Squid Game เกาหลีฟีเวอร์ (อีกครั้ง)

มีการออกมาเตือนเกี่ยวกับซีรีส์เรื่อง Squid Game ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าอาจเกิดเป็นอาชญากรรม ผู้ปกครองจึงต้องคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด


การออกมาเตือนเกี่ยวกับซีรีส์ชื่อดังของเกาหลี เรื่อง Squid Game ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ว่า มีการนำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียงและพฤติกรรมรุนแรง มีทั้งฉากทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฉากผ่าศพ ฆ่าผู้อื่น เพื่อแก่งแย่งแข่งขันและเอาตัวรอด อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ทำให้ผู้รับชมมีพฤติกรรมรุนแรง หรือจินตนาการว่า อยู่ในสถานการณ์เดียวกับซีรีส์ จนอาจเกิดเป็นอาชญากรรม โดยเฉพาะเด็กหรือเยาวชน ผู้ปกครองจึงต้องคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

กลายเป็นตัวเร่งจุดประกาย “ความอยากรู้ยากเห็น” ซีรีส์เกาหลีดังกล่าวตามมาทันที..จากเดิม Squid Game ที่รู้จักกันในกลุ่มเฉพาะคอซีรีส์ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพียงชั่วข้ามคืน..!!

สำหรับ Squid Game เป็นซีรีส์เกาหลี มี 9 ตอน ฉายใน Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์ ต้องเสียเงินสมัครเป็นสมาชิกถึงจะเข้าดูได้ โดยเนื้อหาในซีรีส์ เป็นเรื่องของคนกว่า 400 คน ล้วนเป็นคนที่มีหนี้สิน มีปัญหาชีวิตหนัก ๆ ต้องการใช้เงิน ถูกชวนมาเล่นเกมชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1,200 ล้านบาท ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว…ส่วนคนที่แพ้ต้องเสียชีวิตไป

ภาพที่ปรากฏในซีรีส์ บางตอนมีการยิงคนแพ้ หรือคนแพ้จะตกจากที่สูงเสียชีวิต ทั้ง ๆ ที่เกมเป็นเกมเด็กเล่น เกมพื้นบ้าน เช่น เออีไอโอยู, ชักเย่อ, เกมแกะขนมน้ำตาล ทุกเกมมีความตื่นเต้นเร้าใจ สลับกับฉากระทึกขวัญ ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ซีรีส์เรื่องนี้โด่งดังได้รับความนิยมไปทั่วโลก

นั่นทำให้กระแสคลั่ง “วัฒนธรรมเกาหลี” เกิดขึ้นทั่วโลก พิสูจน์ได้จากข้อมูลแอปพลิเคชันสอนภาษา ดิวโอลิงโก อิงค์ (Duolingo Inc) ระบุว่า มีการสมัครเรียนภาษาเกาหลี ในสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 76% ขณะที่สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 40% หลังเน็ตฟลิกซ์เปิดตัวซีรีส์ Squid Game เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น และรายงานของมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศของเกาหลี ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ใช้ภาษาเกาหลีประมาณ 77 ล้านคนทั่วโลก

“เกาหลีใต้” ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย มีการสร้างชื่อให้ประเทศตนเอง ในฐานะศูนย์กลางความบันเทิงระดับโลกผ่านวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ต่าง ๆ รวมถึงบอยแบนด์ชื่อดังอย่าง BTS และภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น Parasite ที่คว้ารางวัลออสการ์ เมื่อปี 2563 จากเนื้อหาที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม นอกจากนี้มีภาพยนตร์เรื่อง Minari ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีในสหรัฐฯ

ช่วงปีพ.ศ. 2546-2549 ละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์ “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” เป็นละครชุดทางโทรทัศน์แนว “เมโลดราม่า” (Melodrama) เป็นการสร้างทางวัฒนธรรมในรูปแบบละคร ที่สามารถกระตุ้นผู้ชมให้สนใจติดตามชม รวมทั้งมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลีจากละคร ทั้งด้านอาหาร ด้านการแพทย์ และด้านการแต่งกาย สามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้ชมทางด้านการท่องเที่ยว สร้างกระแสคลั่ง “วัฒนธรรมเกาหลี” ทำให้ธุรกิจอาหาร การแพทย์ และท่องเที่ยวเกาหลี แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

วิวัฒนาการกระแสความนิยมเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu (ฮัน-รยู) เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้สื่อถึงความคลั่งไคล้วัฒนธรรมเกาหลีที่ เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990 หลังคำศัพท์คำนี้ถูกตั้งขึ้นเมื่อกลางปี 1999 โดยนักข่าวชาวจีน ที่ประหลาดใจกับความกระหายของชาวจีน ที่มีต่อการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลี ต่อมามีการเรียกปรากฏการณ์ใหม่นี้ว่า Hallyu ที่แปลว่า Flow of Korea หรือกระแส เกาหลีฟีเว่อร์

ปรากฏการณ์คลั่งไคล้ซีรีส์ Squid Game ทำให้เกิดกระแสคลั่งวัฒนธรรมเกาหลีกลับมาอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์ความตรึงเครียดของโควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น กลายเป็นช่วงเวลาที่คล้ายคลึงกับละคร “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 นั่นเอง..!?

Back to top button