เขาวงกตของ S ซ่อนอะไรไว้??แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

บริษัท สิงห์ เอสเตท จากัด (มหาชน) หรือ S ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เข้าทำรายการร่วมลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาชื่อ FS JV Co Limited (“FS JV”) โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยราคาพาร์หุ้นละ 1 ปอนด์


บริษัท สิงห์ เอสเตท จากัด (มหาชน) หรือ S ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เข้าทำรายการร่วมลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาชื่อ FS JV Co Limited (“FS JV”) โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง โดยราคาพาร์หุ้นละ 1 ปอนด์

ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรประหลาด เพราะใครก็ร่วมลงทุนในต่างประเทศได้ แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้ว ชักงุนงงว่า กำลังทำอะไรกันแน่ เพราะมีการตั้งบริษัทย่อยที่ S ถือหุ้น 100% อย่างซับซ้อน 3 ชั้นกว่าจะถึง S Hotels and Resorts (UK) Limited (“S UK”) ที่ S เข้าถือหุ้น 99.99% 

จากนั้น S UK ก็ร่วมตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวโดยเข้าถือหุ้น 50% โดยมีผู้ร่วมทุนอีกฝ่ายหนึ่ง คือ FICO Holding (UK) ถือหุ้นเท่าๆ กัน

ยิ่งไปกว่านั้น หลังการตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จ ก็จะมีการลงทุนผ่านบริษัทต่างๆ ไปอีก 6 ชั้น เพื่อที่จะเอาบริษัทชั้นสุดท้ายไปถือหุ้นในบริษัทปลายทาง Jupiter Hotel Wetherby และ Jupiter Hotel Management  (ดูแผนภูมิประกอบ) ให้บริการด้านโรงแรมและถือครองกรรมสิทธิ์/สิทธิการเช่าโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ภายใต้แบรนด์ Mercure

ถามไถ่ผู้รู้ในด้านบริษัทและกฎหมายภาษีของอังกฤษหลายคน บอกว่านี่เป็นเรื่องปกติสไตล์ผู้ดีอังกฤษที่ทำเรื่องง่ายให้ยากได้เก่งนัก เหตุผลก็คงเกี่ยวกับเหตุผลทางด้านภาษี และที่สำคัญเผื่อการทะเลาะเบาะแว้งกันในอนาคต ถือว่าผูกปมเอาไว้ล่วงหน้า

ที่แน่ๆ คือ ต้องมีอะไรที่ซ่อนไว้ไม่อยากให้ใครบางคนล่วงรู้ เพราะ S เองก็ชี้แจงกันตรงๆ ว่า “ขนาดรายการที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่เข้าข่ายที่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์”ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร ยากที่คนนอกจะหยั่งรู้ได้ ต้องถามนริส เชยกลิ่น และ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เท่านั้น คนอื่นอย่าได้สะเออะเข้าไปยุ่ง

ที่น่าสนใจมากกว่าโครงสร้างสลับซับซ้อนของบริษัทร่วมทุนของ S ที่สร้างขึ้นมาพอๆ กับเส้นทางสู่เขาวงกตในตำนานกรีกโบราณนั้น อยู่ที่ทาง S UK จะต้องให้เงินกู้ยืม หรือร่วมค้ำประกันเงินกู้ยืม 40 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท

งานนี้ S ลงทุนในหุ้นนิดเดียว แต่ก่อหนี้ 80 เท่าของเงินทุนที่ลงในหุ้นเลยทีเดียว ถือว่าผู้บริหาร และกรรมการ S ใจป้ำยิ่งกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ผสมกับแม่น้ำเทมส์

หากความทรงจำนักลงทุนไม่เสื่อมกันเกินขนาด คงจะพอย้อนรอยไปได้ว่า โครงการร่วมลงทุนนี้ เป็น “น้ำใต้ศอก” หลังจากที่ทางบริษัทอีกรายหนึ่งของไทยคือ บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ T ที่เพิ่งยกเลิกในกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ด้วยข้ออ้างว่า ไม่ทันตามเงื่อนเวลาที่ฝ่ายอังกฤษเรียกร้องมา และผลการตรวจสอบสถานะของธุรกิจโรงแรมดังกล่าวไม่เป็นที่น่าพึงพอใจและอาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้

ข้ออ้างของ T ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากถูกทักท้วงเรื่องการเพิ่มทุนพิสดาร เพื่อไปลงทุนที่ใหญ่เกินตัว  เข้าข่าย reversed takeover ได้ง่ายเกินไป

เรียกว่า หลังจากข้อตกลงเดิม 2 สัปดาห์ผ่านไป FICO Holding (UK) สามารถหาพันธมิตรร่วมทุนได้ง่ายดายเหลือเกิน  โดยเฉพาะกรณีของ S ที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ถือคติ “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” จนเป็นกิจวัตร ทั้งที่ตั้งแต่ซื้อมาจากกลุ่ม RASA เปลี่ยนชื่อใหม่ ยังไม่มีโครงการใหญ่โตอะไรทำ  ปล่อยให้กิจการขาดทุนต่อเนื่องหลายไตรมาส

มิน่า….พวกแขกอังกฤษถึงขานรับ เอาโปรเจ็กต์หลายพันล้านบาทมาเคาะตาปลากันเป็นทิวแถว

 

Back to top button