TFG นายทุนปล่อยกู้.?

เห็นขายหมู ขายไก่ มานานหลายปีดีดัก ไม่คิดว่าจู่ ๆ TFG จะครึ้มอกครึ้มใจ ผันตัวเองมาทำไฟแนนซ์ หรือเป็นนายทุนปล่อยกู้ซะงั้น..!


เห็นขายหมู ขายไก่ มานานหลายปีดีดัก ไม่คิดว่าจู่ ๆ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG จะครึ้มอกครึ้มใจ ผันตัวเองมาทำไฟแนนซ์ หรือเป็นนายทุนปล่อยกู้ซะงั้น..!!

ล่าสุดก็เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้บริษัทลูกในนาม บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส จำกัด รุกปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ฮับ” วงเงินสูงสุด 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยที่ 2.08% ต่อเดือน สามารถเลือกผ่อนได้ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

ว่าแต่ TFG คิดอะไรอยู่นะ…ทำไมจึงผันตัวมาเป็นนายทุนปล่อยกู้..? อันนี้น่าคิด…

โอเค…ก็เป็นการแตกไลน์ธุรกิจเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ หรือเป็นการหาลำไพ่พิเศษ ก็เข้าใจได้…แต่คำถามที่ตามมา ทำไมต้องเป็นธุรกิจไฟแนนซ์..?

ถ้าให้วิเคราะห์ อันดับแรก…ต้องยอมรับว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของคนทั่วไปยังน้อย ก็เลยทำให้ตลาดนี้ยังมีแก๊ปอีกมาก กลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่แห่ชิงเค้กก้อนนี้…

ที่สำคัญ สินเชื่อประเภทนี้ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาลงและอยู่ในระดับต่ำมานาน หาก TFG มีเงินทุนเหลือ ครั้นจะไปฝากแบงก์ก็ให้ผลตอบแทนต่ำ สู้นำไปปล่อยกู้สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ดีกว่าเหรอ…หรือกรณีที่ TFG ไปกู้แบงก์มา ด้วย TFG เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเครดิตที่ดี ก็สามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ พอนำไปปล่อยกู้ ก็มีแก๊ปให้เล่นอีกเยอะ…

แล้วอย่าลืมว่า แบงก์ชาติกำหนดเพดานสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 25% ต่อปี ขณะที่มันนี่ฮับจะคิดดอกเบี้ยที่ 2.08% ต่อเดือน แหม๊…ตอนแรกก็ดูเหมือนน้อยนะ แต่ถ้าลองกดเครื่องคิดเลขดูจะพบว่า ดอกเบี้ยอยู่ที่ 24.96% ต่อปี เกือบชนเพดานเลยทีเดียว…

ขณะที่ทาร์เก็ตของ TFG ชัดเจนว่า จะปล่อยให้กับกลุ่มพนักงาน ลูกค้า เกษตรกรและบุคคลทั่วไป…ถ้าเป็นพนักงานในเครือ TFG ก็มีโปรไฟล์อยู่แล้ว สามารถบริหารจัดการได้ง่าย ควบคุมง่าย ความเสี่ยงต่ำ มีฐานเงินเดือนรองรับอยู่แล้ว

ส่วนกลุ่มคู่ค้าหรือเกษตรกร ก็จะได้มีเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจ อย่างคู่ค้าเอง ก็จะมีเงินมาซื้อหมู ซื้อไก่ ของ TFG มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรก็จะมีเงินทุนไปขยายฟาร์มให้ใหญ่ขึ้น สุดท้ายก็กลับมาขายให้กับ TFG …เคสนี้ไม่ต่างจากการเปลี่ยนคู่ค้ามาเป็นลูกหนี้นั่นแหละ…

โมเดลนี้คล้ายคลึงกับกรณีบริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC ที่มีสินเชื่อรถหัวลากเพื่อปล่อยกู้ให้กับกลุ่มพันธมิตร หรือคู่ค้า ภายใต้โมเดล “โลจิสซิ่ง” (โลจิสติกส์+ลิสซิ่ง)…

ในส่วนของ TFG แม้รายได้จากการปล่อยสินเชื่ออาจยังไม่มาก เมื่อเทียบกับการขายหมู ขายไก่ปีหนึ่ง ๆ ที่อยู่ระดับ 25,000–30,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นโอกาสใหม่ที่น่าสนใจ เพราะดูแล้วมาร์จิ้นน่าจะดีกว่าขายหมู ขายไก่เยอะ

ดังนั้น หากสินเชื่อส่วนบุคคล “มันนี่ฮับ” ไปได้สวย ได้รับการตอบรับที่ดี ไม่แน่ต่อไป TFG อาจขยายไปสู่สินเชื่อประเภทอื่น ๆ เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ อีกก็เป็นได้…

อย่างน้อย ๆ ก็คงช่วยชดเชยรายได้จากการขายหมู ขายไก่ ที่หายไปในช่วงที่ราคาตกต่ำได้บ้าง ไม่ทำให้งบการเงินของ TFG สวิงจนเกินไป…

เอ๊ะ…หรือวันดีคืนดี TFG  อยากสลัดคราบพ่อค้าหมู พ่อค้าไก่ ไปเป็นนายทุนปล่อยกู้เต็มตัวก็ได้…ใครจะไปรู้…

…อิ อิ อิ…

Back to top button