พาราสาวะถี
จากประกาศเปิดประเทศ สิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ก็คือการที่คณะรัฐมนตรีต้องไปประชุมเพื่อการันตีอีกทางหนึ่ง
หลังจากเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มาอย่างยาวนาน ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่หรือครม.สัญจรมีอันต้องพักยกตามไปด้วย แต่ภายหลังจากที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ก็คือการที่คณะรัฐมนตรีต้องไปประชุมเพื่อการันตีอีกทางหนึ่ง ซึ่งหนนี้เลือกที่จะไปสัญจรในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน โดยจะประชุมครม.กันที่จังหวัดกระบี่
คำถามคือ ทำไมถึงเลือกประเดิมกันที่จังหวัดทางภาคใต้ หากมองนัยของความเป็นพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวเบิกร่อง ก็พอจะอนุมานได้ว่านี่เป็นการเรียกความเชื่อมั่น นี่เป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่ภาคใต้มีความปลอดภัยที่จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินไปอยู่ในเวลานี้ที่น่าห่วงคือจังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ถึงขนาดที่มีการตั้งศบค.ส่วนหน้าเพื่อดูแลกันแบบใกล้ชิด
อีกด้านมิติทางการเมือง เพื่อเป็นการพิสูจน์ความนิยมในตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ตามคำคุยโม้โอ้อวดของส.ส.ภาคใต้ของพรรคสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกันคะแนนที่เคยได้มาจากความชมชอบในตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่แน่ใจว่ายังเป็นไปตามที่กลุ่มส.ส.ซึ่งหวังเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาภาคใต้โพนทะนาหรือไม่ ผลสำรวจของพรรคแกนนำรัฐบาลที่มี ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานคณะทำงานนั้น เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน
ความนิยมที่ทำให้พรรคสืบทอดอำนาจกวาดคะแนนส.ส.ได้เป็นกอบเป็นกำในพื้นที่ 14 จังหวัดลดฮวบฮาบเหลือเพียง 4 จังหวัด ซึ่งหากไม่ใช่เรื่องการปั้นตัวเลขเพื่อดิสเครดิตกัน นั่นก็แสดงให้เห็นว่าผลการทำงานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้คาดหวังไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องเปลี่ยนทางเลือกใหม่หรือจะหันกลับไปใช้บริการพรรคขาประจำอย่างประชาธิปัตย์นั้นว่ากันอีกที
แน่นอนว่า โพลของพรรคสืบทอดอำนาจน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับท่วงทำนองที่เกิดขึ้นภายในพรรคเก่าแก่กับการช่วงชิงส่งคนของตัวเองในการลงสมัครส.ส.ครั้งต่อไป จนเกิดข่าวการปีนเกลียวกันในช่วงที่ผ่านมา ร้อนถึง ชวน หลีกภัย ต้องออกมาห้ามทัพ ประกอบกับบรรดาอดีตส.ส.ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ลาออกไปร่วมชายคากับพรรคของ สุเทพ เทือกสุบรรณ กลับใจหันมาสวมสีเสื้อพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมอีกครั้ง ก็ย่อมเป็นตัวชี้วัดถึงกระแสในพื้นที่ว่าไม่เหมือนคราวก่อนเลือกตั้งปี 2562 อีกแล้ว
ประสานักเลือกตั้งย่อมจมูกไว เช่นเดียวกันประสาคนที่รู้ทิศทางของการเมืองว่าตัวเองตกอยู่ในสถานะแบบไหน การเลือกไปประชุมครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงเป็นการหวังผลทั้งแง่ของงานในส่วนรัฐบาลและหวังผลในมิติทางการเมือง แต่อย่าลืมเป็นอันขาด เสียงที่มาตะโกนลุงตู่สู้สู้ หรือนายกฯ สู้สู้นั้น ไม่ใช่พลังของประชาชนที่แท้จริง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่บรรดานักการเมืองจัดหามาให้ทั้งสิ้นและทุกพื้นที่
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่าไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนก็จะมีมวลชนจัดตั้งกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาหากเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง จัดตั้งมีมาส่วนหนึ่งแต่คนที่ตั้งใจมาให้กำลังใจนั้นมีมากกว่า เหตุผลสำคัญคือผู้นำเหล่านั้นประชาชนสามารถเข้าถึงได้ แม้กระทั่งเรื่องการร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อน ไม่ได้มีการส่งชุดล่วงหน้าไปเตรียมการ รวมทั้งมีการจัดวางกำลังไว้เคลียร์กลุ่มที่เห็นต่าง ขณะที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็มีวาระที่ตั้งใจจะไปพูดไว้อยู่แล้วไม่ว่าจะเวทีไหนก็ตาม
มันจึงทำให้เกิดระยะห่าง พอผนวกเข้ากับความห่างเหินระหว่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกับบรรดาส.ส.ของพรรคแกนนำรัฐบาลที่ยังคงมีอยู่ มันจึงยิ่งทำให้การทำงานการเมืองในพื้นที่ยากไปกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นท่าทีของธรรมนัสในรูปแบบถึงไหนถึงกัน สัมผัสกับประชาชนแบบลูกชาวบ้านหลานชาวนา ส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการสร้างภาพ แต่ภาพจำเหล่านั้นอย่าลืมเป็นอันขาดว่าแม่บ้านพรรคสืบทอดอำนาจเคยสัมผัสเรียนรู้มาแล้วจากการเคยทำงานร่วมกับพรรคไทยรักไทยจนกระทั่งมาถึงเพื่อไทย
เช่นเดียวกันกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะมีหัวโขนความเป็นพี่ใหญ่ของแก๊ง 3 ป. แต่ความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองนั้นมีมาอย่างยาวนาน ย่อมซึมซับและรับรู้ได้ว่าความต้องการของนักเลือกตั้งนั้นเป็นอย่างไร และโจทย์ที่ชาวบ้านตั้งผ่านมายังผู้แทนของตัวเองที่จะเลือกนั้นคืออะไร จึงทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจนักการเมือง และรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความพึงพอใจ ซึ่งในมุมดังว่านี้เป็นสิ่งที่น้อง 2 ป.ไม่เคยสนใจมาก่อน เพิ่งจะมาขยับกันจริงจังก็ช่วงก่อนถูกซักฟอกและหลังเฉดหัวสองรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น
การที่ปรากฏข่าวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเรียกรัฐมนตรีจากกลุ่มสามมิตรหารือนานนับชั่วโมงหลังประชุมครม.เมื่อวาน อันประกอบไปด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุชาติ ชมกลิ่น, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, สันติ พร้อมพัฒน์ และ อนุชา นาคาศัย จึงไม่ใช่เรื่องของการคุยเกี่ยวกับงานในส่วนของรัฐบาลแต่อย่างใด เป็นการเรียกพบเพื่อสอบถามถึงความเคลื่อนไหวภายในพรรคสืบทอดอำนาจต่อการเตรียมพร้อมสำหรับงานในสภาที่จะเปิดสมัยประชุมในเดือนหน้านี้
อย่างที่รู้กันผลพวงจากการปลดสองรัฐมนตรี มีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นภายในพรรคสืบทอดอำนาจมหาศาล ในส่วนของคนที่มีหัวโขนส.ส.ก็รอที่จะเอาคืนในช่วงของการเปิดประชุมสภา และบังเอิญว่าในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เป็นหน้าเป็นตาของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ย่อมต้องระวังกันเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการเสียหน้าและจะเสียหายถึงเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นการเรียกรัฐมนตรีกลุ่มนี้คุยก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำสายสัมพันธ์ของแก๊ง 3 ป.ว่าสั่นคลอนหนักขนาดไหน