‘เอเวอร์แกรนด์’ กับ ‘เศรษฐกิจโลก’
วิกฤตสภาพคล่องของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ได้เขย่าตลาดทั่วโลกอย่างแรง เนื่องจากมีความวิตกว่า อาจสร้างแรงกระเพื่อมไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก
วิกฤตสภาพคล่องของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ได้เขย่าตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความวิตกว่า มันอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ความวิตกที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน คือสิ่งที่ทุกคนสงสัยในขณะนี้ และถ้าจริง จะรุนแรงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกขนาดไหน?
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลจีนน่าจะควบคุมปัญหานี้ก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายต่อระบบธนาคาร และไม่คาดว่า วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ จะทำให้เกิดวิกฤตการเงินในวงกว้าง
แต่คำถามคือ รัฐบาลจีนจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไรและเมื่อไหร่ และจะมีการปรับโครงสร้าง เอเวอร์แกรนด์เหมือนที่ผู้เชี่ยวชาญในตลาดหลายคนคาดหวังไว้หรือไม่?
เอเวอร์แกรนด์มีหนี้ค้างชำระทั้งหมดราว 300,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 83.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 23 กันยายน สำหรับพันธบัตรที่จะครบอายุไถ่ถอนในเดือนมีนาคม 2565 และต้องชำระดอกเบี้ยอีก 47.5 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 29 กันยายน สำหรับพันธบัตรที่จะครบอายุไถ่ถอนเดือนมีนาคม 2567 พันธบัตรทั้งสองชุดนี้จะผิดนัดชำระหากเอเวอร์แกรนด์ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยภายใน 30 วัน
บริษัทได้แถลงในสัปดาห์ที่แล้วว่า กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก และเตือนว่าอาจจะผิดนัดชำระหนี้ได้ นักลงทุนกังวลว่า หากรัฐบาลจีนปล่อยให้บริษัทล้ม จะทำให้ผู้ถือหุ้น และผู้ถือพันธบัตรในประเทศบาดเจ็บไปตาม ๆกัน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า รัฐบาลจีนจะหาทางออกให้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์มีความสำคัญในเชิงระบบ โดยบางคนคาดว่า สุดท้ายแล้ว รัฐวิสาหกิจจีนจะเข้ามาเทคโอเวอร์
มีการมองกันว่า มูลค่าหนี้ที่มากขนาดนี้จะเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลาย หากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้การล้มของเอเวอร์แกรนด์จะมีผลกระทบมากต่อตลาดงาน เนื่องจากบริษัทมีพนักงานถึง 200,000 คน และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ได้จ้างงานจำนวน 3.8 ล้านคนทุกปี
แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ไม่คิดว่าปัญหาเอเวอร์แกรนด์จะทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งต่อไป แต่อาจจะทำให้เกิดความผันผวนและความไม่แน่นอนมากขึ้น
ริก ไรเดอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนรายได้คงที่ของแบล็กร็อก กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจเป็นพิเศษต่อจีน เพราะว่าจีนมีระบบที่คลุมเครือและมักไม่มีคำตอบจนกว่าจะได้คำตอบ แต่เนื่องจากรัฐบาลควบคุมระบบธนาคาร จึงสันนิษฐานว่ารัฐบาลจะเข้าแทรกแซง ในขณะเดียวกัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ก็น่าจะมีปัญหาสินเชื่อในเร็ว ๆ นี้ และเมื่อเกิดขึ้น จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนและเกิดการติดเชื้อทางการเงิน ดังนั้นจึงเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเข้าไปสร้างเสถียรภาพ
ด้าน เอสแอนด์พี โกลบัล เรตติ้งส์ เชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะถูกบีบให้เข้าไปจัดการปัญหาเอเวอร์แกรนด์ หากปัญหาลุกลามไปไกล จนทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จำนวนมากล้ม และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบต่อเศรษฐกิจ แต่การล้มของเอเวอร์แกรนด์รายเดียว ไม่น่าจะทำให้จีนเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง
ก่อนที่จะเกิดปัญหาเอเวอร์แกรนด์ มีความกังวลอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง และปัญหานี้อาจยิ่งกระทบเศรษฐกิจจีนเพิ่มอีก จนอาจกระทบเศรษฐกิจอื่น ๆ ไปด้วย
ในมุมมองของนักวิเคราะห์บางคน รัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาเอเวอร์แกรนด์ เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่เกิดแรงเทขายทั่วโลกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ตลาดทั่วโลกมองข้ามในตอนแรก
ภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนและสวัสดิภาพทางการเงินของครอบครัวชาวจีนจำนวนมาก ชาวจีนเป็นเจ้าของบ้านมากกว่า 90% คนจำนวนมากซื้ออพาร์ทเมนท์เพื่อการลงทุน ดังนั้นหากไม่ควบคุมปัญหานี้ มันอาจกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่คาดคิดอย่างแท้จริงได้ (A real black swan)
ปัญหาเอเวอร์แกรนด์เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งผู้นำจีนกำลังกวาดล้างธุรกิจเอกชนในหลาย ๆ ภาค ดังนั้นจึงมีการจับตามองกันว่า รัฐบาลจีนจะตอบโต้ต่อเอเวอร์แกรนด์อย่างไร
จีนได้พยายามที่จะยับยั้งการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์มา 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2554 และในแต่ละครั้งที่เข้าไปแตะเบรก ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนหยุดชะงักอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดรัฐบาลจีนต้องปล่อยเบรก และเหยียบคันเร่งอีกครั้ง
ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนมีสัดส่วน 20% ของจีดีพี ในขณะที่กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไป อยู่ที่ประมาณ 30% ของจีดีพี จากข้อมูลของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ มีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 1.4 ล้านราย ที่ได้จ่ายเงินมัดจำและรอการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์จากเอเวอร์แกรนด์
ความเสี่ยงในขณะนี้อยู่ที่ว่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์จะยิ่งลดลง และอาจเกิดความวุ่นวายในตลาดที่อยู่อาศัยและผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจจีน และผลกระทบที่เกิดต่อตลาดที่อยู่อาศัย จะกระทบต่อการบริโภคโดยรวมไปด้วย และนั่นจะทำให้เกิดเลือดไหลไปยังตลาดในภูมิภาคและตลาดโลก โดยผ่านการนำเข้าที่ลดลงจากจีนและชะลอดีมานด์วัตถุดิบทุกชนิด
วิกฤตเอเวอร์แกรนด์จึงมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ต้องจดจ่อรอคอยดูว่า รัฐบาลจีนจะแก้ปัญหานี้อย่างไร