พาราสาวะถีอรชุน
วันนี้ครบรอบ 42 ปีเต็มเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้น จะกลายเป็นอดีตที่ถูกกลืนและถูกลืมไปเสียแล้ว ในห้วงเวลาที่ประเทศปกครองด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร ขณะที่อดีตนักต่อสู้ที่ถูกเรียกขานว่าคนเดือนตุลาบางรายก็ทำตัวเหินห่างอย่างยิ่งกับสิ่งที่ตัวเองและพวกเรียกว่าอุดมการณ์ ณ เวลานั้น
วันนี้ครบรอบ 42 ปีเต็มเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้น จะกลายเป็นอดีตที่ถูกกลืนและถูกลืมไปเสียแล้ว ในห้วงเวลาที่ประเทศปกครองด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร ขณะที่อดีตนักต่อสู้ที่ถูกเรียกขานว่าคนเดือนตุลาบางรายก็ทำตัวเหินห่างอย่างยิ่งกับสิ่งที่ตัวเองและพวกเรียกว่าอุดมการณ์ ณ เวลานั้น
ดังนั้น ภาพความจำเมื่อครั้งกระโน้นที่จะถูกถ่ายทอดผ่านการระลึกถึงในวันนี้จึงเริ่มเลือนรางออกไป มีแค่คนไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่มที่ยังชื่นชมกระบวนการเคลื่อนไหว ยังคงจัดกิจกรรมรำลึกและมีเวทีเสวนาเล็กๆในบางแห่ง น่าเสียดายที่ความเข้มข้นเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยได้จางหายไปในความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ วีรชนที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในทางประวัติศาสตร์
ทั้งหมดทั้งมวลคงหนีไม่พ้นการปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังระบอบทักษิณ จนทำให้คนไม่ใส่ใจต่อคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตย มิเช่นนั้น คงไม่หลุดวลีทองของคนดีหรือดอกเตอร์ดอกแต๋วทั้งหลาย ทั้งประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่เลือกตั้งหรือหนึ่งเสียงของคนไม่เท่ากัน เหล่านี้สะท้อนภาพการใช้อคติมาทำลายแนวทางที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยไปเสียฉิบ
แม้กระทั่งผู้มีอำนาจที่ส่งสารถึงประชาชนในรอบแรกยังพลาดท่าหลุดอารมณ์ความเกลียดชังมาให้เห็นผ่านวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา จนต้องส่งสารฉบับที่ 2 ออกมาเพื่อแก้ต่างในเวลาไล่เลี่ยกัน แน่นอนว่า เนื้อหานั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉบับล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงความมีสติและการที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ดี
ผู้มีอำนาจควรสร้างบรรยากาศเช่นนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ต้องกลัวการเสียหน้า สารฉบับที่ 2 เป็นการตอบโต้สารฉบับที่ 1 ท่าให้จะดีกว่านั้นควรออกคำสั่งมายกเลิกสารฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นสารที่ทำลายบรรยากาศปรองดองของสังคม เพราะมุ่งกล่าวหา ใส่ร้ายคนอื่น โดยคิดว่าจะประสบความสำเร็จตามพฤติกรรมที่เคยทำมาในอดีต อันเป็นความคิดและการกระทำที่ผิดเพี้ยน
สรุปโดยภาพรวมแล้วสารฉบับที่ 2 เป็นการแสดงออกที่ยอมรับความผิดพลาด เป็นการพลิกเกมหลังจากที่ประเมินแล้วว่าสารฉบับแรกนั้นเพลี่ยงพล้ำทำไปด้วยความไม่ยั้งคิดปล่อยให้อคติครอบงำ ความจริงแล้วการมีสติ ให้อภัย ใจกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำที่ไม่ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยกลไกปกติ ถ้าทำได้ เชื่อเลยว่าหลังพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ
การยึดหลักการให้อภัยนั้นอยากให้บิ๊กตู่ดูตัวอย่างจาก เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ที่เคลื่อนไหวต่อสู้การเหยียดสีผิวจนถูกจับติดคุก 27 ปี แต่หลังจากได้รับอิสรภาพแล้วได้ใช้หลักของการให้อภัย ทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศของเขาได้จนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก ขณะที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้แทบจะไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้ใดๆ ไร้ต้นทุนจึงควรใช้โอกาสนี้สร้างคุณค่าให้กับตัวเองมากที่สุด
เช่นเดียวกับกรณีการร่างรัฐธรรมนูญที่บิ๊กตู่ขอโอกาสให้กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ. ก็ควรที่จะให้โอกาสประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางไร้เงื่อนไขด้วย ภาพสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเบื้องต้นสัมผัสได้จากเว็บไซต์ประชามติ หลังจากที่เว็บดังกล่าวได้เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คตามช่องทางต่างๆในหัวข้อ“รัฐธรรมนูญแบบไหนไม่เอาแล้ว”พร้อมกับติดแฮชแท็ก #ไม่เอาแล้ว
จากการรวบรวมความเห็นของประชาชนที่ร่วมกันพูดถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 300 นับตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นของวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ความเห็นส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และเบื่อหน่ายกับการร่างรัฐธรรมนูญแล้วถูกฉีกซ้ำๆ
ผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่ กล่าวโจมตีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดผู้แทนที่มีจุดยึดโยงกับประชาชน หรือมาจากการแต่งตั้งโดยตรง บางคนเสนอว่าคนที่จะมาร่างต้องไม่มาจากคณะรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เขียนขึ้นภายใต้บรรยากาศการจับกุมและดำเนินคดีการเมืองกับคนคิดต่าง
ผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง ไม่เชื่อในระบบการสรรหาคนดี เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้จะไม่ฟังเสียงประชาชน และหลายคนไม่ต้องการกระบวนการร่างตามแนวทางของคสช.ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด หากยังไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับ ซึ่งเท่ากับสร้างเงื่อนไขว่าหากภารกิจร่างรัฐธรรมนูญไม่สิ้นสุดก็จะเป็นการต่ออายุของคณะรัฐประหารต่อไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน
ในด้านเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า ไม่อยากได้รัฐธรรมนูญที่ขาดหลักประกันและกลไกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลายคนให้ความสำคัญกับการทำให้เสียงของประชาชนมีความหมาย มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลสถาบันการเมือง ขณะที่หลายคนแสดงความเห็นว่า ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ
ไม่ต้องการให้ข้าราชการทั้งในตำแหน่งและข้าราชการเกษียณเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งและไม่มีการตรวจสอบ ไม่ต้องการองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่มีอำนาจเหนือรัฐบาลของประชาชน และไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ทำให้นักการเมือง ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อ่อนแอกว่าฝ่ายตุลาการ
นอกจากนี้คนจำนวนไม่น้อยเสนอว่าไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ไม่ไว้วางใจต่อประชาชน เช่น การกำหนดให้มีส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นส.ส.หรือนายกฯคนนอก และไม่เอาองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลซึ่งก็คือคปป.นั่นเอง นี่เป็นแค่เพียงน้ำจิ้มแต่ถือเป็นโจทย์ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ และกรธ.จะต้องคิดหนัก เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์มีจุดจบเหมือนฉบับดอกเตอร์ปื๊ดอีก