปโน่น และยังมอบหมายกระทรวงศึกษาฯ ให้แนะนำนักเรียนท่อง “ค่านิยม 12 ประการ” อันค่อนข้างเป็นนามธรรมให้ขึ้นใจ

นอกจากนี้ก็ยังสั่งบรรจุ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 อันแม้แต่ผู้สั่งก็ยังปฏิบัติเองไม่ได้เลย อาทิต้องบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตปีละ 5% หรือแผนปฏิรูปตำรวจอย่างเนี้ย ถามว่ารัฐบาลเอง “ทำได้ไหม”

แต่รัฐบาลใดไม่บริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีความผิดต้องรับโทษ

โลกเขาไปถึงไหนแล้ว ถัดจากคนรุ่น “เบบี้ บูมเมอร์” ก็ยังมี “เจน X-เจนมิลเลนเนียล-เจน Z และเจนอัลฟา” ซึ่งอายุต่ำกว่า 4 ขวบลงมาตามลำดับ การอบรมบ่มสอนและการรับรู้โลกสำหรับคนที่มีอายุห่างกัน 60-70 ปี ก็ยิ่งมีความแตกต่างกันราว “คนละโลก” เชียวล่ะ

อย่าให้ช่องว่างระหว่างวัยห่างกันมาก เป็นผู้นำก็อย่าไปยืน “หลังเขา” ให้ความขัดแย้งมันเพิ่มพูนจนกลายเป็นสงคราม

Back to top button