พาราสาวะถี
จะเป็นจุดเริ่มต้นของเชื้อมาสู่การแพร่ระบาดรอบใหม่อีกหรือไม่ งานนี้มีความเห็นทั้งจากหมออาชีพ ไปถึงหมอดู คนไทยต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะกันให้ได้
เรียกกระแสวิจารณ์อย่างล้นหลาม หลังจากที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาถึงการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่หนีไม่พ้นคือข้อกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ ว่าการเปิดให้คนต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่มีการกักตัวแม้จะเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ จะเป็นจุดเริ่มต้นของเชื้อนำเข้า นำมาสู่การแพร่ระบาดรอบใหม่อีกหรือไม่ งานนี้มีความเห็นทั้งจากหมอการเมือง หมออาชีพ รวมไปถึงหมอดู ซึ่งคนไทยต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะกันให้ได้
โดยในส่วนของหมอดูนั้นคงตัดไปได้ เพราะถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลและอิงอยู่กับข้อสันนิษฐานที่เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ย่อมที่จะมีโอกาสของเชื้อนำเข้าได้อยู่แล้ว แต่ในทางการแพทย์ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงหมอการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขที่รับนโยบายมาแบบต้องปฏิบัติตามให้ได้ ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะรองรับกับคำบัญชาการเพื่อความเป็นไปได้ ส่วนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่แถลงออกมาก็ใช้หลักไอโอแบบที่ใช้มาตลอดชีวิตเพื่อให้คนเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม หมออาชีพที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลมาโดยตลอดอย่าง นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ ซึ่งคงจะช่วยเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้ตระเตรียมในการรับมือกับการเปิดประเทศได้เป็นอย่างดี โดยที่หมอประสิทธิ์ยืนยันว่า หากมีการถามเรื่องเปิดประเทศเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตนคงไม่เห็นด้วย แต่ ณ วันนี้ สามารถที่จะดำเนินการได้ ด้วยชุดข้อมูลที่มีอยู่ 3-4 ข้อมูล
ประการแรกอัตราการฉีดวัคซีนของคนในประเทศ จากข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วร้อยละ 50 ส่วนเข็มที่ 2 ก็เกิน 1 ใน 3 ไปแล้ว ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุตัวเลขการฉีดในแต่ละจังหวัดก็ดำเนินไปด้วยดี ซึ่งถ้าจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนมีมาก โอกาสที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงก็มีมากขึ้น แต่ที่หมอประสิทธิ์เน้นย้ำต่อการเปิดประเทศก็คือ ต้องทำ 3 มาตรการคู่ขนานกันไป
นั่นก็คือเรื่องวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจะต้องระดมฉีดวัคซีน ยืนยันว่าตอนนี้มีวัคซีนเพียงพอ เพราะในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนจะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 20 ล้านโดส ซึ่งกระบวนการฉีดจะต้องฉีดให้ได้มากพอ ถ้ามีวัคซีนพอแต่ไม่มีคนมาฉีดก็ไม่มีประโยชน์ และคนจะต้องยอมให้ฉีด เพราะถ้าคนไม่ยอมให้ฉีดก็จะลำบาก ทั้งนี้สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขทำก็คือไม่รอให้คนเดินมาฉีด แต่นำวัคซีนเข้าไปหาคน ซึ่งตรงนี้จะทำให้การฉีดวัคซีนได้มากขึ้น
โดยที่มาตรการสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลก็ตอกย้ำเช่นกัน คือมาตรการส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้ผ่อนไม่ได้เลย การเปิดประเทศโดยให้คนต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวและมาใช้บริการภายในประเทศไทย ทุกคนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะต้องรักษามาตรการตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ยังต้องรักษาระยะห่าง สถานประกอบการ บุคลากรที่อยู่ในสถานประกอบการ จำเป็นต้องตรวจ ATK เพื่อสร้างความปลอดภัย ไม่เฉพาะคนในหน่วยงานตัวเอง แต่รวมถึงผู้มารับบริการด้วย
ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันก็คือ มาตรการของระบบการบริหารจัดการ การปกครอง จะต้องเข้มงวดในระดับหนึ่ง ตราบใดที่มีมาตรการแต่คนไม่ทำตาม สุดท้ายจะเกิดการแพร่ระบาด ดังนั้นควรพยามติดตามมาตรการที่รัฐบาลออกมา กรณีคนต่างประเทศ หรือคนไทยเองที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ถ้าทุกคนทำตามข้อกำหนดอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะเกิดผลดี ไม่ใช่พูดแล้วไม่ทำ ก็จะประเมินมาตรการไม่ได้ แต่ถ้าทำตามมาตรการแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีก
แน่นอนว่ามาตรการของภาครัฐนี่เองที่เป็นจุดชี้วัดสำคัญ บทเรียนอันล้ำค่าจากการระบาดสองหนล่าสุดจนส่งผลรุนแรงถึงปัจจุบันนั้นก็เกิดจากการย่อหย่อนและความเห็นแก่ได้ของผู้อยู่ในอำนาจรัฐ ตามที่หมอประสิทธิ์สรุปส่งท้าย คาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะเยอะขึ้นที่มาจากทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา และเกิดจากความหย่อนยานของคนในประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะต้องมีการตรวจอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ส่วนคนในประเทศสิ่งที่ต้องระวังเป็นตัวอย่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกรณีนี้ก็คือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีมาตรการดี แต่มีคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าไปทำงาน ซึ่งคนที่หลบหนีก็ไม่ได้ผ่านการตรวจหาเชื้อ ประเด็นตรงนี้แหละที่จะต้องดำเนินการกันอย่างเข้มข้น อย่าเอาแต่ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยเป็นหูเป็นตา หรือจะเที่ยวไปโทษว่าเป็นเพราะภาคประชาชนหรือเอกชนเห็นแก่ตัว ใช้แรงงานผิดกฎหมายจนเป็นต้นตอของการระบาด จุดสำคัญที่ปล่อยให้มีแรงงานลักลอบผิดกฎหมายก็คือ ความย่อหย่อนหรือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น บทเรียนที่รัฐบาลไม่ได้เอ่ยปากขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นต่อการหวังรายได้จากการท่องเที่ยว แต่กลายเป็นต้นตอของการระบาดรุนแรงในระลอกปัจจุบัน นั่นก็คือการที่รัฐบาลไม่ยอมล็อกดาวน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการปล่อยให้ผู้คนไปเที่ยวสงกรานต์กันตามปกติ และสิ่งที่หมอการเมืองทั้งหลายยืนยันเมื่อย้อนกลับไปดูข่าวก็จะเห็นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมากหลังสงกรานต์ไม่เกิน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะดีขึ้นซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงและสร้างปัญหามาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากคนที่ยังไม่เชื่อใจต่อสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศออกมา และคำยืนยันทางวิชาการของฝ่ายที่ปรึกษาภาครัฐ ก็ต้องตัดแปะความเห็นของ นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ ที่ได้เตือนว่า ที่อื่นเค้าเปิดเมื่อพร้อม ทั้งเรื่องระบบตรวจคัดกรองพร้อม มีศักยภาพตรวจได้มาก ประชากรส่วนใหญ่ได้วัคซีนครบสองโดส ระบบตรวจสอบ ติดตามตัว ที่มีประสิทธิภาพ และสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรง คุมได้ดี
แม้กระนั้นหลายประเทศเปิดแล้วก็ยังเจอผลกระทบตามมาชัดเจน คำถามที่ควรคิดคือ หากเปิดขณะที่ระบบตรวจก็มีศักยภาพจำกัด ประชาชนในประเทศก็ยังได้รับวัคซีนครบโดสเป็นส่วนน้อย รวมถึงสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อก็ยังอยู่หลักหมื่นรายต่อวัน เมื่อเป็นเช่นนั้นหากจะเกิดคำถามจากประชาชนจำนวนไม่น้อยต่อการเปิดประเทศครั้งนี้ว่า “จะเกิดอะไรตามมา ?” ก็อย่าได้โกรธกัน