เดือนแห่งการเดิมพัน
วานนี้เป็นวันแรกของการเดิมพันที่จะรู้ผลชัดเจนสิ้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อยืนยันว่ากลยุทธ์อย่างไหนจะถูกต้องกว่ากัน
วานนี้เป็นวันแรกของการเดิมพันครั้งสำคัญที่จะรู้ผลชัดเจนสิ้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อยืนยันว่าทางเลือกเชิงกลยุทธ์ในการนำเอาปากท้องมาเดิมพันกับชีวิตของประชาชนชนอย่างไหนจะถูกต้องกว่ากัน
นี้จะชี้เป็นชี้ตายให้กับเก้าอี้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ด้วย
ไม่ว่าคนอยู่เบื้องหลังทางเลือกจะเป็นใคร และใช้สมองหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ คิดกัน แต่ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่านี้คือการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายอย่างที่ได้เกิดขึ้นจะยังผลให้รัฐบาลมีความแข็งแกร่งเสมือนนกฟินิกซ์ที่ยากจะตาย หรือไม่ก็ตรงกันข้ามคือถูกสาปส่งไม่ให้ได้ผุดได้เกิดไปเลยอย่างถาวร
ข้ออ้างของรัฐบาลในการเปิดประเทศมีท่าทีชัดเจนคือต้องการให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังถูกคาดหมายว่าน่าจะมีตัวเลขติดลบในปี้นี้ต่ออีกปี ให้กลับมาเป็นบวกได้จากการเปิดประเทศรับฤดูการท่องเที่ยวและการบริโภคสินค้าเพิ่มเติม โดยอ้างว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง และต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระตุ้นภาคธุรกิจรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น แต่สิ่งที่หลายคนกังวลคือหากการปะทุแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แม้จะทุเลาลงไปเหลือต่ำกว่าวันนี้ 10,000 คน หวนย้อนกลับมาอีกรอบในฐานะเชื้อโรคกลายพันธุ์ง่าย ๆ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง
คำถามคือความกังวลเป็นอยู่เกินจริงหรือไม่ …คำตอบก็จะรู้ภายในสิ้นเดือนนี้เช่นกัน
แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะออกมาบอกว่าได้มีมาตรการทางการป้องกันล่วงหน้าสำหรับคนเดินทางจาก 46 ประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
ดูจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าหากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ต้องการเข้ามาเที่ยวในไทย ตามนโยบายการ “เปิดประเทศ” ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง? รวมถึงคนไทยต้องเตรียมพร้อมรับนโยบายนี้อย่างไร? ก็ค่อนข้างรัดกุมโดยหลักการ เช่น
– เงื่อนไข “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาดังนี้
ต้องเป็นคนที่มาจาก 10 ประเทศที่กำหนดว่าเป็น “ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ” เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา เป็นต้น
ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว
ต้องแสดงหลักฐานว่าตนปลอดเชื้อโควิด-19 เช่น ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ โดยต้องทำการตรวจจากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
– เช็กไทม์ไลน์การ “เปิดประเทศ” และเปิดจังหวัดต่าง ๆ
1 พฤศจิกายน 2564 : เปิดประเทศเฟสที่ 1 ฉีดวัคซีนครบเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งในเบื้องต้นรัฐประกาศให้มี 10 ประเทศที่เข้าไทยได้ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา เป็นต้น
1 ธันวาคม 2564 : เปิดประเทศเฟสที่ 2 เพิ่มรายชื่อประเทศที่ไม่ต้องกักตัวเพิ่มเติม และรัฐบาลไฟเขียวให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ลูกค้านั่งดื่มในร้านได้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
1 มกราคม 2565 : เปิดประเทศเฟสที่ 3 เพิ่มรายชื่อประเทศที่ไม่ต้องกักตัวเพิ่มเติม
จังหวัดไหนเล็งเปิดให้ท่องเที่ยวบ้าง?
จากที่ภาครัฐเห็นสมควรแก่การเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 ยังได้กำหนดให้ “เปิดจังหวัดท่องเที่ยว” เพิ่มเติมด้วยกัน 5 จังหวัด ในเฟส 1 ดังนี้
- กรุงเทพฯ
- เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า)
- ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน)
- เพชรบุรี (อำเภอชะอำ)
- ชลบุรี (เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ)
โดยจังหวัดที่กล่าวมานี้จะต้องไม่พบการติดเชื้อโควิดใหม่ที่เป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่จนสร้างผลกระทบและความหวาดกลัวที่รุนแรงอีก
คำถามต่อไป เป้าหมายฉีดวัคซีนที่รัฐกำหนด วันนี้ใกล้ถึงเป้าหรือยัง?
ศบค. มีความประสงค์ให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป้าหมาย จำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้
ข้อมูลล่าสุดจาก “หมอพร้อม” ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 12.14 น. มีคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนสะสมประมาณ 63 ล้านโดส (63,218,738 โดส) แบ่งเป็น
เข็มที่ 1 : จำนวนประมาณ 36 ล้านโดส (36,558,870 โดส)
เข็มที่ 2 : จำนวนประมาณ 24 ล้านโดส (24,842,026 โดส)
เข็มที่ 3 : จำนวนประมาณ 1 ล้านกว่าโดส (1,816,578 โดส)
เข็มที่ 4 : จำนวนประมาณ 1,264 โดส (1,264 โดส)
เหลือต้องฉีดอีกประมาณ 37 ล้านโดส (37,420,197 โดส)
คำถามต่อไปคือการเปิดประเทศครั้งนี้ คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร?
รัฐบาลระบุอย่าง “โลกสวย” ว่าคนไทยเองในฐานะเจ้าของบ้านก็ต้องเตรียมตัวป้องกันตนเองให้ดีเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดโควิดระบาดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาอีกระลอกโดยคนไทยยังคงต้องตั้งการ์ดให้สูง และปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ. ได้เสนอแนวคิด Universal Prevention for Covid-19 เรียกได้ว่าเป็น “การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล” 10 ประการ
ซึ่งค่อนข้างย้อนแย้งกับนิสัย “ทำได้ตามใจคือไทยแท้” อย่างยิ่ง
การดำเนินการใด ๆ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของเรากระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง…ผู้คนมีรายได้ มีงานทำเพิ่มขึ้นบ้าง…บนเงื่อนไขที่ว่าจะไม่เป็นการกระหน่ำซ้ำเติมทำให้ภาวะโรคระบาดรุนแรงขึ้น หรือกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้ง…ล้วนเป็นเรื่องที่สมควรจะต้องกระทำทั้งสิ้น
เท่าที่ผมติดตามข้อมูลการระบาดระดับโลกอยู่ห่าง ๆ ก็รู้สึกว่าในภาพรวมเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มน้อยลง และการล้มป่วยถึงขั้นเสียชีวิตเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้…ไม่ใช่เรื่องของการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการเปิดประเทศ…แต่เป็นเรื่องของความห่วงใยและความวิตกกังวลในเรื่องของความ “ไม่พร้อม” ของ กลไกต่าง ๆ ที่จะดำเนินการให้ปลอดภัยเสียมากกว่า
ความกังวลและมุมมอง “โลกสวย” จะรู้ผลลัพธ์อย่างแท้จริงตอนต้นเดือนธันวาคมไปแล้ว
ถึงเวลานั้น ใครจะอ้างหรือแก้ตัวอย่างไรคงไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น รวมทั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยด้วย