นักลงทุน กับ ปมกอร์เดี้ยนพลวัต2015
จะเป็นไปได้ตามทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่ว่า การวิ่งขึ้นกะทันหันและรุนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้นทั่วโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรงกับศัพท์เทคนิคของการเก็งกำไรที่ว่า breaking out (ผ่าทางตันกลับขั้ว) เป็นการสร้างสถานการณ์ของเฟดฯและทุนเก็งกำไรข้ามชาติที่เรียกว่าเฮดจ์ฟันด์
จะเป็นไปได้ตามทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่ว่า การวิ่งขึ้นกะทันหันและรุนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้นทั่วโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรงกับศัพท์เทคนิคของการเก็งกำไรที่ว่า breaking out (ผ่าทางตันกลับขั้ว) เป็นการสร้างสถานการณ์ของเฟดฯและทุนเก็งกำไรข้ามชาติที่เรียกว่าเฮดจ์ฟันด์
โจทย์นี้มองได้ทั้งน่าหัวร่อในจินตนาการเฟื่องฝันกลางวันกลางฤดูฝน และน่าเวทนาในความเป็นไปไม่ได้
สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ใช่สถาบันที่มีหน้าตักเงินถัง ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องต้องมาขบคิดเพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักความไร้เหตุผลทางพฤติกรรมของตลาดธรรมดา
คิดง่ายๆ แบบนักวิเคราะห์สัญญาณทางเทคนิคล้วนๆ นี่คือการถอนหายใจชั่วคราวของตลาดขาลงเท่านั้นเอง เพราะเมื่อดัชนีหรือราคาหุ้นรับข่าวร้ายมากจนการขายแทบหมดหน้าตักเข้าเขตขายมากเกินแรงซื้อย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานปัจจัยของตลาดหรือคุณภาพของสินค้าหรือหลักทรัพย์แต่อย่างใด
สำหรับระยะเฉพาะหน้า สถานการณ์จริงที่นักลงทุนรายย่อยต้องสนใจยามนี้ คือสัญญาณขาขึ้นของดัชนีและหุ้นรายตัวที่เราถืออยู่ เมื่อใดที่สัญญาณดัชนีเข้าเขตซื้อมากเกินเมื่อใด (ซึ่งเมื่อวันศุกร์เย็นตอนปิดตลาด เป็นเช่นนั้น) การขายเมื่อมีกำไรโดยไม่ต้องสนใจราคาสูงสุดคือ margin of safety ที่ดีสุดตามสูตรของเบนจามิน แกรห์ม
พ้นจากนั้นคือความสุ่มเสี่ยง เพราะโดยข้อเท็จจริง ทุกครั้งที่ตลาดเกิดปรากฏการณ์ breaking out สัญญาณทางเทคนิค จะเข้าสู่เขตซื้อมากเกินเร็วกว่าปกติเสมอ คนที่หลงระเริงจะกลายเป็นแมงเม่าปีหักง่ายดายมาก กว่ารู้ตัวเงินหน้าตักก็ไม่เพียงพอให้แก้ตัวใหม่ เว้นแต่จะตัดขาดทุนขายที่ติดเอาไว้บางส่วน
นี่คือเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve) ภาคปฏิบัติที่นักลงทุนต้องหมั่นทำความเข้าใจเฉกเช่นคนกำหนดนโยบายรัฐเช่นกัน ต่างกันแค่รายละเอียดเท่านั้น
กรณีของเฟดฯของสหรัฐฯเป็นต้นแบบที่ดี หลังจากตกเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักลงทุนข้อหาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพราะการจ้างงานเต็มที่ตามสูตรเดิม เส้นโค้งของฟิลลิป (Phillip’s Curve) ที่เคยยึดถือมา นานหลายเดือน แต่ถึงเวลาชี้ขาดกลับมีมติ 9:1 ระงับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยอ้างสาเหตุจีน และตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งนอกจากฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังทำให้ตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์มั่วโลก ปั่นป่วนมากกว่าเดิม ราคาร่วงสู่แนวรับต่ำกว่าเดิม
ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่นี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะคนที่นั่งในเฟดฯรู้ดีแบบน้ำท่วมปากว่า ข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์นั้น นอกจากไม่เป็นไปตามทฤษฎีเดิมแล้ว ยังหาทฤษฎีใหม่ที่เป็นสูตรยาขนานเอก“มาใช้ไม่ได้หรือใช้ได้ก็เข้าตำราหมอผ่าตัดมือใหม่ผ่าไปกางตำราไป”
