พาราสาวะถี
ถ้าผู้นำประเทศใจกว้างขนาดนั้น ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่บรรดาอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องมานั่งสอพลอเอาใจอำนาจสืบทอด
หากจะยึดเอาคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในวันที่ลงพื้นที่พบประชาชนชาวอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่อ้างว่าถูกโซเชียลมีเดียด่าเยอะ แต่ห้ามยากและไม่เคยโกรธ แม้ว่าข้อเท็จจริงจะมีการส่งลิ่วล้อไปดำเนินคดีกับคนเห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองจำนวนมากก็ตาม ถ้าผู้นำประเทศใจกว้างขนาดนั้น ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่บรรดาอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องมานั่งสอพลอเอาใจอำนาจสืบทอด
เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อหรือมีเดียอาร์ต คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. ที่ถูกผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์เข้ามาก้าวก่ายการแสดงศิลปะเพื่อการสอบของนักศึกษา โดยขัดขวางไม่ให้นักศึกษาใช้หอศิลป์แสดงงานดังที่เคยทำกันทุกปี โดยอ้างว่างานศิลปะของนักศึกษามีเนื้อหาทางการเมือง ถึงขนาดตัดน้ำตัดไฟตึกมีเดียอาร์ต และมีการล็อกประตูรั้วทั้งหมด ขังนักศึกษาไว้ข้างในราว 50 คน
จนอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยและนักศึกษาต้องช่วยกันตัดโซ่คล้องประตู เพื่อเปิดหอศิลป์ให้นักศึกษาเข้าไปจัดแสดง สิ่งที่เกิดขึ้น ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์มช. และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเนื้อหาที่ขมวดปมตอนท้ายตั้งคำถามไปยังคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย หากไม่ทัดทาน ไม่สอบสวนการกระทำอันเข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของคณะวิจิตรศิลป์แล้ว
จะนำมาซึ่งข้อสงสัยที่ว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตามทรรศนะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในแง่ของผลผลิต โดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณค่าของเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้ใส่ใจกับการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะแหวกขนบ นอกกรอบ แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมเลยอย่างนั้นหรือ การบริหารการศึกษาศิลปะตามแนวทางของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบันนี้ ผู้บริหารเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่
สิ่งที่พึงสำเหนียกก็คือ ถึงที่สุดแล้วหากงานศิลปะ งานวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบทบาทในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าแก่สังคม ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ไม่สอนให้เกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ ตนสงสัยว่าจะมีมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไรกัน หรือไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยก็ดำเนินกิจการต่อไปนั่นแหละ แต่ควรสำนึกในใจให้ดัง ๆ ว่า “พวกคุณกำลังดำเนินกิจการโรงเรียนดัดสันดาน” หรือกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจมากกว่าจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม
ขณะเดียวกัน สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มช. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยระบุว่า ครั้งหนึ่งที่ได้จัดการอภิปรายโดยมีนักวิชาการอาวุโสที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางร่วมเป็นวิทยากร ในฐานะผู้จัดตนก็ต้องพบกับความยุ่งยากเป็นอย่างมาก ทั้งที่สำหรับนักวิชาการเหล่านั้นมีผลงานประจักษ์ทั้งในระดับชาติ นานาชาติ เมื่อยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการจัดงานก็ได้รับการกำชับกำชามาอย่างหนักแน่นว่า “ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”
ถือเป็นวลีอันคลาสสิกที่คณะเผด็จการชุดนี้ใช้กล่าวอ้างมาตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2557 โดยที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเองก็เที่ยวป่าวประกาศกล่าวหานักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว แต่สุดท้ายก็ร่วมสังวาสกับนักการเมืองเหล่านั้น แน่นอนว่าคำถามสำคัญก็คือว่า การเมืองนั้นมีความหมายกว้างขวางแค่ไหน ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการดำรงอยู่ของอำนาจใด ๆ กระทำมิได้ การอวยยศอวยเกียรติกับสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ควรกระทำได้เช่นกันมิใช่หรือ
แน่นอนว่า สิ่งที่สมชายฉายภาพให้เห็นและคนทั้งประเทศก็เห็นเหมือนกันถ้าความจำไม่สั้นจนเกินไป ก็ย่อมชัดเจนว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นการโป้ปดอย่างชัดเจน เห็นกันอยู่ว่าก่อนการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งต่างโห่ร้องต้อนรับกับการเป่านกหวีดมากมายขนาดไหน ภาพถ่ายก็มีให้เห็นกันอย่างทนโท่ บรรดาผู้พูดก็ล้วนแต่มีภาพเป่านกหวีดคาปากกันแทบทั้งสิ้น จะต้องให้ขุดภาพมาทบทวนความจำกันอีกกี่รอบจึงจะหายอาการสมองเสื่อมกัน
ไม่ต้องพูดถึงว่าภายหลังการรัฐประหาร ผู้บริหารระดับสูงในหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ดิบได้ดีในการเข้าร่วมกับรัฐประหารในนานาตำแหน่ง เอาเข้าจริงแล้วมหาวิทยาลัยก็ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและยุ่งเกี่ยวแบบนัวเนียเสียด้วย ที่ไปนั่งอยู่สนช.ภายหลังรัฐประหาร ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี ไปอยู่ในองค์กรโน่นนี่นั่น ได้ดิบได้ดีจากการรับใช้ผู้มีอำนาจ กระทั่งงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา และอื่น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับการเมืองทั้งนั้น
หากต้องการเห็นความงอกงามทางปัญญา มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น การถกเถียง การแลกเปลี่ยน ยิ่งในประเด็นที่มีความอ่อนไหว มหาวิทยาลัยก็ยิ่งควรเป็นแบบอย่างของการเปิดให้มีการใช้เหตุผลและปัญญาในการนำเสนอหรือโต้แย้งกันอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรมีเสรีภาพดังกล่าวอย่างเต็มที่ หากจะมีใครจัดงานแสดงศิลปะเพื่ออวยอุดมการณ์แบบจารีตในมหาวิทยาลัยก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพียงแต่เขาก็ต้องพร้อมจะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากคนเห็นต่างเช่นกัน
เห็นด้วยกับสมชายที่ว่าเลิกให้เหตุผลเรื่องอย่าเอาการเมืองมายุ่งกับมหาวิทยาลัยกันเสียที ถ้าใครยังพูดแบบนี้อีกก็จะหารูปตอนคล้องนกหวีดมาให้ดูกันให้ตาแฉะอีกคราว ความจริงสิ่งที่น่าละอายสำหรับวงการปัญญาชนของไทยก่อนจะเกิดเหตุที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. ก็คือกรณีที่โครงการไทยศึกษา ศูนย์เอเชีย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่งอีเมลถึงรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เพื่อเตือนนักศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม Harvard College in Asia Program หรือ HCAP ในประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาระบุว่า อาจเผชิญการถูกคุกคามและลงโทษ เนื่องจากการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นธรรมดาของขบวนการสืบทอดอำนาจที่จะต้องปกปิดสิ่งที่ตัวเองได้กระทำไว้และทำทุกวิถีทางที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่วิชาการและสถาบันที่จะนำประชาชนและสังคมไปสู่หนทางที่ดีกว่า จะทำตัวเป็นขี้ข้าเผด็จการสืบทอดอำนาจเช่นนี้