การปฏิวัติที่ SCB
การปรับตัวครั้งล่าสุดที่ผู้บริหารของ SCB แถลงไปแล้ว ธุรกิจการเงิน มีเส้นทางที่เปิดกว้างให้ทำกำไรมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ แต่ทางนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก
การปรับตัวครั้งล่าสุดที่ผู้บริหารของ SCB แถลงข่าวใหญ่ไปแล้ว แม้ว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินการในอีก 1 ปีข้างหน้า ถือเป็นภาพสะท้อนแนวโน้มระบบทุนนิยมโลกดังที่นายพิเกตตี้ ได้กล่าวเอาไว้ นั้นคือธุรกิจการเงิน มีเส้นทางที่เปิดกว้างให้ทำกำไรมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพียงแต่เส้นทางที่จะเดินต่อไปนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก
การจัดตั้งบริษัท SCBX ขึ้นมา แล้วเอาเข้าตลาดแทนธนาคารพาณิชย์ตามระบบเดิม โดยมีเหตุผลคือ เคลื่อนย้ายไปหาแหล่งรายได้ใหม่ที่กว้างกว่าเดิม และแน่นอน…มีความเสี่ยงมากกว่าเดิม
เหตุผลคือหลังจากโครงสร้างใหม่ (ที่คล้ายคลึงกับ IVL ) โดยระบุว่า การจัดตั้ง SCBX ขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ โดย SCB ให้คำนิยามกับ SCBX ว่าเป็น Mothership หรือ “ยานแม่”
โดยทำนองเดียวกันกับ INTUCH หรือ PTT ที่เป็นโฮลดิ้ง มีรายได้ลดลงแต่มีอัตรากำไรสุทธิมากขึ้น แต่บริษัทใต้ร่มธงจะมีความคล่องตัวในการบริหารงานดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ทั้ง VC และ FIN-TECH
การเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มีธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน เช่น SCB10X ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (แต่ด้วยความที่ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของแบงก์ จึงทำให้มีข้อจำกัดและดำเนินกิจการได้ไม่เต็มที่) เท่ากับเปิดช่องในการหารายได้จากแหล่งใหม่ ๆ ได้
โครงสร้างของโฮลดิ้งใหม่ที่ชื่อ SCBX จะทำให้บริษัทในอนาคต สามารถแบ่งรูปแบบของธุรกิจได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ
– ธุรกิจ Cash Cow ซึ่งก็คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน อันเป็นธุรกิจสร้างรายได้ตามจารีต แต่ไม่มีความคืบหน้ากับยุคสมัย เพราะขีดจำกัดในการควบคุมความเสี่ยงของหน่วยงานกำกับดูแล เช่น แบงก์ชาติ หรือ คปภ.
– ธุรกิจ New Growth ที่อาจจะมีความเสี่ยงขาดทุนในระยะแรก แต่มีอนาคตในฐานะดาวรุ่ง หรือ star (ตามหลักการบริหารแบบ BCG)
จากการแบ่งกลุ่มธุรกิจ จะเห็นได้ว่า SCB พยายามแยกธุรกิจแบงก์กับธุรกิจอื่นออกจากกัน ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจใหม่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ และกฎเกณฑ์ของธุรกิจธนาคารเดิม
จากการแถลงเกี่ยวกับระบบจัดการคือ SCB จะย่อยแต่ละธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละบริษัท ก็จะมีทีมและมีผู้บริหาร ซึ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ แตกต่างจากระบบรวมศูนย์
เหมือนเดิม เช่น Card X บริษัทที่โอนกิจการออกมาจาก SCB (Spin-Off) ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยน่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ในฐานะผู้นำธุรกิจบัตรเครดิต หรือ Alpha X บริษัทที่ร่วมมือกับ Millennium Group ปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของรถหรูและยานพาหนะทางน้ำ เช่น เรือยอร์จ Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจเทคโนโลยี หรือ AISCB ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อ Digital ซึ่งตั้งเป้าหมายให้แต่ละบริษัทย่อย สามารถเติบโตและ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยตัวเอง
เป้าหมายตั้งบริษัทที่แยกตัวออกไปเพื่อระดมทุนในตลาด ถือเป็นการสร้างมูลค่าที่ดีเยี่ยม
การเติบโตเหล่านี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันในธุรกิจที่การเติบโตด้วยการรุกธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับภูมิภาคเช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างการเติบโตให้กับฐานลูกค้า ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14 ล้านราย ให้เป็น 200 ล้านราย
เป้าหมายสำคัญคือ “สร้างมูลค่าให้บริษัททั้งหมดในเครือของ SCBX มีมูลค่ารวมกันราว 1 ล้านล้านบาท” ในอนาคต
การประกาศจัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 20,100 – 26,800 ล้านบาท) ร่วมกับเครือซีพี โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล, Decentralized Finance, FinTech และเทคโนโลยีอื่น ๆ
โดยกองทุนผ่าน VC นี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะลงทุนเป็นจำนวนเงิน ฝ่ายละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Investor) โดยทีมงานทีม SCB10X เดิม บางส่วนก็จะเข้ามาร่วมทำงานใน Venture Capital ใหม่นี้
นอกจากนั้น SCBX ที่เป็นยานแม่ที่ทำตัวเป็นบริษัทโฮลดิ้งก็ยังถือหุ้นในอีกหลายธุรกิจ ที่แปลกแหวกแนวออกไป สามารถจะเป็นธุรกิจ “เสี่ยงสูงกำไรสูง” ทั้งสิ้น
รวมความถึงการปลดปล่อยให้ บล.ไทยพาณิชย์หรือ SCB Securities ทำธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งจะรุกเข้าไปมีบทบาทในบริษัททำ ICO ใน Token X ที่ดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างคล่องตัวมากกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้ เท่ากับอนาคตของ SCBX จะถ่วงดุลระหว่างธุรกิจแบบดั้งเดิม และตลาดทุนแบบใหม่มาเป็น SCBX จึงน่าจะเป็นแบงก์ชาติเจ้าเดียว ในขณะที่อำนาจการกำกับดูแลจะย้ายไปที่ กลต.มหาศาล
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้บอกว่าราคาของ SCBX ควรจะเป็นเท่าใด แต่ที่แน่นอนคืออนาคตของ SCB จะยิ่งตีบตันมากขึ้น
ใครที่บอกว่า SCB มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม แล้วจะต้องมีรูปแบบการบริหารแบบอนุรักษ์นิยม เห็นทีต้องคิดใหม่ได้แล้ว