ในอดีตเมื่อใดที่พูดถึงเฟดฯจะขึ้นดอกเบี้ย คนจะพากันย้ายมาถือดอลลาร์เพิ่ม ทิ้งเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งถอนตัวจากตลาดเกิดใหม่ แต่ครั้งนี้ทันที่ทีค่าดอลลาร์เริ่มขยับตัวแข็งขึ้น กำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกันที่เคยสวยงามก็ถูกคาดหมายว่าจะลดฮวบลง
โดยเฉพาะรายได้จำนวนมากของยักษ์อเมริกันมาจากจีนและเอเชียมากอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การทำให้หรือไม่ต้องทำแต่เศรษฐกิจจีนแย่ลง คือการทำร้ายบริษัทข้ามชาติอเมริกันโดยตรงและอ้อม
เฟดฯนั้นอาจตระหนักในความใหญ่ของเศรษฐกิจจีน แต่ในแง่มุมอื่น ลืมไปว่าความสำเร็จเป็นขาขึ้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่เป็นแกนกลางของการผลิตและการตลาดโลก
จีนปัจจุบันและอนาคตคือผู้ซื้อวัตถุดิบ สินค้าคงทน สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าสำเร็จรูปใหญ่ระดับหัวแถวและบางทีอันดับหนึ่งของโลก มีตลาดเงินและตลาดทุนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แล้วความใหญ่ดังกล่าวทั้งหมดบริษัทข้ามชาติอเมริกันมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งอย่างแยกไม่ออก
เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวลง การสั่งซื้อสินค้าทุกชนิดจากจีนหดหายไป และธุรกิจจีนเร่งระบายสินค้าเหลือขายออกมานอกประเทศ เร่งกดดันให้ธุรกิจในภาคบริโภคและการผลิตทั่วโลกเข้าสู่ขาลง และส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พังทลายโดยปริยาย
บทบาทของเฟดฯที่เคยเล่นบทบาทเชิงรุก (ไม่ว่าจะเป็นสายเหยี่ยวหรือพิราบ) มายาวนานหลายทศวรรษโดยเฉพาะยุคหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐฯเป็นแกนกลางของโลก จึงเริ่มทำงานลดประสิทธิผลลง
อิทธิที่ลดลงเพราะสถานการณ์และโครงสร้างระเบียบโลกที่ไม่เหมือนเดิมทำให้ทฤษฎี Phillip’s Curve ที่เคยระบุว่า เมื่อการว่างงานลดลง เงินเฟ้อต้องสูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยสกัดขาขึ้นเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งพึงกระทำ จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนว่า การว่างงานลดลงมาจนเลยจุดจ้างงานเต็มที่ในสหรัฐฯยามนี้ (ว่างงานติดลบ แต่เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้า 2.0% อย่างมาก) และอีกนานกว่าจะถึงจุดนั้น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มค่าแรงขึ้นได้ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจพังลงได้ เพราะยึดตามทฤษฎีที่ตกยุคไปแล้วด้วยการดันทุรังขึ้นดอกเบี้ย
วันนี้เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันกลับมาเป็นขาขึ้นชั่วคราวใน 1 สัปดาห์ เพราะตลาดมีภาวะbreaking out แม้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ายั่งยืนแค่ไหนเพราะภาพรวมเศรษฐกิจและการบริโภคยังเปราะบาง ก็ถือว่าเข้าทางของเฟดฯให้คณะกรรมการ พากันดาหน้าออกมาโยนก้อนหินถามทางรอบใหม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งปลายปีนี้หากว่าเป้าเงินเฟ้อเริ่มมีแสงสว่างปลายอุโมงค์จากภาวะbreaking out นี้
โจทย์ตั้งคำถามถึงทฤษฎีสมคบคิด อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้คำตอบ แต่ดึงสตินักลงทุนได้ในระดับหนึ่งว่าสัญญาณขาขึ้นชั่วคราว และสัญญาณขาลงในโอกาสต่อไปนั้น เป็นไปได้เสมอ ท่ามกลางตลาดที่นับวันดัชนีความแปรปรวนจะยิ่งครอบงำตลาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และคาดเดายากลำบากขึ้น
คล้ายกับปมกอร์เดี้ยนในตำนานกรีกโบราณ