สัปดาห์หุ้นหลุดจองพลวัต2015
ภายในสัปดาห์เดียว หุ้นน้องใหม่เข้าเทรดวันแรก มีอาการหลุดจองต่อเนื่องกัน 2 ราย ไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านข้ามไปได้
ภายในสัปดาห์เดียว หุ้นน้องใหม่เข้าเทรดวันแรก มีอาการหลุดจองต่อเนื่องกัน 2 ราย ไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านข้ามไปได้
วันพุธที่ 7 ตุลาคม หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ORI เข้าเทรดวันแรก ด้วยราคาจอง 9.00 บาท จำนวนหุ้น 180 ล้านหุ้น ปรากฏว่า เปิดตลาดมาที่ราคา 10.50 บาท จากนั้นวิ่งขึ้นไปสูงสุดของวัน 10.60 บาท แล้วก็มีแรงขายออกมาต่อเนื่อง แต่ก็มีแรงรับ ที่ระดับ 10.00 บาท แล้วปิดตลาดเช้าที่ 10.10 บาท
เปิดมาตลาดภาคบ่าย แรงเทขายออกมาหนัก สวนทางกับดัชนีที่บวกแรงตลอดการซื้อขาย มีแต่แรงขาย ไม่มีแรงรับ ราคาร่วงจนปิดตลาดที่ต่ำกว่าจอง 8.90 บาท
เช้าวันพฤหัสบดี เปิดตลาดมา ราคาทำท่าจะบวกกลับไปที่ราคาสูงสุด 9.10 บาท จากนั้น แรงขายก็ออกมาต่อดันร่วงมาทรงตัวอยู่ที่ 8.40-8.45 บาท จนถึงช่วงเวลาบ่ายสามโมงเศษ แรงขายก็ออกแรงใหม่ จนปิดตลาดที่ราคาเกือบต่ำสุดของวัน 7.70 บาท
วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม หุ้น TFG ทำธุรกิจอาหารครบวงจร ป้อนตลาดในนามของแบรนด์อื่นๆ เทรดวันแรก ด้วยหุ้นใหม่ 1.1 พันล้านหุ้น ในราคาจอง 1.95 บาท โดยมีจุดเด่นคือ เข้ามาในตลาดมีขาดทุนสะสมอยู่ 970 ล้านบาท ด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคปเป็นรายที่สาม ต่อจาก ANAN และ PACE เมื่อเปิดตลาดก็หลุดจองทันที ที่ 1.75 บาทเป็นราคาต่ำสุดของวัน
หลังจากนั้น มีแรงซื้อกลับดันราคาไปที่ราคาจอง ด้วยมูลค่าคึกคัก จนถึงที่ราคา 1.97 บาท ได้ประมาณ 5 นาที จากนั้นมีแรงเทขายหนาแน่นจนหลุดมาที่ 1.90 จุด เป็นราคาปิดตลาดเช้า เปิดตลาดบ่าย ราคาถูกแรงขายถ่วงลงไปที่ 1.88 บาท ก่อนมีแรงซื้อกลับระลอกใหม่ ดันราคาขึ้นไปที่จุดสูงสุดของวัน 2.02 บาท ตอนก่อนปิดตลาด 15 นาที แต่ท้ายตลาดก็มีแรงขายถล่มให้ราคาร่วงผล็อย ปิดตลาดที่ระดับ 1.86 จุด
จากสัญญาณเทคนิคอย่างเดียว ราคาหุ้น ORI มีโอกาสลงต่ออีกในวันนี้ จนกว่าจะถึงจุดต่ำสุดที่นักลงทุนพึงพอใจเข้าซื้อ แต่ราคาหุ้น TFG จะมีโอกาสลุ้นพอสมควรว่าสามารถกลับมาพ้นราคาจองได้
ความแตกต่างของ ORI และ TFG อยู่ที่ไหน
คำตอบสำคัญสุดคือที่จำนวนหุ้นและราคา เรื่องอื่นล้วนเป็นรองทั้งสิ้น
บริษัทแรกหุ้นไม่มาก แต่ราคาตั้งไว้สูง (แม้จะอ้างว่าเป็นราคาที่ลดแล้ว จนพี/อีต่ำมากแค่ 5 เท่า) เพราะมั่นใจพื้นฐานของกิจการ ที่ก่อตั้งมาแค่ 6 ปีก็เติบโตรวดเร็ว เพราะมีประสบการณ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหาร
