ยุติธรรมสับสนทายท้าวิชามาร
ศาลอาญาออกหมายจับทักษิณหลบหนีไม่มาศาล ในคดีที่ตกเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทกองทัพ ฟังเหมือนคดีธรรมดาแต่คิดดีๆ นี่เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ไทย คดีแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่มีคนวิจารณ์กองทัพทำรัฐประหารแล้วถูกฟ้องศาลฐานหมิ่นประมาท
ศาลอาญาออกหมายจับทักษิณหลบหนีไม่มาศาล ในคดีที่ตกเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาทกองทัพ ฟังเหมือนคดีธรรมดาแต่คิดดีๆ นี่เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ไทย คดีแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่มีคนวิจารณ์กองทัพทำรัฐประหารแล้วถูกฟ้องศาลฐานหมิ่นประมาท
ที่ไม่เคยมี เพราะถ้าเป็นคนอยู่ในประเทศก็ไม่ต้องฟ้อง ก็ถูกจับกุมคุมขังหรือปรับทัศนคติ แล้วแต่รัฐประหารชุดไหนใช้มาตรการแข็งอ่อนอย่างไร บางประเทศยิงเป้าไปเลยก็มี สมัยจอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2514 คุณอุทัย พิมพ์ใจชน กับเพื่อน 3 คน ฟ้องศาลถูกจับขังยาวจน 14 ตุลาจึงได้ออกมา เพราะศาลฎีกาในอดีตวินิจฉัยว่ารัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้
ประเทศไทยยุคนี้กลับตาลปัตร กองทัพพึ่งกระบวนการยุติธรรม ได้รับความเสียหายจากคำพูดทักษิณจึงฟ้องศาลอาญา ไม่ใช่ศาลทหารด้วยนะ แปลว่า คสช.พ้นไป อีก 5 ปี 10 ปี ทักษิณก็ยังไม่พ้นคดี แต่ถ้ามีคนฟ้อง คสช.ต่อให้ไม่ติดคุกแบบยุคถนอม พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็นิรโทษกรรมอยู่ดี
นี่คือภาพสะท้อนย้อนแย้งของรัฐประหารภิวัตน์ 2 ครั้งหลังทั้ง 2549,2557 รัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ อยู่ในตัว ออกประกาศคำสั่งเป็นกฎหมาย ใช้ ม.44 จับกุมคุมขังหรือกระทั่งประหารชีวิตได้ แต่กลับพยายามแยกตัวออกจากศาลและองค์กรอิสระ บอกโลกว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมยังเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกัน คมช. คสช.สั่งไม่ได้ แล้วก็ใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการนักการเมือง
ใช่ครับ ผมเชื่อว่า คมช. คสช. สั่งศาลไม่ได้ (แม้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์สั่งปลดประธานศาลฎีกาได้แต่คงไม่มีใครกล้าทำ) กระนั้นสิ่งที่พึงตระหนักคือ ต่อให้ศาลวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ไม่อคติ ไม่เลือกข้าง 2 มาตรฐาน ศาลก็เป็นแค่ “ปลายน้ำ” ของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ตำรวจอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล ป.ป.ช.มาจากการแต่งตั้งของรัฐประหารครั้งที่แล้ว (ซึ่งตอนนั้นตั้ง คตส.อีกต่างหาก และตอนนี้ สนช.ก็กำลังจะตั้งอีก 5 คน) แล้วถ้าจำกันได้ คสช.ก็ใช้อำนาจย้ายอัยการสูงสุด
นอกจากนี้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เสรีภาพที่จำกัด ก็มีผลกระทบการรวบรวมพยานหลักฐานสู้คดีของจำเลยที่เป็นนักการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ความพยายามแยกอำนาจศาล องค์กรอิสระ ออกจากรัฐประหาร เพื่อบอกโลกว่าเป็น “รัฐประหารอารยะ” ใช้กระบวนการยุติธรรม ส่งผลด้านกลับคือทำให้ความยุติธรรมสับสน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าศาลตัดสินอย่างเที่ยงธรรมว่าทักษิณหมิ่นกองทัพ แต่กลับกัน นักการเมืองหรือประชาชนฟ้อง คสช.ไม่ได้เพราะนิรโทษกรรม ต่อให้ศาลยุติธรรมเพียงไร ก็เป็นความยุติธรรมด้านเดียวอยู่ดี
การดำเนินคดียิ่งลักษณ์ก็เช่นกัน อย่าปฏิเสธเลยว่ากระทบความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรม แม้ศาลไม่รับฟ้องอดีตอัยการสูงสุด จากการสั่งฟ้องคดีจำนำข้าวก่อนประชุม สนช.ถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง เพราะในทางกฎหมายพิสูจน์ไม่ได้จงใจ แต่ในความเห็นชาวบ้าน… ไม่ต้องบอกก็ได้
การใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด เรียกค่าเสียหายจากนโยบายจำนำข้าว ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะรัฐบาลต้องใช้อำนาจโดยตรง แม้อ้างว่ามาจากคำวินิจฉัย ป.ป.ช.เพราะตาม พ.ร.บ.นี้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดความเสียหาย ออกคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย แล้วยิ่งลักษณ์ค่อยไปร้องค้านต่อศาลปกครอง
รัฐประหาร 2534 ยึดทรัพย์นักการเมือง แต่ศาลตัดสินเป็นโมฆะ รัฐประหาร 2549 หันไปใช้ “ตุลาการภิวัตน์” แต่ผลที่ตามมาคือกระบวนการยุติธรรมปั่นป่วนสับสนไปหมด ทำไมไม่สรุปบทเรียน
ใบตองแห้ง