กระแสเร้ายุบสภา
ประยุทธ์ ประวิตร เดินสายลงพื้นที่ ด้านหนึ่งเหมือนแข่งบารมีในพรรค อีกด้านก็จุดกระแสยุบสภา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยขยัน เอาแต่ WFH
ประยุทธ์ ประวิตร เดินสายลงพื้นที่ เพชรบุรี อยุธยา ด้านหนึ่งเหมือนแข่งบารมีในพรรค อีกด้านก็จุดกระแสยุบสภา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยขยัน เอาแต่ WFH จากบ้านในค่ายทหาร เพียงย้อนแย้งอยู่เหมือนกันว่า ถ้ายังจัดสรรอำนาจในพรรคไม่ลงตัว แล้วจะยุบสภาทำไม
กระนั้น คอยดูเถอะว่า กระแสยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะรุมเร้า ให้ต้องยุบเร็วกว่าที่คิด รัฐธรรมนูญก็แก้แล้วใช้บัตรสองใบ เหลือแค่แก้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เสร็จเมื่อไหร่สังคมทุกภาคส่วนจะกดดันรวมทั้งภาคธุรกิจ
อันที่จริง พรรคพลังประชารัฐเป็นสารตั้งต้นแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะมั่นใจว่าชนะ แต่สถานการณ์เปลี่ยน 2 ข้อสำคัญ หนึ่ง ล้มเหลวโควิด คะแนน ผนง.ยิ่งตกต่ำ สอง ประยุทธ์ปลดธรรมนัส “เส้นเลือดใหญ่” กระทบพี่ใหญ่หัวหน้าพรรค
ประยุทธ์กับประวิตรโดยส่วนตัวไม่แตกหัก 7 ปีรัฐประหาร พี่รักน้องรัก ขัดแย้งกันบ้าง เพราะพวกพ้องบริวารทับเส้น ก็ยังเคลียร์กันได้ แต่ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องอนาคตของพรรคและรัฐบาล จากแรงกดดัน ส.ส.
พปชร. ตั้งขึ้นจากการกวาดต้อนล่อใจกลุ่มก๊วนการเมืองว่า ได้เป็นรัฐบาลแหง ๆ เพราะมี 250 ส.ว. รวมทั้งอำนาจบีบคั้นอดีต ส.ส.เพื่อไทยที่โดนคดี รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ โดยมีประวิตรเป็นท่อน้ำมัน เป็นตัวเชื่อมคอนเนคชั่น กลุ่มก๊วนต่าง ๆ ไม่พอใจที่ถูกเบียดบังเก้าอี้รัฐมนตรีโดยโควตากลาง แถมประยุทธ์ อนุพงษ์ ก็เหินห่าง ส.ส. ซึ่งต้องการแอบอิงอำนาจหาเสียง
พูดอีกอย่างคือ พปชร.ไม่ใช่พรรคที่หาเสียงด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบาย ด้วยความนิยมในตัวผู้นำ แต่หาเสียงด้วยการเมืองเก่า ระบบอุปถัมภ์ ส.ส. “บ้านใหญ่” ดูแลคนในพื้นที่ ประสานอำนาจรัฐราชการ ของบประมาณสร้างถนน สร้างฝายช่วยน้ำท่วมภัยแล้ง ราคาพืชผล ฯลฯ
พรรคการเมืองโดยทั่วไปต้องใช้เลขาธิการพรรคที่รู้จักสร้างคอนเนคชั่น กว้างขวาง ซื้อใจคน พปชร.ที่ไร้ราก ไร้เอกภาพ ยิ่งต้องใช้คนใจใหญ่ ถึงลูกถึงคน “มันคือแป้ง” เดินสายทั่วประเทศ จ่ายค่าน้ำมันเอง จ่ายไม่อั้น แต่ก็ยังติดขัด ต้องการอำนาจมากขึ้นเพื่อเอาชนะ จนก่อหวอดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วถูกประยุทธ์ไล่ออก
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงคาราคาซัง แม้ยังไม่แตกหักก็วัดพลังต่อรอง ประยุทธ์จะเข้ามาคุมพรรคเอง หรือจะยอมให้พี่ใหญ่-ธรรมนัส และประธานยุทธศาสตร์คนใหม่จัดสรร โดยต้องมอบตำแหน่งสำคัญ
แต่ไว้วางใจไม่ได้เหมือนกัน ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พปชร.อาจเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ก็ได้ อย่าลืมสิ พปชร.ได้เปรียบทุกอย่าง ทั้งกลไกอำนาจ อาวุธกระสุน มีแต่ตัวผู้นำที่ต้อง “กำจัดจุดอ่อน”
เพียงต้องได้รับความเห็นชอบจากเครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมที่อยู่ข้างหลัง รวมทั้ง 250 ส.ว.
แม้ พปชร.ยังไม่ลงตัว แต่กระแสที่เคลื่อนไปข้างหน้า บรรยากาศที่เริ่มคึกคัก เปิดตัวผู้สมัคร เปิดตัวคนย้ายพรรค ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็จะเร่งเร้าไปสู่การยุบสภา ประยุทธ์จะถ่วงเวลาได้นานที่สุดแค่ระหว่างพิจารณา พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง
ในระหว่างนี้ ม็อบไล่ประยุทธ์อาจอ่อนลง แต่เปลี่ยนธงไปเรียกร้องยุบสภา แก้ปัญหาผ่าทางตัน ซึ่งสังคมข้างมากน่าจะเอาด้วย แม้ต้องรอโควิดจาง แต่ทุกวันนี้ ติดเชื้อวันละหมื่นก็จะเปิดประเทศแล้ว ดังนั้น กฎหมายลูก 2 ฉบับผ่านเมื่อไหร่ กระแสสุกงอม
บางคนมองว่า ประยุทธ์คงยุบสภาก่อนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง มิ.ย. 2565 แต่ไม่น่าลากได้ถึงขนาดนั้น มองในแง่รัฐบาล จังหวะดีที่สุดคือโควิดเพิ่งจาง แจกเงิน ตีปี๊บ ขายข่าวดี เปิดประเทศ ชวนมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจะฟื้นแล้ว ๆ (แต่ของจริงอาจฉิบหายกว่านี้ได้อีก ชิงยุบก่อนดีกว่า) อุปสรรคคือความไม่พร้อมของ พปชร. นี่แหละทื่ทำให้ต้องยื้อ
พร้อมไม่พร้อมถ้าช่วยกันเร่งเร้าบรรยากาศเลือกตั้ง ประยุทธ์จะถูกกดดันให้ยุบจนได้