พาราสาวะถี
ลงรวจน้ำท่วมจังหวัดชัยภูมิ นอกจากเสียงของประชาชนที่คุ้นหู “นายกฯ สู้ ๆ ลุงตู่สู้ ๆ” อีกด้านก็ “มาทำไม ประยุทธ์ออกไป” แต่นายกกลับทำหูทวนลม
ในวันที่ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมจังหวัดชัยภูมิเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นอกจากเสียงของประชาชนที่รู้กันอยู่ว่ามาด้วยใจหรือปัจจัยอื่นกับวลีคุ้นหู “นายกฯ สู้ ๆ ลุงตู่สู้ ๆ” อีกด้านก็ปรากฏเสียงของฝ่ายต่อต้านที่ตะโกนไล่ “มาทำไม ประยุทธ์ออกไป” แต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับทำหูทวนลม พร้อมกับบอกคนที่ติดตามว่า “เขาพูดว่าอะไร คนที่ไม่ให้เราอยู่ใช่ไหม ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติ” เมื่อเข้าใจความเป็นธรรมชาติเช่นนี้ ก็ไม่ควรที่จะมีการปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมขับไล่ในกทม.
ท่วงทำนองที่แสดงออกจึงเป็นเพียงแค่การแสดงความนิ่งกลบเกลื่อนความขุ่นมัวในหัวใจ ซึ่งด้วยลักษณะนิสัยของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว ไม่ต้องการได้ยินเสียงที่สร้างความระคายเคืองโสตประสาทเช่นนี้ ถ้ามีคนมาพินอบพิเทาก็แสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะประเคนสิ่งต่าง ๆ ให้ด้วยความเต็มใจ เป็นธรรมดาของคนที่ทั้งชีวิตถนัดแต่สั่งให้ลูกน้องซ้ายหันขวาหัน มันจึงแก้ไม่หาย ใครขัดใจหรือทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต้องดำเนินการเด็ดขาด
ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คนไทยได้ยินได้ฟังกันจนชินหูคือ ทุกอย่างว่ากันด้วยตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ก็รู้กันอยู่ว่ากฎหมายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ถูกนำไปใช้เพื่อการใด และที่เขียนกันขึ้นมาใหม่ก็เพื่อตอบสนองอำนาจเผด็จการและขบวนการสืบทอดอำนาจ ในประเด็นความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมนั้น จดหมายของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เขียนถึงประธานศาลฎีกาจึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
หัวจดหมายของสมชายนั้นระบุว่า คืนความยุติธรรมกลับสู่กระบวนการยุติธรรม โดยชี้ว่าเป็นที่รับรู้กันทั่วไปนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ได้เกิดความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดปราบต่อผู้ที่เห็นต่าง และกระบวนการยุติธรรมได้ถูกดึงให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ มีข้อมูลและสถิติที่แสดงให้เห็นถึงการจับกุมบุคคลและการดำเนินคดีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอันสะท้อนถึงห้วงเวลาที่ไม่ปกติเป็นอย่างมาก
ศาลยุติธรรมก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการท้าทายและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าในระยะแรกความเห็นดังกล่าวนี้อาจยังไม่ดังมากเท่าไหร่ แต่ภายหลังจากการเคลื่อนไหวของประชาชนเมื่อปี 2563 ซึ่งมีประชาชน นักศึกษา เยาวชน และกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจับกุมและดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ศาลยุติธรรมก็ได้ตกเป็นเป้าแห่งการวิจารณ์อย่างมากว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักวิชาแต่อย่างใด
นับตั้งแต่เรื่องสิทธิการประกันตัว การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุม คำตัดสินที่ดูราวกับมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในห้วงเวลานี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง เป็นที่น่าเสียดายว่าในท่ามกลางกระแสการวิจารณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ปรากฏการชี้แจงหรือการแสดงเหตุผลที่จะช่วยทำให้ความกังขาของผู้คนได้คลี่คลายลง
ดังจะเห็นได้ว่ายังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่รวมไปถึงความสงสัยที่มีความเป็นกลางของผู้พิพากษาซึ่งเคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มกปปส. แทบทั้งหมดมีเพียงความเงียบงัน และหลายครั้งก็มีการใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ที่แสดงความเห็นโต้แย้ง แน่นอนว่า สิ่งที่สังคมอยากได้ยินและฟังชัด ๆ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานคือ การร่วมชุมนุมที่อ้างสิทธิส่วนบุคคลทั้งที่ตัวเองมีหัวโขนเช่นนี้ทำได้หรือไม่
ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องอธิบายให้ชัด ๆ แล้วที่ไปร่วมเป่านกหวีดจนเกิดเป็นคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ คนเหล่านั้นจะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หากบอกว่าได้เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล มันก็จะเกิดคำถามที่ชวนให้คิดต่อไปว่า เช่นนั้นประชาชนทั่วไปที่ก็มีสิทธิส่วนบุคคลเหมือนกันจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของตุลาการในคดีหนึ่งคดีใดที่เห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมได้หรือไม่ โดยเฉพาะกับศาลการเมืองอย่างศาลรัฐธรรมนูญ
ในมุมของสมชายมองว่าในวาระที่ได้ตัวประมุขฝ่ายตุลาการคนใหม่นั้น น่าจะนับเป็นโอกาสอันดีที่ควรจะได้มีการทบทวนถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้คำอธิบายต่อสาธารณะให้หลายประเด็นที่เป็นคำถาม ซึ่งสร้างความกังขาให้เกิดขึ้นในหลากหลายคดี ควรจะต้องเป็นการกระทำซึ่งสามารถอธิบายด้วยเหตุผลให้เห็นว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามหลักวิชาด้านกฎหมายตามระบบกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่มีเจตนาเพียงการปกป้องอำนาจรัฐเท่านั้น หากแต่ยังต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนควบคู่กันไป
รวมถึงการดำรงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่อันจะนำมาซึ่งความไว้วางใจของสังคมที่มีต่ออำนาจตุลาการ ทั้งนี้ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากเหตุปัจจัยจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เช่น กระบวนการตรวจสอบภายในและภายนอกที่มีต่อฝ่ายตุลาการ แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ ระบบความรู้ด้านนิติศาสตร์ ลำพังเพียงบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาก็คงไม่อาจแก้ไขความยุ่งยากอะไรได้มากนัก
แต่อย่างน้อยการนำพาองค์กรให้เดินไปสู่ทิศทางของการเป็นฝ่ายตุลาการที่ยืนอยู่บนหลักวิชาและความรู้ด้านกฎหมายคงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ให้แผ่ขยายไปมากขึ้น โดยที่สมชายย้ำว่าข้อเรียกร้องในที่นี้ไม่ได้ต้องการให้อำนาจตุลาการต้องเอียงเอนเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการเรียกร้องให้อำนาจตุลาการทำหน้าที่ในแบบที่ควรจะเป็น หลักวิชาทางกฎหมายที่ได้รับการยอมรับและยึดกันควรต้องมีความสำคัญในการพิจารณาต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนที่อ้างข้อกฎหมายเล่นงานคนอื่นแต่กลับทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง