พาราสาวะถี
ตั้งแต่ปี 2557 คนไทยยังจำกันได้ดีวันที่ท่านผู้นำเข้ารับหน้าที่มีการประกาศอย่างทระนงองอาจว่า “บริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหน”
คำพูดที่หลุดออกมาจากปากของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในการให้สัมภาษณ์หลังการประชุมสภากลาโหมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เรื่องการเมืองขอให้เบา ๆ หน่อยช่วงนี้ เพราะยังมีปัญหาอีกมากที่รัฐบาลต้องแก้ไข ซึ่งปัญหามาพร้อมกันหลายอย่าง เป็นการตอกย้ำอีกคำรบต่อความล้มเหลวในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาของคนที่ยึดอำนาจมาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 คนไทยยังจำกันได้ดีวันที่ท่านผู้นำเข้ารับหน้าที่มีการประกาศอย่างทระนงองอาจว่า “บริหารประเทศไม่เห็นยากตรงไหน”
วันเวลาผ่านไปกว่า 7 ปีแปรสภาพตัวเองจากผู้นำปลายกระบอกปืนเป็นผู้นำที่มีส.ส.จากการเลือกตั้งสนับสนุน แต่เสียงโหวตให้สืบทอดอำนาจหลักคือ 250 ส.ว.ลากตั้ง มีความมั่นคงในแง่ของเสถียรภาพในสภา และไม่สั่นคลอนด้วยอำนาจตรวจสอบทั้งหลายเหมือนรัฐบาลเลือกตั้งทั่วไป เพราะได้กุมสภาพทุกอย่างไว้ด้วยตัวบทกฎหมายที่ออกแบบเพื่อการอยู่ยาว และวางตัวคนในองค์กรที่ตรวจสอบประเภทไม่มีอะไรมาให้ระคายผิวหนังได้ ยังบ่นว่าเผชิญปัญหาหนัก ขอเวลาแก้ไข อย่ามาเล่นการเมือง
ในเมื่อความเป็นจริงของการเมืองในบริบทที่มีนักเลือกตั้งเป็นตัวละครหลัก มีฝ่ายรัฐบาลและมีฝ่ายค้าน ที่สำคัญคือกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านแนวนโยบาย รวมทั้งความผิดพลาด ล้มเหลวในการบริหารจัดการของฝ่ายกุมอำนาจ เหล่านี้คือระบอบที่ประเทศซึ่งเจริญแล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ผู้นำที่ดี มีความสามารถในการบริหารจะไม่ร่ำร้องบอกให้คนที่เห็นต่างหรือฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์หยุดโน่นนี่นั่น หากแต่จะต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ปรากฏเพื่อลบล้างเสียงครหาเหล่านั้น
ทว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กลับไม่อยากให้มีคนวิจารณ์เพราะติดนิสัยมาจากการที่ตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สั่งซ้ายหันขวาหันได้ แน่นอนว่ามันใช้ได้เฉพาะในวาระที่ประเทศมีปัญหาความขัดแย้งตามที่คณะเผด็จการยึดอำนาจอ้างว่าจะนำไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรงในชาติ แต่เมื่อทุกอย่างสงบ เรียบร้อยแล้ว บ้านเมืองต้องเข้าสู่ยุคการบริหารจัดการ รับฟังเสียงสะท้อนต่อทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็ต้องแก้ให้ตรงจุด รวดเร็ว ประชาชนยอมรับ เชื่อถือ
ปัญหาที่กลายเป็นบ่วงรัดคอผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและขบวนการก็คือ มีการวางยุทธศาสตร์ไว้ 20 ปี อ้างว่าเพื่อเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาสารพัด เวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่า แผนที่วางไว้ร่วมกับองคาพยพที่เรียกว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ทำอะไรให้เห็นความเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากการเมืองในอดีตที่ผ่านมา มิหนำซ้ำยังเห็นวังวนน้ำเน่าทางการเมือง ที่ถอยหลังลงคลองมากกว่าช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งกันเสียอีก
นอกจากไม่ยอมรับว่าผิดพลาด แผนการที่วางกันไว้ไม่เป็นไปตามที่คิด มิหนำซ้ำ รัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเป็นฉบับปราบโกง เขียนไว้เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ยาวและตีกันพรรคการเมืองคู่แข่ง สุดท้ายกลายเป็นวางกับดักตัวเอง จนต้องหาหนทางที่จะแก้ไขเพื่อให้พรรคพวกและตัวเองกุมความได้เปรียบต่อไป ขณะเดียวกัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปบางคณะยังถูกตั้งให้มาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาดและสร้างข่าวสารเพื่อลบล้างความผิดพลาดของตัวเองไปเสียฉิบ
วาทกรรมสร้างภาพเพื่อการยึดอำนาจว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า ดังนั้นจึงอย่าไปหวังหรือเรียกร้องให้คนทั้งประเทศ โดยเฉพาะกับฝ่ายที่เห็นต่างต้องมาเห็นอกเห็นใจตัวเอง การเมืองที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้นำประเทศคนไหนที่ต้องออกมากล่าวคำขอโทษประชาชนบ่อยครั้งจากความไม่เอาไหนในการแก้ไขปัญหาของตัวเองเหมือนเช่นที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทำมา เพราะการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่ผิดพลาดไม่ได้ แต่ควรให้น้อยที่สุด
ทุกอย่างต้องผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แก้ผ้าเอาหน้ารอด กรณีโควิด-19 เมื่อเลือกที่จะเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน กับการเปิดรับ 45 ประเทศบวก 1 เขตปกครองพิเศษคือ ฮ่องกง เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากความร่วมมือของประชาชน หากเกิดขึ้นแล้วภาครัฐโดยเฉพาะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องกล้ายืดอกแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนเป็นเรื่องหน่วยงานหนึ่งองค์กรใดหรือแม้แต่กระทั่งการโยนให้เป็นความผิดของประชาชน
อย่างไรก็ตาม พอจะเข้าใจได้เหตุผลสำคัญที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพยายามแตะเบรกเรื่องการเมืองอยู่ตลอดเวลา เป็นเพราะความไม่ลงรอยกันของแก๊ง 3 ป.ที่จนถึงวันนี้ยังต่อไม่ติด จูนกันไม่ได้ ขณะที่การเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจที่มีความพยายามจะเข้าไปจัดการ เนื่องจากความไม่พอใจหลังเกิดปัญหาช่วงซักฟอก ก็กลับพบว่าพี่ใหญ่ได้วางกลไกและตั้งป้อมตั้งการ์ดรับอย่างแน่นหนา โดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่แสดงบทบาทแม่บ้านพรรคอย่างขันแข็ง
ประกอบกับประเด็นการทำโพลเพื่อจัดอันดับผู้สมัครส.ส.ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่เสนอโดย พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์พรรค และสนองขับเคลื่อนต่อโดยธรรมนัส ย่อมเป็นสัญญาณที่ส่งให้เห็นว่าการนำและอำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดนั้นเป็นของใคร ดังนั้นแผนการที่จะเข้าไปยึดพรรคเพื่อสางความแค้นที่ตัวเองถูกลูบคมในศึกซักฟอกที่ผ่านมาจึงส่อเค้าว่าจะเป็นหมัน เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่เคยขับเคลื่อนกันก่อนหน้านั้น
เมื่อโจทย์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่คิด ไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์เหมือนที่เคยได้รับรู้มา จ่ายแล้วจบแค่นั้นมันไม่ใช่ สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรู้แต่คงคาดไม่ถึงคือไม่มีคำว่าพอสำหรับนักเลือกตั้ง ยิ่งในทางการเมืองไม่ได้มีแค่กระสุนเท่านั้นที่ต้องการ หากแต่ตำแหน่งแห่งหนทางการเมืองโดยเฉพาะเก้าอี้ในฝ่ายบริหารก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การมองข้ามจุดนี้โดยเหตุผลคือยึดโควตาจำนวนหนึ่งเป็นของตัวเองสำหรับเลือกคนที่ไว้ใจมาทำงาน มันจึงกลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดความไม่พอใจจากภายในพรรค
ยิ่งเวลาผ่านไปโดยที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้แสดงให้เห็นว่าอำนาจในการบริหารอยู่ที่ตัวเอง การปลดสองรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำหลักของพรรคสืบทอดอำนาจแล้วคิดว่าทุกอย่างจะจบ เชือดไก่ให้ลิงดูแล้วไม่น่าจะมีใครกล้าหือ กลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดเมื่อลิงเหล่านั้นกินกล้วยที่มีผู้เลี้ยงดูอย่างดีจึงไม่กลัวคนเชือดที่ไม่ได้ดูแล ความพยายามที่จะสร้างประเด็นใหญ่โดยเฉพาะการเปิดประเทศเพื่อให้คนเลิกสนใจปมทางการเมืองจึงเป็นการคิดผิด ยิ่งใกล้เปิดสภายิ่งเป็นช่วงวันเวลาที่ท่านผู้นำต้องเตรียมตั้งรับมากขึ้น