พาราสาวะถี

ทุกแวดวงต่างร่วมไว้อาลัยจากการจากไปของด็อกเตอร์โกร่ง ที่ได้ทิ้งบทความสุดท้ายในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์มติชนที่ชื่อ “ขอลาการเขียนไว้ก่อน”


เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด็อกเตอร์วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและอีกหลายหัวโขนที่ล้วนแล้วแต่เป็นที่ยอมรับของคนไทยส่วนใหญ่ ได้ถึงแก่อนิจกรรมในวัย 78 ปีด้วยโรคมะเร็ง ถือเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลที่สำคัญอีกรายของประเทศไทย ทุกแวดวงต่างร่วมไว้อาลัยจากการจากไปครั้งนี้ของด็อกเตอร์โกร่ง ที่ได้ทิ้งบทความสุดท้ายในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์มติชนที่ชื่อ “ขอลาการเขียนไว้ก่อน” เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

บทส่งท้ายในบทความดังกล่าว ด็อกเตอร์โกร่งบอกไว้ว่า ขอยุติการเขียนทั้งมติชนรายวันและประชาชาติธุรกิจไว้เพียงเท่านี้ก่อน เมื่อสุขภาพแข็งแรงวันหน้าฟ้าใหม่คงได้เขียนได้อ่านกันอีก “หวังว่าจะได้พบกันอีก” แต่สุดท้ายบรรดาผู้ติดตามข้อเขียนของนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นกูรู ผู้ชี้ทิศทางและช่วยมองอนาคตของประเทศได้ดีคนหนึ่งนั้น ไม่คิดว่านั่นจะเป็นการได้อ่านงานเขียนของอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก่อนหน้านั้นก็มีบทความที่ถือว่าน่าจะช่วยเตือนสติของฝ่ายกุมอำนาจของประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยมีการเผยแพร่บทความดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ในหนังสือพิมพ์มติชน กับหัวข้อ “61เผาหลอก 62เผาจริง 63เก็บกระดูก 64ลอยอังคาร” เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศไทยตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 กับบทสรุปที่ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มป่วยเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2557 ปีที่ทหารทำปฏิวัติรัฐประหาร มาจบและเผาหลอกเมื่อปี 2561 แล้วก็เผาจริงเอาเมื่อปีกลาย 2562 ปีนี้ พ.ศ. 2563 เผาจริงแล้วก็ต้องเก็บกระดูก ส่งต่อไปปีหน้า 2564 ให้ได้เก็บกระดูกเข้าธาตุและลอยอังคาร รอดูลูกหลานว่าจะทำอย่างไร

นี่คือความห่วงใยที่มีต่อบ้านเมือง ในฐานะคนที่คลุกคลีกับการเมืองหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับเผด็จการจากการรัฐประหาร มิหนำซ้ำยังเคยเป็นกุนซือในรัฐนาวามาถึง 7 รัฐบาล ย่อมมองเห็นอนาคตของประเทศจะก้าวไปแบบไหน แต่ด้วยกลเกมที่วางแผนกันไว้อย่างแยบยลและยาวนาน สิ่งที่ด็อกเตอร์โกร่งเสนอแนะด้วยความหวังดีมีแต่เงียบหายไปกับสายลม เชื่อได้ว่าด้วยสายตาและประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานนั้น วันนี้ชะตากรรมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ดูว่าจะเดินทางเข้าสู่มุมอับไปทุกที

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นประสบการณ์ตรงของด็อกเตอร์โกร่งจะสามารถชี้แนะรัฐบาลสืบทอดอำนาจในฐานะรัฐบาลที่มาจากทหารปฏิวัติได้คือ ความที่เคยเป็นอดีตกุนซือให้กับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน แน่นอนว่าเจ้าตัวเคยเล่าให้สื่อฟังว่าในฐานะที่ปรึกษา ตนมีความคิดที่ไม่เหมือนใคร ไม่ได้เดินตามตำราที่ใครก็หาอ่านได้ ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ “ผมเข้าใจดีว่า สำหรับนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร รัฐศาสตร์เขาอาจจะเข้าใจ แต่จะให้เขาเข้าใจเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร”

ตรงนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่สถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แม้จะอาศัยทีมที่ปรึกษามาคอยให้คำแนะนำ แต่เมื่อตัวเองไม่ได้มีฐานความรู้และมีความเข้าใจเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งแล้ว การแก้ไขปัญหาจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสิ่งที่ตัวเองอยากจะให้เป็นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ทีมงาน 4 กุมารจนมาถึงวันนี้ประเทศไทยยังมองไม่เห็นอนาคต ไม่ต้องอ้างเรื่องของโควิด-19

วิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เหมือนที่ทุกคนทุกฝ่ายต่างช่วยกันย้ำมาตลอด การเป็นผู้นำประเทศและได้ชื่อว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะต้องสามารถชี้ทิศเห็นทางในการที่จะขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤตที่เผชิญได้ หากโควิด-19 คือสถานการณ์ที่ทั้งโลกเผชิญและยังไร้ทางออกก็ไม่ว่ากัน แต่การแก้ไขปัญหาจากราคาน้ำมันแพงหรือสินค้าราคาแพง จะอ้างกลไกตลาดหรือสภาพปัญหาน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ แล้วไม่แก้ไขหรือปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง เช่นนี้ไม่มีผู้นำหรือรัฐบาลจะดีกว่า

ขณะที่มิติทางการเมือง การที่มีบรรดานักร้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เวลานี้ไปเข้าคอกพรรคเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไปยื่นร้องเพื่อให้ตรวจสอบหรือมีเป้าหมายเพื่อการยุบพรรคเพื่อไทยนั้น มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเหนือจากความกลัวที่มีต่อคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในยามขาลงของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ย่อมสวนทางกับอีกฝั่งที่ไม่ว่าโพลสำนักไหนหากไม่ใช่เป็นทาสรับใช้อำนาจเผด็จการย่อมรู้ว่า ประชาชนจะเลือกใคร พรรคไหน หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันนี้

ดังนั้นจึงมีการยื่นร้องกันอุตลุดทั้งประเด็นกล่าวหาทักษิณครอบงำพรรค ทั้งที่ วิษณุ เครืองาม ก็ยืนยันแล้วว่าไม่เข้าข่าย จนเวลานี้เปลี่ยนไปเป็นว่าคนแดนไกลพูดถึงการแก้ไขมาตรการ 112 หลังจากนั้นพรรคนายใหญ่ก็มีท่าทีเปลี่ยนไป ก็สามารถไปยื่นร้องให้มีการยุบพรรคกันได้ ล่าสุดเรืองไกรคนเดิมก็ไปยื่นให้มีการตรวจสอบและร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยอีก ด้วยข้อหา ตั้ง “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผู้อำนวยการพรรคโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

น่าสนใจไม่น้อยจากรอยบาดแผลที่แตกหักกับพรรคเพื่อไทยแล้วย้ายคอก การยื่นร้องที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนสีเสื้อไม่เคยประสบความสำเร็จ หากหนนี้ย้ายข้างแล้วการยื่นร้องเป็นผล ไม่ได้แค่ทำให้เรืองไกรรู้สึกดีเหมือนเดิม หากแต่ยังมองไปถึงกระบวนการที่พิจารณา ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จะถูกตั้งข้อกังขาจากสังคม สิ่งที่ถูกวิจารณ์กันก่อนหน้า ฝ่ายหนึ่งผิดตลอดอีกฝั่งทำอะไรก็ไม่ผิด แสดงว่าข้อครหาเป็นความจริง

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคสืบทอดอำนาจกับข่าว พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. กับ ฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือปลัดฉิ่ง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยจะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้น แนวโน้มไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง รายแรกแลกกับการไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องหาเก้าอี้ให้ได้ทำงานในฐานะน้องรักต่างสถาบันของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ส่วนกรณีปลัดฉิ่งถ้าเป็นจริงตามนั้นก็หมายความว่าพรรคใหม่ที่ตั้งท่ากันตอนสวมหัวโขนผู้ยิ่งใหญ่แห่งกระทรวงคลองหลอดก็มีอันแท้งไปทันที การดึงเข้ามาเช่นนี้เป้าหมายหนีไม่พ้นอาศัยคอนเน็คชั่นที่มีจัดการทุกพื้นที่ทั่วไทยเตรียมพร้อมรับเลือกตั้ง

Back to top button