สกัดหุ้นขึ้น ตัดหางหุ้นลงขี่พายุ ทะลุฟ้า
คงไม่ว่ากันนะ หากจะฝากคำนี้ไปยังผู้บริหารก.ล.ต. และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คงไม่ว่ากันนะ หากจะฝากคำนี้ไปยังผู้บริหารก.ล.ต. และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เวลาหุ้นดี วอลุ่มซื้อขายคึกคัก หน่วยงานรับผิดชอบ มักจะหาทางเข้ามาดับความร้อนแรง เกือบจะเป็นนิจสิน แต่เวลาหุ้นซบเซา หาใครจะเข้ามาสนใจไยดีไม่
เกณฑ์ซิลลิ่ง–ฟลอร์สำหรับหุ้น IPO ซึ่งกำหนดไว้ที่บวก-ลบ200% ในวันแรกของการซื้อขาย ก็สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจไปยังก.ล.ต. ทำให้จะต้องปรับลดเกณฑ์ลงมาเป็นบวก-ลบ 100% อีกซะแล้ว
เหตุผลก็เดิมๆ เพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นน้องใหม่บางตัว
ถามว่า หุ้นใหม่ทุกตัว มันจะร้อนแรงเป็น 100, 200% ถึงจะต้องมุ่งหมายเป็นเป้าใหญ่ในการสกัดกั้นหรือก็เปล่า
คุณธนะชัย ณ นคร มีตัวเลขเอามาแจกแจงไว้เมื่อวานนี้ว่า ปี 57 มีหุ้นไอพีโอเข้าใหม่ 45 ตัว มีหุ้นเพียง4ตัวเท่านั้น ที่แตะ 200% คิดได้เป็นร้อยละ 8.89 เท่านั้นเอง หาใช่ร้อนแรงไปซะทุกตัวแต่อย่างใดไม่
ปี 58 ก็เช่นกัน 9 เดือนกว่ามานี้ มีหุ้นใหม่เข้ามา 25 ตัว มีพุ่งชนซิลลิ่งแค่ 2 ตัว คิดเป็นร้อยละ 8.00 แค่นั้นเอง ในจำนวนนี้ ก็ยังดันต่ำจองซะอีก 2 ตัว
แล้วจะไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรนักหนากับหุ้นส่วนน้อยนิดที่ร้อนแรง
ทีหุ้นออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หุ้นไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ที่หลุดต่ำจอง ถามว่า มีใครห่วงใยอนาทรร้อนใจไปดูแลกันบ้าง
ก็ยังมีอีกดำริหนึ่งครับ คือ ติดไซเลนท์ พีเรียด ห้ามอันเดอร์ไรเตอร์หุ้น ซื้อขายหุ้นนั้นเป็นระยะเวลา 15 วัน
นี่มันไม่ใช่ตลาดเสรี ที่ซื้อง่ายขายคล่องแล้วนะครับ ใจคอจะไม่ให้ตลาดมี “มาร์เก็ต เมกเกอร์” กันบ้างเลยหรือครับ
เหตุผลว่า ป้องกันอันเดอร์ไรเตอร์สาดหุ้นออกมา ก็ไม่เห็นจะมีข้อเท็จจริงใดออกมาว่า อันเดอร์ไรเตอร์เก็บหุ้นเหลือจัดสรรไว้กับตัวเองทุกตัวเลยหรือ
ก.ล.ต.มีข้อมูลเหรอว่า อันเดอร์ไรเตอร์เก็บหุ้น IPO ในพอร์ตตัวเองเท่าไหร่ ปล่อยจำหน่ายหมดให้ลูกค้าเท่าไหร่ หรือข้อมูลนี้เกิดจากมานั่งนึกมโนกันเอาเอง
โรคคิดแทนนักลงทุนและโรคสกัดหุ้นราคาดี ตัดหางปล่อยวัดหุ้นราคาเลว ยังระบาดจากก.ล.ต.ไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นระเบียบความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ
ธรรมชาติปกติของหน่วยงานก.ล.ต. ก็มักจะมุ่งในการกำกับควบคุมโดยการออกกฎระเบียบต่างๆ อันนี้ผมก็เข้าใจดีนะครับ
แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯนี่สิ ควรจะเป็นหน่วยงานเอกชนเต็มตัว ที่มุ่งให้มีตลาดที่เป็นเสรี และมีสภาพซื้อง่ายขายคล่อง กฎระเบียบต่างๆ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของก.ล.ต.ไป ไม่ควรจะออกกฎระเบียบหยุมหยิม ซ้ำเติมความเข้มเข้าไปอีก
กฎระเบียบแต่เดิมเรื่อง“แคช บาลานซ์” หรือการวางบัญชีเงินสด เพื่อดับหุ้นร้อนแรง ซึ่งมีอยู่ 3 เกณฑ์ คือ เทิร์น โอเวอร์ลิสต์, วอลุ่ม เทรด และพี/อี ก็ถือว่าน่าจะพอสมควรแก่เหตุแล้ว
นักลงทุนก็รู้ขอบเขตประมาณว่า ถ้าหุ้นใดหมุนรอบซื้อขายเกินกว่า 50% พี/อีสูงกว่า 40 เท่า และวอลุ่มเทรดเกินวันละ 100 ล้านบาท ก็ต้องติดแคช บาลานซ์
มาร์เก็ตติ้งที่แนะนำนักลงทุน ก็รู้กฎเกณฑ์ดี ไปแนะนำนักลงทุนต่อได้
แต่เดี๋ยวนี้ อำนาจถ่ายโอนไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ไปเพิ่มเป็นเกณฑ์“เทรด อะเลิร์ท” ซึ่งหากฎเกณฑ์ใดๆ ไม่ได้เลย
ขึ้นกับที่ประชุมคณะทำงานตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นว่าหุ้นตัวไหนซ่า สมควรโดน ก็ปักป้าย “เทรด อะเลิร์ท” ต้องโดนแคช บาลานซ์ ซึ่งก็มีระดับความโหดเป็น3ระดับอีก
กฎเกณฑ์แคช บาลานซ์ เคยมีกฎเกณฑ์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมและเป็นที่เปิดเผยทั่วไปอยู่ดีๆ แต่ดันเปลี่ยนแปลงมาใช้ “ดุลพินิจ” เป็นกฎทดแทน มันจะสร้างซีจีหรือ“บรรษัทภิบาล” ที่ดีได้หรือ
ตลาดในขณะนี้น่ะ ตึงเครียดจะตายไป เต็มไปด้วยสารพัดกฎเกณฑ์เต็มไปหมด วอลุ่มวันๆ ก็หดหาย ชักจะไม่เข้าใจบทบาทก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯยิ่งขึ้นทุกวัน
หุ้นดี ตลาดดี ก็ถามโถมพากันเข้ามาสกัด แต่พอหุ้นเลว ตลาดเลว ก็ตัดหางปล่อยวัด ธุระไม่ใช่กันไปเลย