บริษัทหลัง เข้ามาด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ที่สุ่มเสี่ยงหลุดจอง เพราะจำนวนหุ้นมาก (ภาษาตลาดเรียกว่า “หุ้นตัวหนัก”) แต่ราคาที่ตั้งไว้ต่ำแค่ 1.95 บาท ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าเสี่ยงต่ำกว่า รวมทั้งซื้อเพราะเกรงใจ หรือ อยากช่วยเหลือมาร์เก็ตติ้งที่เว้าวอนให้ช่วยซื้อ ทั้งๆที่รู้แล้วว่าเสี่ยงมาก ไม่ได้เป็นตามคำกล่าวโม้ที่ว่า คนจองล้นหลายเท่าอย่างใด
หากย้อนกลับไปดูหุ้นที่หลุดจองในปีนี้หลายราย จะพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นหลัก เพราะ 2 เหตุคือ มีจำนวนหุ้นมาก หรือถ้าไม่มากก็ตั้งราคาสูงอย่างมั่นใจ ในขณะที่หุ้นที่เข้าตลาด mai เกือบทั้งหมดพ้นจองทั้งสิ้น
หุ้นเข้าเทรดวันแรกพ้นจองหรือหลุดจอง มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ ทั้งระยะสั้นและยาวอย่างลึกซึ้ง
สำหรับที่ปรึกษาการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์ หากหุ้นเทรดวันแรกของลูกค้าเจ้าของหลักทรัพย์ (issuer) แล้วราคาไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือที่เลวร้ายกว่านั้น ปรับตัวลงต่ำกว่าราคาจองซื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทและโอกาสในการหาลูกค้ารายใหม่
สำหรับบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ มันหมายถึงโอกาสที่จะเสียหายในอนาคต ในเรื่องของมูลค่าผู้ถือหุ้น และ โอกาสในการระดมทุนรอบต่อไปที่จะมีต้นทุนแพงขึ้น โดยปริยาย เพราะบางบริษัทที่หุ้นหลุดจอง โอกาสที่ราคาหุ้นในอนาคตจะตกอยู่ในสภาพ “บริษัทดีมาก หุ้นเลวมาก” ได้ง่าย ตัวอย่างใกล้ๆ นี้คือ กรณีของหุ้น JSP1,SLP, PLAT และ GPSC
ทุกครั้งที่หุ้นมีอาการหลุดจอง จะมีการออกมาแก้ตัวพัลวัน เช่น ปัจจัยภายนอกไม่เอื้ออำนวย หรือโทษว่านักลงทุนไม่อ่านหนังสือชี้ชวนดีพอ หรือ ผลประกอบการด้านที่มีตัวเลขเชิงลบบางอย่าง ไม่ได้หมายความหุ้นไม่ย่ำแย่…อะไรทำนองนี้
การพยายามขับเคลื่อนให้หุ้นพ้นจากสภาพหลุดจองเมื่อเข้าเทรดวันแรก จึงถือเป็นภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการนำหุ้นเข้าระดมทุนไอพีโอ
บางยุคสมัย ในช่วงที่ตลาดหุ้นย่ำแย่ ตลาดหลักทรัพย์ไทย เคยยินยอมให้มีการนำเอากลยุทธ์รองเท้าเขียว (greenshoe option) มาใช้ เหตุผลเชิงทฤษฎีที่ใช้อ้าง คือ ทำให้ความผันผวนของราคาหุ้นที่เข้าเทรดวันแรกน้อยลง เพราะจะมีการซื้อหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำมาชดเชยหุ้นที่ถูกจัดสรรเกินออกไป แต่ทางปฏิบัติ ก็รู้กันว่า กลยุทธ์นี้ ช่วยประคองราคาหุ้นไม่ให้หลุดจองได้ระดับหนึ่ง
คนที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาหุ้นไอพีโอระดมทุนในตลาด ล้วนกลัวหุ้นหลุดจองทั้งนั้น ยกเว้นผู้บริหารโบรกเกอร์และผู้บริการตลาดหลักทรัพย์ฯบางคนเท่านั้น ที่ไม่รู้สึกรู้สา หรือ มีมุมมองประหลาดว่าหุ้นที่พ้นจองมากเกินไป เป็นสิ่งที่ต้องตีกรอบเข้มงวด
คนพวกนี้ นอกจากไม่เคยสนใจว่า หากมีการหลุดจองแล้ว ใครจะรับผิดชอบ เพราะบางทีในส่วนลึกของจิตใจอาจรู้สึกสาแก่ใจก็ได้ เมื่อเห็นหุ้นหลุดจอง