ปัญหาหนี้ ‘เอเวอร์แกรนด์’ จะลุกลามเป็น ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ?

การออกมาเตือนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ได้สร้างความกังวลไปทั่วตลาดการเงินของจีน


เส้นทางนักลงทุน

การออกมาเตือนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ได้สร้างความกังวลไปทั่วตลาดการเงิน ว่าวิกฤตหนี้ของบริษัทอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วระบบธนาคารจีน และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับสองของจีน ที่มียอดขาย 110,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา หุย คาแยน ก่อตั้งเอเวอร์แกรนด์ในกวางโจวเมื่อปี 2539 จากนั้นในปี 2552 ได้เข้าไปจดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งช่วยให้สินทรัพย์โตถึง 355,000 ล้านดอลลาร์ในขณะนี้ โดยมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศจีนมากกว่า 1,300 โครงการ และส่วนใหญ่เป็นโครงการในเมืองเล็ก ๆ ประมาณ 280 เมือง

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยอดขายโตลดลง บริษัทจึงได้หันไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ฟุตบอล ประกัน และน้ำขวด

นักลงทุนเริ่มเกิดความกังวลในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากที่มีหนังสือรั่วออกมาจากบริษัทโดยจงใจว่า เอเวอร์แกรนด์ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเพื่ออนุมัติแผนการจดทะเบียนแบ็กดอร์ ซึ่งแผนนี้ได้ล้มลงไปแล้วในขณะนี้ แต่ในตอนนั้นบริษัทชี้แจงว่าเป็นหนังสือปลอม

ความกังวลเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่บริษัทยอมรับในเดือนมิถุนายนว่า ไม่ได้ชำระตราสารหนี้จำนวนหนึ่งตรงเวลา และมีข่าวในเดือนกรกฎาคมว่าศาลจีนสั่งระงับเงินฝากในธนาคารจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ตามคำขอของกวงฟา แบงก์

เอวอร์แกรนด์สามารถขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วได้เพราะเงินกู้ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้บริษัทซื้อที่ดินอย่างเมามันและสามารถขายอพาร์ตเมนต์ได้อย่างรวดเร็วแม้ว่ากำไรต่ำ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเริ่มวงจรการลงทุนใหม่ได้อีกครั้ง

แต่ในที่สุด หนี้สินก็พอกพูนเป็นเงินทั้งหมด 1.97 ล้านล้านหยวน หรือ 306,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นอกเหนือจากช่องทางการออกพันธบัตรและขอกู้เงินจากธนาคารทั่วไปแล้ว ยังมีเสียงโจมตีว่าเอเวอร์แกรนด์ใช้เงินกู้จากตลาดธนาคารเงา ซึ่งรวมถึงทรัสต์ ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง และตราสารหนี้ระยะสั้น

บริษัทได้พยายามเร่งลดหนี้ในปีที่ผ่านมา หลังจากที่ทางการจีนออกระเบียบควบคุมอัตราส่วนหนี้ 3 ประการ ซึ่งเรียกว่านโยบาย “Three red lines” โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะทำตามข้อกำหนดทั้งหมดให้ได้ภายในปลายปี 2665

เอเวอร์แกรนด์ให้ส่วนลดอย่างมโหฬารแก่ผู้ซื้อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และยังได้ขายโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จำนวนมาก และตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทได้ขายหุ้นในตลาดรองเป็นเงิน 555 ล้านดอลลาร์ ระดมเงินได้ 1,800 ล้านดอลลาร์เมื่อนำบริษัทบริหารอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงเข้าจดทะเบียน ในขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ขายหุ้น 3,400 ล้านดอลลาร์ให้กับนักลงทุนรายใหม่

อย่างไรก็ดี ในวันอังคารที่ผ่านมา บริษัทแถลงว่าแผนการขายหุ้นและสินทรัพย์ ไม่สามารถสร้างความคืบหน้าได้มาก

ธนาคารกลางจีนได้ย้ำเมื่อปี 2561 ว่า บริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเอเวอร์แกรนด์ อาจจะสร้างความเสี่ยงเชิงระบบต่อระบบการเงินของประเทศ

เอกสารที่รั่วออกมาเมื่อปีที่แล้วระบุว่า ภาระผูกพันของเอเวอร์แกรนด์เกี่ยวข้องกับธนาคารมากกว่า 128 แห่ง และเกี่ยวข้องกับสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารกว่า 121 แห่ง และเจพีมอร์แกนประเมินในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไชน่า มินเช็ง แบงก์ มีความเสี่ยงจากเอเวอร์แกรนด์สูงสุด

การชำระเงินล่าช้าอาจก่อให้เกิดการผิดนัดชำระไขว้ เนื่องจากสถาบันการเงินจำนวนมากมีความเสี่ยงจากเอเวอร์แกรนด์โดยผ่านเงินกู้โดยตรง และการถือตราสารการเงินต่าง ๆ โดยทางอ้อม

จากข้อมูลของดีบีเอสในตลาดพันธบัตรที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ เอเวอร์แกรนด์มีสัดส่วน 4% ของพันธบัตรที่มีผลตอบแทนสูงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ จะทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง

การล้มของเอเวอร์แกรนด์จะมีผลกระทบมากต่อตลาดงาน เนื่องจากบริษัทมีพนักงานถึง 200,000 คน และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ได้จ้างงานจำนวน 3.8 ล้านคนทุกปี

สำหรับธุรกิจในต่างประเทศ เอเวอร์แกรนด์เป็นเจ้าของอาคารสำนักงานในย่านหว่านไจ๋ในฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เกือบจะแล้วเสร็จ 2 โครงการในฮ่องกง และยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาอีกจำนวนมาก

บริษัทได้ใช้เงินนอกจีนแผ่นดินใหญ่หลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเข้าไปถือหุ้นในเทคโนโลยีรถยนต์ต่างชาติเพื่อสนับสนุนธุรกิจรถยนต์ที่ใช้พลังงานใหม่ เช่น ได้ถือหุ้นในบริษัท NEVS ของสวีเดน บริษัท e-Traction ในเนเธอร์แลนด์ และในบริษัท Protean ของอังกฤษ

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท Hofer AG ในเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบรถไฟไฟฟ้า และบริษัทซูเปอร์คาร์ Koenigsegg

ธนาคารกลางจีนและคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยของจีน ได้เตือนเอเวอร์แกรนด์ในเดือนสิงหาคมว่า จำเป็นต้องลดความเสี่ยงหนี้ และมีรายงานจากสื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลของจีน ได้อนุมัติข้อเสนอของเอเวอร์แกรนด์ที่จะเจรจาเส้นตายในการชำระหนี้ใหม่กับธนาคารและเจ้าหนี้รายอื่น ๆ นอกจากนี้รัฐบาลกวางโจวยังกำลังรอฟังความเห็นจากผู้ปล่อยกู้รายใหญ่เกี่ยวกับการตั้งกรรมการเจ้าหนี้

ต้องจับตาดูต่อไปว่าเอเวอร์แกรนด์ “ใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจีนจะปล่อยให้ล้ม” หรือไม่ ?

Back to top button