เจตนาดี ประสงค์ร้าย

คำสั่งของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค มีความหมายชัดเจนอยู่แล้วเพราะคนที่จะเดือดร้อนที่สุดคือ กลุ่มคนที่หน่วยงานรัฐอ้างเจตนาอันดีนี้เอง


คำว่าเจตนาดีที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเรื่องของตลาดสินเชื่อตามมติและคำสั่งของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มองปัญหาด้านเดียว มีความหมายของคำนี้ชัดเจนอยู่แล้วในตัวเองเพราะคนที่จะเดือดร้อนที่สุดจากคำสั่งนี้คือ กลุ่มคนที่หน่วยงานรัฐอ้างเจตนาอันดีนี้เอง

ข่าวการออกคำสั่งคุมเข้มสัญญาเช่าซื้อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอบผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมคุมเข้มสัญญาเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ และยานยนต์เพื่อการเกษตร รวมถึงควบคุมเพดานดอกเบี้ย ไม่ให้เกินกว่า 25% ต่อปีนั้น นอกจากทำให้ราคาหุ้นในธุรกิจเช่าซื้อ และลีสซิ่งทั้งหลายตกลงมาเกือบถ้วนหน้าแล้ว ยังถือได้ว่านี้คือการ เตะหมูเข้าปากหมา” ที่ชัดเจน……เพราะอานิสงส์ของมาตรการดังกล่าวจะเกิดผลดีทางอ้อมให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งในระยะสั้นกลางและยาว

ที่สำคัญ ยังทำให้การกระจายโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของครัวเรือนและ ผู้ประกอบการอันเป็นประเด็นสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนาของเศรษฐกิจในระยะยาว) ได้รับความเสียหายไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ทำไมถึงพูดเช่นนี้… ต้องย้อนไปดูรายละเอียดกัน

ในการทำเฮียริ่งหรือประชาพิจารณ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเฮียริ่งรอบประชาชน ร่างประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อ ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ มีรายละเอียดที่ถูกใจพวก ช่างไร้เดียงสา” อย่างยิ่ง

ในร่างคำสั่งแก่งเจตนาอันเยี่ยมยอด มีการบรรจุรายการที่รวมเอาเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าร่วม เพิ่มเติมจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นมาตรการ ปิดประตูตีแมว” อย่างแท้จริง

สาระสำคัญของร่างประกาศฯ อยู่ที่ว่ามีการแก้ไขรายละเอียดราว 15 ข้อ หลัก ๆ เช่น

– กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี

– ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ด้วยการส่งมอบรถยนต์โดยห้ามเรียกเก็บหนี้ส่วนขาด (คืนรถจบหนี้ ห้ามเรียกหนี้ส่วนขาด) เปิดช่องให้เบี้ยวหนี้ง่ายมาก

– กรณีชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญาหรือ ปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ จะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อไม่น้อยกว่า 80% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิให้บุคคลภายนอกซื้อรถคืนได้ แทนการเสียค่าปรับที่เรียกว่า penalty fee แบบเดิม

(หมายความว่า ลูกค้าที่ชำระเงินเร็ว ก็อาจจะเสียทำให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ เสียโอกาสได้โดยปริยาย)

การออกกติกาใหม่นี้ นอกจากทำให้กำไรของผู้ประกอบการถดถอยลงแล้วยังถือเป็นข่าวลบกับกลุ่มไฟแนนซ์ ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องกลการเกษตร ล่าสุดอยู่ระหว่างรวบรวมผลกระทบกับกลุ่มไฟแนนซ์  โดยที่นี้จะไม่ได้คุมไปถึงรถบรรทุก จึงไม่กระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถบรรทุกอย่าง ASK และTHANI

ผู้ประกอบการทั้งหลายที่พยายามออกมาแก้ข่าวด้วยการระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก จึงเข้าข่าย “โกหกคำโต” เพื่อป้องกันราคาหุ้นจะร่วงมากกว่าข้อเท็จจริง เพราะเท่าที่ทราบมา มีการเตรียมพร้อมร่างสัญญาปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งที่แน่นอนคือ ทำให้ผู้เช่าซื้อสูญเสียโอกาสในการกู้มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้มีธรรมชาติที่เปราะบางในการกู้เงินอยู่แล้ว

โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นธุรกิจที่แบกรับความสี่ยงค่อนข้างสูง ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานล่าง ประกอบอาชีพอิสระอาทิ เกษตรกร ลูกจ้างร้านอาหาร ลูกจ้างโรงงาน พ่อค้าหาบเร่ แผงลอยและไม่มีหลักฐานทางการเงินใด ๆ ซึ่งถือเป็นลูกค้าระดับรากหญ้าของประเทศ มีรายได้น้อยไม่สม่ำเสมอ ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มนาโนไฟแนนซ์หรือ พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยมีเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 33-36% และโครงสร้างธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 32-35% และต้นทุนดำเนินงานเฉลี่ย 27% ……น่าจะได้รับความเสียหายรุนแรงกว่าใคร ๆ

จากสถิติพบว่ากลุ่มลูกค้าผิดนัดชำระสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ และการอนุมัติสินเชื่อประเมินความเสี่ยงได้ยาก เพราะลูกค้ามีแค่บัตรประชาชนใบเดียวในการขออนุมัติสินเชื่อออกรถจักรยานยนต์ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจและความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้านี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถให้สินเชื่อลูกค้าในกลุ่มนี้ได้ต่อไป การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากจนเกินไปจะบีบให้ผู้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อได้ยากขึ้น หรือต้องมีการเรียกเงินดาวน์ที่สูง หรือต้องใช้เงินก้อนในการออกรถจักรยานยนต์ จะเป็นการผลักให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้าสู่วังวนของเงินกู้นอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เจตนาอันดีอย่างไร้เดียงสาของ สคบ. จึงสวนทางกับเป้าหมายการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนในระบบธนาคาร พาณิชย์ไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งที่ขัดขวางดุลยภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กดดันให้อยู่ระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Sub-Optimal Equilibrium) หรือมีความผันผวนมากเกินไป (Excessive Volatility) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามแก้ไขมายาวนาน

ในการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อโดยภาคธุรกิจและครัวเรือนไทย

หลายปีมานี้ การบริหารและจัดการความเสี่ยง กระบวนการทางานและระบบเทคโนโลยี การตลาดและการสื่อสาร และช่องทางการให้บริการ ซึ่งมีส่วนเสริมให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ ในมิติด้านปริมาณ ราคาและคุณภาพในทิศทางที่สอดคล้องกันกับผลการศึกษาทางเศรษฐมิติ…เพื่อเอื้อให้บริษัทเล็กและผู้บริโภคที่มีการยกระดับศักยภาพทางธุรกิจให้ดีขึ้น สามารถเข้าถึงต้นทุน ทางการเงินที่โน้มเอียงเข้ามาใกล้เคียงกับบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้นได้

เจตนาของสคบ.จึงสวนทางกับพัฒนาการทางบวก เพราะท่าทีที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เพราะเท่ากับตัดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ที่พูดมานี้ ไม่ใช่เพราะต้องการให้ราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อกลับขึ้นมาดอกนะ

อย่าเข้าใจผิด ๆ ล่ะ

Back to top button