กระทิงเทียม (หมีพักร้อน) พลวัต2015
การพลิกผันของตลาดหุ้นกะทันหันจากที่เคยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะหมีไปยาวนานหลายเดือน เข้าสู่ความร้อนแรงเป็นขาขึ้นรอบใหม่ จะมีคำถามตามมาเสมอว่า นี่คือ กระทิงแท้ หรือ กระทิงเทียม
การพลิกผันของตลาดหุ้นกะทันหันจากที่เคยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะหมีไปยาวนานหลายเดือน เข้าสู่ความร้อนแรงเป็นขาขึ้นรอบใหม่ จะมีคำถามตามมาเสมอว่า นี่คือ กระทิงแท้ หรือ กระทิงเทียม
ขาขึ้นรอบนี้ของตลาดหุ้นไทย นับแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ก็เช่นเดียวกัน
ดัชนีที่วิ่งขึ้นมามากกว่า 48 จุดนับแต่วันจันทร์จนถึงปิดตลาดวานนี้ หรือประมาณ 4% มาจากแรงซื้อหลักของกองทุนเก็งกำไรต่างชาติ หรือ กระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นสำคัญ สมทบด้วยแรงซื้อของพอร์ตโบรกเกอร์ และกองทุน ในขณะที่รายย่อยถือเป็นโอกาสถอนทุนคืนหลังจากติดหุ้นมายาวนานหลายเดือน ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับทิศทางของตลาด
หากคิดตามสัญญาณเทคนิค ดัชนียังไม่ได้วิ่งขึ้นจนเข้าเขตซื้อมากเกินไป ดังนั้นก็น่าจะมีโอกาสเดินหน้าไปต่ออีก แต่ความผันผวนรุนแรงของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เมื่อวานนี้ ที่สลับขึ้นลงวันเดียวหลายรอบ จนกระทั่งแข็งค่าขึ้นมากเกือบ 50 สตางค์ต่อดอลลาร์ในตอนหัวค่ำ เป็นภาวะที่ไม่ได้เห็นบ่อยครั้ง
น่าเสียดายที่นักลงทุนบ้านเรา ไม่สามารถพิเคราะห์ค่าความแปรปรวนของตลาดเช่นนี้ได้แม่นยำเหมือนต่างประเทศ เพราะตลาดหุ้นบ้านเรา ไม่ได้มีการสร้างดัชนีความแปรปรวน หรือ volatility index ขึ้นมาเหมือนตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ทำให้ยากจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วความผันผวนดังกล่าว จะนำไปสู่อะไร
สิ่งที่นักลงทุนที่ช่างสังเกตจะเข้าใจและรับรู้ด้วยสัญชาตญาณ คือ ความผันผวนที่รุนแรงอย่างเมื่อวานนี้ของค่าเงินบาทนั้น คือการต่อสู้ที่ทำให้ตลาดแกว่งไกว สะท้อนถึงอาการที่ยังไม่สงบนิ่งของตลาด ซึ่งทำให้คาดเดาทิศทางต่อไปยากมากว่า ตลาดจะเป็นกระทิงแท้ หรือกระทิงเทียม
ในรอบนี้ เราได้เห็นนักวิเคราะห์ที่เอาแต่สัญญาณเทคนิคอย่างเดียว หรือเป็นหลัก บอกว่านี่คือภาวะกระทิงระลอกใหม่ที่แรงซื้อจากหลายกลุ่ม จะดันตลาดให้ไปต่อ ดังนั้น อย่าขายหุ้น ต้องถือเอาไว้ เพราะอาจจะทำให้เกิดประเด็น “ขายหมู” ขึ้นได้ง่ายๆ
ส่วนนักวิเคราะห์ที่เข้าใจกระแสฟันด์โฟลว์ช่ำชองอย่างบริษัทหลักทรัพย์ที่ติดต่อกับกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ จะมองอีกอย่างว่าที่ต่างชาติซื้อรอบนี้เป็นแค่การลี้ภัยชั่วคราว เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นๆ จนกว่าสถานการณ์ชัดเจนเรื่องค่าดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยของเฟดฯ และราคาน้ำมัน เพราะการพลิกผันช่วงนี้ เป็นจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยและเอเชียมีค่าพี/อีต่ำมากเท่านั้น ไม่ใช่ภาวะกระทิงแท้แต่อย่างใด
