ลมหายใจธุรกิจสปา

ที่ประชุมศบค. เห็นชอบว่าด้วยเรื่องข้อเสนอปรับมาตรการสำหรับ 9 กิจกรรม และกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่สามารถเปิดให้บริการได้


ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบว่าด้วยเรื่องข้อเสนอปรับมาตรการสำหรับ 9 กิจกรรม และกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) ที่สามารถเปิดให้บริการได้ หนึ่งในนั้นคือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด, สปา) เปิดดำเนินการได้ ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ธุรกิจสปาได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบันธุรกิจนวดสปา สามารถประกอบธุรกิจต่อได้เพียงแค่ 20% จากจำนวนผู้ประกอบการในระบบกว่า 9,000 ราย ส่วนอีก 80% ที่ปิดตัวลง โดยมีการประเมินกันว่า เป็นการปิดตัวชั่วคราว 10% ส่วนอีก 70% ปิดตัวลงอย่างถาวร เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติหดหายมาเกือบ 2 ปี

เลวร้ายกว่านั้นรัฐบาลไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจนวดสปา หรือรับอานิสงส์เชิงบวกจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลเลย โดยเฉพาะเยียวยาด้านการเงิน อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจสปา และ Wellness ของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 35,000 ล้านบาท และมีการเติบโตอยู่ที่ปีละ 5-7% เนื่องมาจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลก โดยธุรกิจสปา-นวดไทย ติดอันดับ 16 ของโลก และติดอันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชีย จัดเป็นทั้ง Medical Tourism สำหรับต่างชาติ และเป็นตลาดความงามสำหรับคนไทย โดยตลาดสปา-นวด มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 23% ของตลาดความงามทั้งหมด

สำหรับธุรกิจสปา-นวดของไทยจัดแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ แบบทั่วไป อยู่ตามแหล่งชุมชน อาคารสำนักงาน หรือห้างสรรพสินค้า (เน้นการทำทรีตเมนต์ระยะเวลาตั้งแต่ 30-210 นาที) แบบ Destination ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีห้องพักให้ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการเข้าพักได้ และ Hotel spa เป็นสปาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงแรม โดยเน้นโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นหลัก

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีผู้ประกอบการธุรกิจด้านสปาเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสปาคือ บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA มีแบรนด์ในเครือเริ่มตั้งแต่ Let’s Relax (ธุรกิจนวด-สปา 4 ดาว), Rarinjinda (ทั้งธุรกิจสปา 5 ดาวและรีสอร์ท), Siam Wellness Lab (ผลิตภัณฑ์สปา), Deck1 (ร้านอาหาร), Siam Wellness Thai Massage and Spa School (โรงเรียน) และ BaanSuan (นวดแผนไทย ระดับ 2-3 ดาว)

ถือเป็นหนึ่งธุรกิจสปารายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักเช่นกัน ดูได้จากตัวเลขงบการเงินปี 2563 มีรายได้เพียง 435 ล้านบาท มีผลขาดทุนสุทธิ 209 ล้านบาท จากปกติมีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท และมีกำไรเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท ล่าสุดงวดครึ่งปี 2564 มีรายได้เพียงแค่ 80 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 163 ล้านบาท

การปลดล็อกมาตรการคุมเข้ม เพื่อให้ “ธุรกิจสปา” กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง อาจเป็นเพียงให้บรรยากาศดูดีขึ้นเท่านั้น แต่ไม่อาจบ่งบอกได้ว่าธุรกิจสปา จะฟื้นกลับมาได้มากน้อยเพียงใด เพราะช่วงที่ผ่านมา มีหลายกิจการต่าง “หมดลมหายใจ” จนต้องปิดตัวลงอย่างถาวรอย่างน่าเสียดาย

ปัญหาอยู่ที่ผู้ที่ยังประคองตัวประกอบกิจการจะมี “ลมหายใจ” เพื่อรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลัก ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่หดหายลงอย่างชัดเจน..!!!

Back to top button