‘การบินไทย’ กับมรสุมทัศนวิสัย.!

หลังศาลล้มละลายกลาง THAI การเปลี่ยนแปลงของการบินไทย เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อนำเงินมาใช้สำหรับประคองธุรกิจช่วงขาดสภาพคล่องอย่างหนัก


หลังศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เมื่อวันที่  15 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือน การเปลี่ยนแปลงของการบินไทย เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ด้วยการขายสินทรัพย์รอง (Non-Core Assets) เพื่อนำเงินมาใช้สำหรับประคองธุรกิจช่วงขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

เริ่มตั้งแต่การตัดขายที่ดินและอาคารสำนักงานศูนย์อบรมหลักสี่ เนื้อที่กว่า 19 ไร่ให้บริษัท  เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มูลค่ากว่า 1,810 ล้านบาท การตัดขายหุ้นบริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุง เทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ให้บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มูลค่ากว่า 2,712 ล้านบาท

การตัดขายหุ้นบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มูลค่ากว่า 278 ล้านบาท พร้อมประกาศขายเครื่องยนต์ที่ไม่ใช้งานแล้ว ประเภท CFM56-3C1 ติดตั้งกับเครื่องบิน B737-400 รวม 5 เครื่องยนต์ การประกาศขายเครื่องบินที่ไม่ใช้งาน 42 ลำ และล่าสุดครัวการบินไทย เปิดประมูลหาผู้รับสิทธิ์ “มาสเตอร์แฟรนไชส์  Puff & Pie” ระยะเวลา 5 ปี

ส่วนแผนลดค่าใช้จ่าย “การบินไทย” มีเป้าหมายปี 2565 จะปรับลดค่าใช้จ่ายลงเหลือระดับ 53,000 ล้านบาท จากปี 2562 เคยมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 196,470 ล้านบาท ตามด้วยลดจำนวนบุคลากรทุกระดับชั้นด้วยโครงการสมัครใจลาออกปี 2562 มีพนักงาน 29,500 คนปี 2563 ลดลงเหลือ 21,300 คนและปี 2564 เหลือ 15,300 คน ถือเป็นการลดขนาดองค์กร เพื่อทำให้คล่องตัวและการแข่งขัน

มีการปรับลดจำนวนเครื่องบินจากเกือบ 100 ลำ เหลือ 58 ลำ ลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ เป็นแบบเครื่องบินที่มีต้นทุนต่ำลงและเหมาะสมกับเส้นทางบิน รวมทั้งต้นทุนการดูแลซ่อมบำรุง พร้อมเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่อง บินใหม่ จ่ายตามชั่วโมงบิน จากเดิมเป็น Fixed cost ปรับเป็น Available cost แทน

จุดที่น่าสนใจคือการปรับโครงสร้างทุนกับการเพิ่มทุนจาก 21,828 ล้านบาท เป็น 218,277 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 19,645 ล้านหุ้น จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 9,822 ล้านหุ้น เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนราคาหุ้นละ 2.5452 บาท และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนอีก 9,822 ล้านหุ้น ให้แก่เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ ราคาหุ้นละ 2.5452 บาทด้วยเช่นกัน

การเพิ่มทุนดังกล่าว..ทำให้การบินไทย ปลดเปลื้องและลดภาระหนี้ที่มีอยู่กว่า 410,000 ล้านบาท พร้อมกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาเสริมสภาพคล่องกว่า 25,000 ล้านบาท

แต่ปัญหาใหญ่ของ “การบินไทย” อยู่ที่แผนการสร้างหรือจัดหารายได้ แม้ล่าสุดเริ่มมีการให้บริการคาร์โก้และชาร์เตอร์ไฟลท์ ส่วนธุรกิจหลักขายตั๋วโดยสารเส้นทางยุโรป (อังกฤษ-ฝรั่งเศส-เยอรมนี) ออสเตรเลียและญี่ปุ่น แต่นั่นไม่เพียงพอกับการฟื้นตัวกลับมาของการบินไทยอย่างแน่นอน

โจทย์ใหญ่ของการบินไทย…จึงอยู่ที่แผนฟื้นกิจการที่ผู้บริหารยอมรับช่วงปี 2564-2565 ต้องการเม็ดเงินทุนมากถึง 50,000 ล้านบาท จากสินเชื่อใหม่สถาบันการเงิน หรือระดมทุนจากประชาชนทั่วไป พร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ รูปแบบเงินกู้หรือค้ำประกันในรูปแบบต่าง ๆ

ปัญหาคือ “การบินไทย” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว หลังพ้นสถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ นั่นทำให้เป้าหมายการได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินเกิดข้อจำกัดมากขึ้น ส่วนแผนการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ดูจากการถดถอยของธุรกิจการบินและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เคยมีเริ่มหมดลงไป จึงเป็นเรื่องที่แทบไม่มีโอกาสเป็นไปไม่ได้เลย

ทำให้ “การบินไทย” เผชิญมรสุมทัศนวิสัยที่เลวร้าย..ที่ยังไม่สามารถตอบได้เลยว่าจะพ้นหรือจมอยู่ในมรสุมทัศนวิสัยอันเลวร้ายนี้อย่างไร.และอีกนานแค่ไหน!?

Back to top button