ในคัมภีร์ของการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ภาวะพลิกผันกะทันหันของตลาดหุ้นในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯในช่วงสัปดาห์นี้ มีลักษณะที่สามารถใช้กับคำว่า breakout (ผ่าทางตัน) กับ fake out (ล่อลวง) ก็ได้ ขึ้นกับว่าต้องการจะเล่นคำ และการตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์
ความเป็นไปได้ที่สอดรับกับข้อเท็จจริงยามนี้มากที่สุดคือ กระทิงของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ น่าจะยังคงเป็นกระทิงเทียมมากกว่ากระทิงแท้ ดังนั้นขอให้ระมัดระวังให้ดี แล้วให้รอซื้อกันเมื่อดัชนีมีการปรับฐานในเร็ววัน หากไม่สามารถผ่านจุดต้านไปได้ เพราะแรงซื้อของต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ไหลกลับกะทันหัน
หากพิจารณาจากสัญญาณเทคนิค จะเห็นได้ว่า นับแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ดัชนี SET ร่วงแรงมากต่อเนื่องเพราะวิกฤตหนี้กรีซ ดัชนีร่วงหนักจากระดับ 1,520 จุดลงมาจนถึงจุดต่ำสุดที่ 1,301 จุดในปลายเดือนสิงหาคม กินเวลานาน 2 เดือนที่ร่วงหนัก
จากนั้นดัชนีรีบาวด์กลับแรงนานกว่า 2 สัปดาห์ในเดือนกลางเดือนกันยายน จากแรงบวกของราคาน้ำมัน และกระแสฟันด์โฟลว์ระยะสั้นของต่างชาติ จนวิ่งมาชนแนวต้านที่ 1,400 จุดแล้วไม่สามารถผ่านไปได้ จึงวิ่งกลับไปแรงจากราคาน้ำมันและกระแสทุนไหลออก เพราะข่าวเรื่องเฟดฯ จะขึ้นดอกเบี้ย จนถึงแนวรับใหม่ที่ระดับ 1,345 จุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นระลอกใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดปิดตลาดวานนี้
การพลิกลับจากจุดแนวรับต่ำสุด 2 ครั้งของตลาดหุ้นไทยปีนี้ 2 ระลอก ล้วนเกิดจากปัจจัยคล้ายกัน คือเรื่องราคาน้ำมัน และเรื่องของกระแสฟันด์โฟลว์ระยะสั้น ในขณะที่ปัจจัยลบที่ทำให้ตลาดร่วงลงหนักนั้น มีสารพัด นับแต่ปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่ รอวันฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทั้งมาตรการทางการคลังและการเงิน และปัจจัยต่างประเทศเช่นแรงกดดันของราคาน้ำมัน ภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบทั่วโลก หรือ การพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มีอยู่ครบถ้วน
บทวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกล่าสุด มีมุมมองร่วมที่ชัดเจนคือ พื้นฐานของปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาลงนั้นยังไม่ได้รับการขจัดปัดเป่าออกไป ซึ่งหมายถึงแนวรับของตลาดที่แท้จริงยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะแม้ปัจจัยลบเหล่านั้นอาจไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกพังทลายไป แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีลักษณะ “ซึมยาว” และผันผวนไปมา มีทั้งข่าวดีและร้ายสลับกันไปที่สั่นคลอนตลาดเก็งกำไร และข่าวร้ายจะมีมากกว่าข่าวดีเสมอ
กระแสฟันด์โฟลว์รอบนี้ จึงเป็นภาวะกระทิงเทียม หรือหมีพักร้อน (สุดแท้แต่จะเรียก) มากกว่ากระทิงแท้ แม้โอกาสของการลงทุนไม่ได้สูญหายไปสิ้นเชิง แต่การที่นักลงทุนจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “มือสมัครเล่น” แน่นอน
จนกว่าภาวะกระทิงที่แท้ ที่จะต้องเริ่มต้นจากภาวะ “ผ่าทางตัน” ซึ่งเกิดสถานการณ์ใหม่ ที่พลิกสภาพจากการสูญเสียความมั่นใจของนักลงทุน มาสู่ภาวะมั่นใจอย่างเต็มที่ภายใต้ความเสี่ยงที่ควบคุมได้ จะเกิดขึ้นเท่านั้น