พาราสาวะถีอรชุน

งานรำลึก 42 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีคนไปร่วมกันหลากหลายแต่คึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม หนึ่งในนั้น หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีไปร่วมวางพวงมาลาไว้อาลัยแด่วีรชนผู้เสียสละ พร้อมๆกับการกล่าวถึงหลักของประชาธิปไตยที่ไทยควรมี 4 ประการได้แก่ ความสามัคคี ความพอเพียง การไม่ให้ร้ายผู้อื่นหรือการไม่กล่าวเท็จ และการไม่ทุจริตคดโกงประเทศ


งานรำลึก 42 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีคนไปร่วมกันหลากหลายแต่คึกคักเหมือนเดิมหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม หนึ่งในนั้น หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีไปร่วมวางพวงมาลาไว้อาลัยแด่วีรชนผู้เสียสละ พร้อมๆกับการกล่าวถึงหลักของประชาธิปไตยที่ไทยควรมี 4 ประการได้แก่ ความสามัคคี ความพอเพียง การไม่ให้ร้ายผู้อื่นหรือการไม่กล่าวเท็จ และการไม่ทุจริตคดโกงประเทศ

ที่ใช้ได้ในฐานะคนไทยคงมีแค่ประเด็นเดียวคือความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ แต่อีก 3 ประการนั้นต้องถามคนที่พูดว่าทำได้หรือไม่ และต้องย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยว่าเพราะอะไร ความสามัคคีของคนในบ้านเมืองนั้นมีมาแต่นมนาน แต่ถูกทำลายลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาด้วยเหตุผลการปลุกผีระบอบทักษิณและสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน

อันเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่สมหวังในผลประโยชน์ส่วนตัว ทำให้เกิดการให้ร้ายผู้อื่น กล่าวเท็จ จนเป็นเหตุให้บ้านเมืองเข้าสู่โหมดไร้ทางออกต้องโบกมือดักกวักมือเรียกท็อปบู๊ตออกมาก่อการรัฐประหาร แม้กระทั่งไปตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหารก็ยังทำมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคดโกงของประเทศได้

มิหนำซ้ำ โครงการที่ชื่อว่าไทยเข้มแข็งยังถูกตั้งคำถาม ใครเข้มแข็งกันแน่ เพราะกรณีหัวคิว 30 เปอร์เซ็นต์ก็เกิดขึ้นในรัฐบาลเทพประทานนั่นเอง นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ส่วนหนึ่งระบอบทักษิณจะเลวร้ายในบางเรื่อง แต่หลายๆเรื่องก็เป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน เห็นได้ชัดเจนคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน

ไม่เช่นนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่นำไปป่าวประกาศกลางที่ประชุมสหประชาชาติถึงความสำเร็จของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้านถ้าไม่สำคัญคงไม่เป็นสิ่งแรกที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเติมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี

นั่นถือเป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศชื่นชอบ ทว่าความเป็นจริงประชาธิปไตยกับความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด ซึ่ง แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในสาขาเศรษฐศาสตร์ มีผลงานทางความคิดของเขาซึ่งมีชื่อเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคและความยากจนที่น่าสนใจ

ในหนังสือที่ชื่อ The Great Escape: Health, Wealth, and the Origins of Inequality” มีเนื้อหาสั้นๆ ส่วนหนึ่งที่ดีตันระบุเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคมได้อย่างคมคาย โดยระบุว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางการเมืองที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยนั้นกำลังอยู่ในอันตรายจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และยิ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยมากขึ้น

ถ้าหากประชาธิปไตยถูกทำลายก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี เพราะจากที่ผู้คนเคยมีเหตุผลที่ดีในการเห็นคุณค่าตัวเองที่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ผู้คนก็จะสูญเสียการเห็นคุณค่าในจุดนี้ซึ่งเป็นปัจจัยที่เสี่ยงจะเกิดภัยอื่นๆตามมา ความกังวลในเรื่องผลกระทบจากความไม่เสมอภาคอย่างรุนแรงนี้ไม่ใช่เพราะมาจากความอิจฉาคนรวยเลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนรายได้ระดับสูงกำลังเป็นภัยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกๆคน

 ปมตรงนี้องคาพยพที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจต่างหยิบยกมานำเสนอ โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ทำไปทำมาไม่รู้ว่ามันดูดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยากที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ เอาเฉพาะแค่กรณีการช่วยเหลือคนยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน มาจนถึงวันนี้ถูกมองว่าจะทำให้เป็นผู้ไม่มีอันจะกินเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำลังสาละวนหาจุดตั้งตั้งเพื่อเริ่มลงมือเขียนในมาตราแรกกันอยู่นั้น พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้พูดในเวทีเสวนาครบรอบ 42 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่าการนำเจตจำนงของรัฐธรรมนูญออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการ

 เพราะเจตจำนงของรัฐธรรมนูญนั้น หากสังคมใดเข้าใจเรื่องนี้ทั้งระบอบการเมืองและสังคมจะอยู่กันได้อย่างราบรื่น พูดให้ชัดเจตจำนงของรัฐธรรมนูญก็คือ หลักการต่างๆในรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการเดินทาง หลักแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล โดยเจตจำนงดังกล่าวมี 3 คุณค่าหลักที่สำคัญ 3 ประการ

อันได้แก่ การให้ความสำคัญกับตัวมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่ไม่สามารถใช้ได้โดยลำพังแต่ต้องได้รับการยินยอมจากประชาชนและมีการกำกับตรวจสอบอยู่เสมอ สุดท้ายคือ คุณค่าว่าด้วยสาธารณะที่เรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งทั้ง 3 คุณค่าดังกล่าวก่อให้เกิดหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม หากรัฐธรรมนูญที่ออกมาทำลายหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่มีมาตรฐาน

 ประเด็นเหล่านี้คนอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ คงมองทะลุปรุโปร่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในฐานะเนติบริกรใหญ่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบที่ควรจะเป็นหรือจะเข็นกันไปตามความพอใจของผู้มีอำนาจ บทเรียนจากความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับด๊อกเตอร์ปื๊ดน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจ สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะกดดันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ใครจะรับประกันได้ว่าในอนาคตจะไม่เกิดความรุนแรงขึ้นอีก

 

Back to top button