พาราสาวะถี
ลงพื้นที่วันเดียวกันแต่คนละจังหวัด จึงถูกจับมาเป็นประเด็นกำลังวัดบารมีกันอยู่ระหว่าง พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ในฐานะหัวหน้าพรรค กับ น้องเล็ก
ลงพื้นที่วันเดียวกันแต่คนละจังหวัด จึงถูกจับมาเป็นประเด็นกำลังวัดบารมีกันอยู่ระหว่าง พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ในฐานะหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ กับ น้องเล็กผู้มีตำแหน่งเป็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่หลังจากถูกนักข่าวซัด พี่ใหญ่ก็โชว์วลีทอง “ผมกอดคอกับนายกฯ สนิทสนมกันมา 50 กว่าปี จำไว้ ให้ตายจากกัน เรา 3 ป.ถึงจะเลิกรักกัน บ้าบอมากกับข่าวทะเลาะกัน ซึ่งนายกฯ ก็มาหาผมทุกวัน ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใครจะไปทะเลาะกัน”
กองเชียร์ชนิดไม่ลืมหูลืมตาคงเชื่อสนิทใจ แต่คนโดยทั่วไปดูออกมองกันไม่ยาก หากรักกันปานจะกลืนจริง เหตุไฉนบรรยากาศของการลงพื้นที่ถึงแตกต่างกันลิบลับ ที่อยุธยาคณะของพี่ใหญ่ห้อมล้อมไปด้วยบรรดาส.ส.จำนวนมากจากทุกจังหวัด ชัดเจนว่าทุกคนที่มาอยู่ในสายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค แม้บางรายจะตีตัวออกห่างไปแล้วก็ตาม แต่ในทางการเมืองหากมองถึงผลเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไงการอยู่พรรคเดิมกับหัวขบวนคนเดิมน่าจะมีภาษีกว่า
ขณะที่น้องเล็กไปเพชรบุรี แม้จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มารอต้อนรับจนลืมมาตรการเว้นระยะห่างที่รัฐบาลย้ำนักหนักย้ำหนาว่าต้องเข้มงวด เพื่อมาร่วมตะโกน “ลุงตู่สู้ ๆ” ทว่าจำนวนส.ส.ที่ไปรอต้อนรับเป็นส.ส.ในพื้นที่ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พี่ใหญ่ก็ให้สัมภาษณ์ย้ำประเด็นไม่ร่วมลงพื้นที่กับน้องรักอ้างว่าเดินไม่ทัน ซึ่งเป็นการยอมรับสภาพสังขารของตัวเอง แต่นั่นมันไม่ใช่สิ่งที่คนวงในรู้ จากที่เคยมองตาก็รู้ใจ ให้อภัยกันในทุกเรื่อง กลายเป็นไม่เข้าใจทำไมถึงต้องมาแข็งข้อกับพี่
หากเข้าใจสภาพการเมืองว่าด้วยเรื่องของอำนาจที่ไม่เข้าใครออกใคร สิ่งที่เห็นและเป็นไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ธรรมชาติของคนเมื่อมีช่องทางที่จะทำให้ตัวเองเติบใหญ่ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของคนแค่คนเดียว ย่อมหาทางที่จะสยายปีก เพียงแต่ว่าการจะแยกไปโตนั้นไม่ใช่มายุแยงหรือใช้วิธีการตกปลาในบ่อเพื่อน อย่างนี้ถือว่าไม่แฟร์ แต่ของพรรค์นี้มันเคยทำมาแล้วก่อนการเลือกตั้งปี 62 ถือเป็นโมเดลที่ช่วยให้สืบทอดอำนาจสำเร็จ มันจึงหาวิธีการอื่นไม่ได้
การดับเครื่องชนของธรรมนัสจนต้องกระเด็นตกเก้าอี้รัฐมนตรี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจ ต่อวิธีการและการวางตัวของคนที่เป็นผู้นำซึ่งส.ส.ที่ลงทุน ลงแรงทั้งหลายมีความหวังว่าจะได้รับการเอาใจใส่ดูแล ในห้วงปีแรกของการบริหารประเทศหลังเลือกตั้งยังพอเข้าใจได้ว่าใช้เวลาปรับตัว แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่สองจวบจนจะ 3 ปีแล้ว มันไม่ใช่ การปรับตัวทางการเมืองหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงช้ากว่าความต้องการของนักการเมือง
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุระหว่างทาง คอการเมืองทั้งหลายก็ยังมองว่าไม่มีโอกาสที่พรรคสืบทอดอำนาจหรือพรรคใหม่ของ 2 ป.จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้เป็นกอบเป็นกำหรือชนะพรรคเพื่อไทยได้ ยิ่งสถานการณ์ของบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะที่คนลำบาก ได้รับแต่ความช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน มองไม่เห็นอนาคตแบบนี้ ทางเลือกที่ดีกว่าจึงถูกตั้งเป็นคำถามมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่พวกที่เคยร่วมเป่านกหวีดเรียกให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทำการรัฐประหาร
ขึ้นชื่อว่านกรู้ของนักเลือกตั้ง การหันหลังให้พรรคของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ของ 8 อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อกลับไปตายรัง (พรรค) เก่า มันสะท้อนภาพของเสียงที่ได้รับจากประชาชนในพื้นที่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นผลจะออกมาอย่างไร ไม่ต่างจากอดีตส.ส.ของพรรคเก่าแก่ที่ปทุมธานีซึ่งขนทีมงานกว่า 80 ชีวิตไปเข้าสังกัดพรรคนายใหญ่ ก็เพราะรู้ดีว่ากระแสของคนในพื้นที่เขาได้เลือกผู้แทนไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ จึงเป็นเดิมพันของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่าจะเลือกเดินแบบไหน
ปากก็พร่ำบอกว่าทุกอย่างจะต้องไปกลับไปเหมือนเดิม แต่สถานการณ์ในทุกมิติมันไม่เอื้อให้คนไทยมีความหวังว่าทุกอย่างจะดีกว่าเดิมได้อย่างไร ในฐานะหัวขบวนของการปฏิรูปประเทศกว่า 7 ปีที่ผ่านไป ยังไม่เห็นผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์หรือทำให้คนเชื่อมั่นได้ว่าคณะรัฐประหารคสช.เข้ามาแล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันท่านผู้นำย่อมสัมผัสและรับรู้ได้ด้วยตัวเอง ศรัทธา ความเชื่อมั่นที่เคยได้รับวันนี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดไหน
สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังจะยกเลิกการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหันมาใช้พ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อแทนนั้น อย่างที่รู้กันเพื่อรองรับสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเคยประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วัน คำถามสำคัญคือ ทุกอย่างมันพร้อมหรือดีขึ้นขนาดนั้นแล้วหรือ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนดัง ๆ สถานการณ์ของไทยจำนวนติดเชื้อใหม่ที่รายงานยังสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากรวม ATK จะมีจำนวนติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก มากกว่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม
สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการระบาดที่ชัดเจนหลังพ้นปลายเดือนนี้ หากคุมไม่ได้ น่าจะมีโอกาสสูงขึ้นกว่าเดิม หากปล่อยให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเปิดเมืองให้อยู่กับโรค ทั้งที่สถานการณ์การติดเชื้อยังมีจำนวนมาก ด้วยระบบสนับสนุนที่มีอยู่ทั้งเรื่องการตรวจคัดกรองโรคที่จำกัด วัคซีนที่มีชนิด ปริมาณ ความครอบคลุมที่จำกัด รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิต ค้าขาย บริการ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อกัน ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ
โมเดลกล่องทรายหรือแซนด์บ็อกซ์ ชี้ให้เห็นแล้วว่ามีปัญหา ขนาดเป็นพื้นที่จำกัด ยังเป็นดังที่เห็น ถ้าขยายมาเมืองหลวง โอกาสที่จะแตกย่อมมีสูงมาก ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีทรัพยากรต่าง ๆ มากมายเพียบพร้อมกว่าเรายังเอาไม่อยู่ การอ้างว่าติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลน้อย ตายน้อยคงจะยากที่จะเป็นจริงเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ระบาดรุนแรงกลับซ้ำในอนาคต ยากที่จะเอาอยู่ ดังนั้น กลุ่มคนที่ผลักดันนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ตามมา นโยบายในลักษณะนี้ส่งผลต่อชีวิตของทุกคน แต่คนที่หน้ามืดและหวังสร้างผลงานคงไม่คิดแบบนั้น