‘ผู้ร้าย’ น้ำมันแพง

น้ำมันแพงทีไร ปตท. ตกเป็นขี้ปากชาวบ้านหนักที่สุด รองลงมาถึงจะเป็นกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ทั้งที่น่าจะเป็นจำเลยที่ 1 มากกว่าปตท. ซึ่งก็แปลกดี


น้ำมันแพงทีไร ปตท. ตกเป็นขี้ปากชาวบ้านหนักที่สุด รองลงมาถึงจะเป็นกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ทั้งที่น่าจะเป็นจำเลยที่ 1 มากกว่าปตท. ซึ่งก็แปลกดี

การจะดูว่า ปตท.หรือบริษัทน้ำมันเอาเปรียบ ค้ากำไรเกินควรหรือไม่ คงต้องดูที่โครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบครับ อาจจะได้คำตอบว่า น่าเห็นใจมากกว่าจะถูกก่นด่า

ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซลธรรมดาและไบโอดีเซล-บี7 ที่ขายราคาเดียวกันลิตรละ 29.69 บาททุกวันนี้ เป็นต้นทุนน้ำมัน ณ ราคาหน้าโรงกลั่นเพียง 21.8650 บาท หรือ 73.64% เท่านั้น

ส่วนที่เหลืออีก 26.36% หรือ 7.82 บาท เป็นภาษีและค่าจัดเก็บบวก-บวกเข้าไปอีกหลายรายการ

ตัวบวกใหญ่ที่สุดคือภาษีสรรพสามิตน้ำมันครับ ล่อเข้าไป 5.99 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มรองลงมา ล่อเข้าไป 2 เด้งทั้งราคาขายส่งและค่าการตลาดรวม 1.94 บาท แค่ 2 รายการนี้ก็ปาเข้าไป 7.93 บาทแล้ว

ค่าจัดเก็บส่วนที่เหลือไม่มากนักแต่ก็เป็นรายการยิบย่อยก็ได้แก่ ภาษีเทศบาล กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ค่าการตลาด และเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งได้รับการอุดหนุน 1.99 บาท ตามนโยบายตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทของรัฐบาล

ค่าการตลาดซึ่งเอาไปแบ่งกันระหว่างบริษัทน้ำมันกับปั๊มนั้นนิดเดียว แค่ 1.1837 บาทเท่านั้น ทั้งที่ควรจะได้ 1.50-2.00 บาท ถึงจะอยู่รอด

ในโครงสร้างราคาน้ำมัน สิ่งที่ปตท. หรือบริษัทน้ำมันและสถานีจำหน่ายปลีก หรือปั๊มจะได้ก็อยู่ที่ค่าการตลาดนี้เท่านั่นแหละ

ลองคิดดูสิครับ สมมุติแบ่งกัน 50:50 บริษัทเอาไป 59 สตางค์ ปั๊มเอาไป 59 สตางค์ ลงทุนน้ำมันลิตรหนึ่งกว่า 29 บาท ได้กำไรแค่ 59 สตางค์ คิดเป็น 1.98% เท่านั้น มันจะอยู่กันไหวหรือครับ

ตอนอดีต ราว 50-60 ปีก่อน น้ำมันหน้าปั๊ม 2-3 บาท ก็ได้ค่าการตลาดประมาณนี้ ปัจจุบันราคาหน้าปั๊มเกือบ 30 บาท ก็ยังได้ค่าการตลาดย้อนยุคเท่ากับเมื่อก่อน แล้วจะอยู่กันยังไง ต้องเอารายได้นอน-ออยล์จำพวกค่าเช่ามาจุนเจือรายจ่าย

พอจะเห็นแล้วนะครับ “ผู้ร้าย” ตัวจริงในโครงสร้างเป็นใคร

รัฐบาลยังสามารถจะลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 3 บาทได้ครับ หรืออาจจะมากกว่านั้นเป็น 4-5 บาทก็ยังได้เลย ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับราคาที่สหพันธ์ขนส่งทางบกเสนอที่ 25 บาท แต่รัฐไม่มีทีท่าจะลดหย่อนอะไรลงมาเลย

รัฐบาลน่าจะคิดได้นะว่า ถ้าน้ำมันแพง ค่าขนส่งก็แพง สินค้า-บริการต่าง ๆ ก็จะแพงขึ้นตามกันไปหมด ประชาชนยิ่งจะเดือดร้อนหนักกว่าเก่า

การลดภาษีน้ำมันลงมาย่อมคุ้มค่าและยั่งยืนกว่านโยบายเจ้าบุญทุ่มแน่นอน และยังเป็นการบรรเทาทุกข์ประชาชนอย่างเสมอภาคถ้วนหน้ามากกว่าด้วย

เรื่องการอิงราคาหน้าโรงกลั่นตามตลาดสิงคโปร์ ผมก็ว่าควรจะเลิกนะ เพราะไม่รู้ที่มาที่ไป ทำให้ดูไม่โปร่งใสเอาเสียเลย การอ้างว่าหากราคาอ้างอิงของเราสูงหรือต่ำกว่าสิงคโปร์ จะก่อให้เกิดการลักลอบน้ำมันเถื่อนทั้งการนำเข้าและส่งออกไป ผมก็ว่ามันคนละเรื่องกันนี่

เรื่องการใช้ราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นไทย เป็นเรื่องการสร้างความโปร่งใส ที่สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปและต้นทุนได้ ส่วนเรื่องการเปิดช่องให้มีการลักลอบก็เป็นเรื่องของกรมศุลฯ และตำรวจไปสิ มันคนละเรื่องกันนี่นา

นอกจากนี้ นโยบายอนุรักษ์พลังงานที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรบางภาคส่วนเช่น อ้อย-มันสำปะหลังในรูปแบบแก๊สโซฮอล์ และปาล์มในรูปแบบไบโอดีเซล ก็ควรคำนึงถึงความพอเหมาะพอควรในการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

มันจะกลายเป็นสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้น้ำมันไป และชักจะกลายเป็นนโยบายการเมืองมากยิ่งขึ้นไปทุกที

เนื่องจากเอทานอล 100 มีราคาที่แพงกว่าเบนซินสำเร็จรูปเป็นอันมาก ยิ่งผสมในสัดส่วนมากเป็น E10-E20 กระทั่ง E85 รัฐก็ต้องน้ำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยมากยิ่งขึ้น

ไบโอดีเซลก็เช่นเดียวกัน ส่งเสริมกันมาจนเป็น B7-B20 ซึ่งราคาน้ำมันปาล์ม B100 ปาเข้าไปลิตรละ 44 บาทแล้ว พอเอามาผสมกับน้ำมันดีเซลราคาต่ำกว่าซึ่งยังไม่ถึง 30 บาทดีเลย ก็ต้องเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย 2 บาท-4 บาทสิ

ชาวสวนปาล์มแฮปปี้ จากราคาผลสดกก.ละ 3-4 บาท จนเดี๋ยวนี้ราคาพรวดขึ้นมา 9 บาทแล้ว เป็นที่พอใจยิ่งนักกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 3 พรรค และดูท่าจะเสพติดนโยบายนี้ไปเสียแล้ว เพราะนั่นหมายถึงฐานเสียงโดยเฉพาะภาคใต้

ผู้ร้ายตัวจริงยังคงนิ่งเงียบ ไม่กระโตกกระตาก พอใจนโยบายน้ำมันที่เป็นอยู่บนกองทุกข์ประชาชน

Back to top button