นักวิเคราะห์ไม่ (เคย) รัก JASแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
มูลค่าการซื้อขายหุ้นประจำวันของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไม่เคยหลุดอันดับ Top 10 มาโดยตลอด ถือเป็นหุ้นพิมพ์นิยมของนักลงทุนรายย่อยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่มุมมองของนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก กลับตรงกันข้าม
มูลค่าการซื้อขายหุ้นประจำวันของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไม่เคยหลุดอันดับ Top 10 มาโดยตลอด ถือเป็นหุ้นพิมพ์นิยมของนักลงทุนรายย่อยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่มุมมองของนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก กลับตรงกันข้าม
หุ้นตัวนี้ ราคาเคลื่อนไหวทางขาขึ้นทีไร มีอันถูกนักวิเคราะห์ร่วมกันถล่ม แนะให้ขาย หรือ ปรับราคาเป้าหมายที่ต่ำกว่าตลาด ด้วยข้ออ้างสารพัดเอามาอธิบาย
ขณะนักลงทุนขาประจำรู้ดีว่า หุ้นตัวนี้ มีเสน่ห์ตรงที่ผลประกอบการมีกำไรต่อเนื่อง แถมปีนี้ ขายทรัพย์สินเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 หมื่นกว่าล้านบาทเศษ ทำให้กำไรพิเศษ ดันกำไรสุทธิโป่งพองมาก และยังมีกำไรจากการถือหน่วยลงทุน JASIF อีกต่างหาก ดีวันดีคืน
ที่ผ่านมา ไม่นับปีนี้ที่อัตรากำไรสุทธิโตมากกว่าระดับปกติ 55% ผลประกอบการของ JAS โดดเด่นมาตลอด อัตรากำไรสุทธิโตขึ้นทุกปี จากระดับ 11% ในปี 2554 มาเป็น 26.35% ถือว่าอยู่ในระดับหัวแถวของบริษัทจดทะเบียนทีเดียว
นักลงทุนไม่ได้กินแกลบ จะได้เชื่อกันง่ายๆ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังหาเหตุมีมุมมองเชิงลบมาตำหนิได้เรื่อยๆ
หลายเดือนมานี้ หลังจากผู้บริหารของJAS ออกตัวว่าจะเข้าประมูลขอใบอนุญาตคลื่นมือถือ 1,800MHz และ 900MHz ที่ กสทช.บอกว่ามี 4 ใบด้วยกัน นักวิเคราะห์ก็พากันออกบทรายงานวิเคราะห์ ด้วยมุมองทางลบต่อเนื่อง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ในลักษณะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
บางคนบอกว่า คิดการใหญ่เกินตัว “เข้าข่ายปลาเล็ก คิดกินปลาใหญ่”
ล่าสุด เมื่อ JAS ส่งบริษัทลูกเข้าซื้อใบอนุญาตประมูลคลื่น 4 จีจริงจัง แถมเปิดตัวทีมงานครบครัน บทวิเคราะห์ก็ออกมาทางลบอีก
กลายเป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์ไหนๆ ก็ไม่รักโดยปริยาย
ล่าสุด นักวิเคราะห์รายหนึ่งของสำนักลูกผสมญี่ปุ่น สรุปสั้นๆ ว่า จะได้ใบอนุญาต 4G LTE หรือไม่ ก็มีปัญหาทั้งสิ้น
– ธุรกิจเดิมมีแรงกดดันต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ บั่นทอนกำไร ทั้งจากค่าเช่า JASIF สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายขยายโครงข่ายและพื้นที่ให้บริการ FTTx สูงขึ้น และมีความเสี่ยงเพิ่มจากลงทุนธุรกิจ Mobile Broadband ขณะที่ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นแค่ปีละ 1.2 แสนราย
– ธุรกิจใหม่ที่กำลังจะทำ มีต้นทุนสูงทั้ง ค่าใบอนุญาตขั้นต่ำ 15,912 ล้านบาท โดยที่ค่าใบอนุญาตอาจสูงกว่าราคาเริ่มต้น และจะมีลูกค้าเริ่มต้นปีแรกน้อยกว่า 1 ล้านราย จะถูกเบียดขับออกจากตลาดมือถือที่มีการแข่งขันรุนแรง ดังนั้น ทางเลือกที่ดีสุดของบริษัทคือ ไม่ชนะการประมูลคลื่นจะเป็นผลดีกว่า
ข้อสรุปดังกล่าว นักวิเคราะห์ด้วยกันเห็นด้วยเป็นโขยง นั่นคือ ปัจจุบันก็ถดถอย ส่วนอนาคตก็มัวหม่น …แล้วจะให้ทำอะไรเพื่อนักวิเคราะห์พึงพอใจ แต่ที่นักวิเคราะห์ไม่พูดถึงคือ เทคโนโลยี 4G LTE มีไว้เพื่อรองรับการสื่อสารไร้คลื่นแบบ non-voice โดยตรง ซึ่งจะมาเบียดขับกับอินเทอร์เน็ตโดยตรง
ดังนั้น หาก JAS ทำตัวเป็นแมวอ้วน ไม่ยอมขยับตัวคว้าโอกาสจาก 4GLTE จากเทคโนโลยีใหม่ กินแต่บุญเก่าของ3BB ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะหมดอนาคตก็ย่อมเกิดขึ้น
นักบริหารที่ดีนั้น ต้องสร้างโอกาส ไม่ยอมให้ถูกต้อนเข้ามุมอับ การได้ใบอนุญาต 4GLTE จึงเป็นทั้งความจำเป็นและโอกาส เพราะสามารถนำเอาฐานลูกค้าของ3BB เดิม ต่อยอดกับเทคโนโลยีใหม่แบบ convergence
ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมากในญี่ปุ่นคือ SOFTBANK ที่เคลื่อนตัวจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต และไว-ไฟ มาสู่ธุรกิจ 3GLTE จนกลายเป็นอันดับ 2 ในธุรกิจโทรคมนาคมญี่ปุ่น แถมยังไปซื้อบริษัท SPRINT ในสหรัฐฯ และถือหุ้นใหญ่ อาลีบาบา เป็นที่ฮือฮามาแล้ว
ว่ากันว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนักวิเคราะห์ กับผู้บริหารของ JAS ที่นำโดย พิชญ์ โพธารามิก นั้น ค่อนข้าง “ห่างเหิน เหินห่าง” มาแต่ไหนแต่ไร
เล่าลือกันในแวดวงนักวิเคราะห์ว่า ความร่วมมือของผู้บริหาร JAS ในการให้ข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ฐานะและอนาคต ยากเย็นแสนเข็ญ ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะเข้าข่าย “ที่อยากได้ ไม่ให้ ที่ไม่อยากได้ จะยัดเยียด”
ความสัมพันธ์แบบนี้ ทำให้อาการหมั่นไส้กำเริบหนักข้อ และไม่เคยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นแต่อย่างใด เป็นอย่างนี้ก็เข้าสูตรง่ายๆ ทางใครก็ทางมัน หรือ The Way We Were
จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้น JAS จึงวนเวียนอยู่ในกรอบ 5-8 บาท เหมือนเพลง จุดเทียน เวียนวน ยังไงยังงั้น