Déjà vuพลวัต2015
ความพยายามฝืนธรรมชาติของกองทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่มีอะไรชัดเจนเท่ากับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการซื้อขายหุ้น BAYเมื่อวานนี้
ความพยายามฝืนธรรมชาติของกองทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่มีอะไรชัดเจนเท่ากับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการซื้อขายหุ้น BAYเมื่อวานนี้
การถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยของต่างชาติ เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่วันอังคารที่ 13 ตุลาคมแล้ว แต่เมื่อวานนี้ชัดเจนเมื่อตัวเลขขายสุทธิของต่างชาติ 923 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขซื้อ 7,047 ล้านบาท และขาย 7,979 ล้านบาท
ตามรูปการณ์แล้ว ดัชนีตลาดน่าจะร่วงหนัก จากแรงขายทำกำไรของต่างชาติ เพราะเมื่อวานนี้ หุ้นบลูชิพชั้นนำในตลาด ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สื่อสาร และธนาคาร พากันติดลบกันทั่วหน้า มีเพียงหุ้นที่โดดเด่นอย่างมาก 2 รายการเท่านั้น คือ AOT และ BAY ที่ประคองตลาดให้ติดลบเมื่อปิดตลาดเพียงแค่ 1.61 จุด เป็นตลาดที่ติดลบน้อยที่สุดในเอเชียเลยก็ว่าได้
ในกรณีของ AOT ไม่มีปัญหา เพราะจำนวนคนใช้บริการผ่านสนามบินในดูแลของบริษัท เพิ่มขึ้นโดดเด่นอย่างมาก ทำให้รายได้และกำไรคาดว่าจะทำนิวไฮเสียด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นจะสวนทางกับตลาด
กรณีของ BAY ตรงกันข้าม จากราคาหุ้นที่นอนแน่นิ่งมายาวนานที่ระดับ 29-32 บาทนานหลายเดือนเพราะขาดสภาพคล่อง บางวันซื้อขายกันเพียง 1 หมื่นหุ้นเศษเท่านั้น แต่เมื่อวานนี้ สถานการณ์กลับตาลปัตร เพราะปรากฏว่าตั้งแต่ 11.00 น.วานนี้ ราคาหุ้นตัวนี้ มีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ดันราคาหุ้นจากระดับ 31.025 บาท พุ่งแรงสวนกลับตลาดขึ้นไป จนกระทั่งไปถึงราคาสูงสุดของวันที่ระดับ 36.00 บาท ในเวลาประมาณ 15.15 น. จากนั้นโรยตัวลงมาเล็กน้อย หลังท้ายตลาดก็ดันกลับไปที่จุดสูงสุด อีกครั้ง ก่อนจะถอยลงมาปิดที่ระดับ 35.75 บาท บวกไป 4.50 บาท หรือ 14.40% ด้วยจำนวนหุ้นที่ซื้อขายกัน 14.79 ล้านหุ้น มูลค่าซื้อขาย 518.95 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 7 เดือน
ตามสัญญาณทางเทคนิคแล้ว ราคาปิดดังกล่าว พิจารณาจากทฤษฎีแท่งเทียน ถือว่านี่คือการเปิดไส้เทียนให้ราคาวิ่งต่อในวันต่อไป หลหลังจากที่วิ่งมาวันแรกแรงอย่างนี้
ความไม่ปกติของมูลค่าและปริมาณซื้อขายหุ้น BAY เมื่อวานนี้ มีลักษณะและทิศทางคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ย้อนความในอดีตคราวนั้น วันที่ 6 มกราคม ราคาหุ้นของ BAY ปิดที่ราคา 42.25 บาท มีปริมาณหุ้นซื้อขายตลอดวันนั้นเพียง 3.67 แสนหุ้น แต่หลังจากวันนั้น ราคาก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องโดยมีปริมาณซื้อขายวันละมากกว่า 5 ล้านหุ้น ซึ่งระยะแรกไม่มีใครตั้งคำถามเพราะเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดที่มากถึง 7.355 พันล้านหุ้น ไม่มีนัยสำคัญ
ราคาหุ้นวิ่งไล่ราคากันต่อเนื่องถึงวันที่ 14 มกราคม ปิดวันนั้นที่ราคา 60 บาท แล้วอีก 2 วันถัดมา ก็ลดการซื้อขายลง ราคาย่อตัวลงที่ระดับ 56 บาท 2 วันติดกัน หลังจากนั้นวันที่ 16 มกราคมก็วิ่งแรงขึ้นมาอีกโดยไม่มีมูลค่าซื้อขายมากนัก จนถึงราคา 64 บาทในวันที่ 21 มกราคม
วันที่ 22 มกราคม ราคาหุ้นตัวนี้พุ่งกระฉูด ด้วยปริมาณซื้อขายมากกว่า 10 ล้านหุ้น จากนั้นก็มีการดันราคาขึ้นไปอีก 2 วันทำการรวดโดยปิดในวันศุกร์ที่ 23 มกราคม ที่ระดับราคาสูงสุดของ 90 บาท
วันจันทร์ที่ 26 มกราคม เปิดตลาดเช้าขึ้นมา ราคาหุ้นตัวนี้ กระโดดเปิดที่ราคา 94 บาท แล้ววิ่งไปที่จุดสูงสุด 104 บาท แล้วถูกแรงเทขายออกมา ปิดลบที่ราคาต่ำสุดของวัน 78 บาท ด้วยจำนวนซื้อขายกว่า 19 ล้านหุ้น
ก่อนที่ราคาจะร่วงลงมายาวนานในเวลาต่อมา เดือนมกราคมนั้น ราคาเปิดร่วงตอนเช้าครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการตรวจสอบ พบว่า ราคาร่วงลงมาที่ระดับ 75.25 บาท แล้วพยายามวิ่งไปที่สูงสุด 85 บาท ก่อนจะลงมาปิดลบที่ราคาต่ำสุดของวันที่ 72.25 บาท โดยมีจำนวนหุ้นซื้อขาย 15 ล้านหุ้นเศษ
ครั้งนั้น การสร้างกระแสลากราคาหุ้นBAY ดังกล่าว เกิดพร้อมกับข่าวลือที่เกิดขึ้นในห้องค้าว่า กลุ่มรัตนรักษ์ที่ถือหุ้นอันดับสอง ตัดสินใจจะขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่น MUFG ทั้งหมด เรียกว่าทิ้งธนาคารที่ก่อร่างมายาวนานหลายทศวรรษเบ็ดเสร็จ แม้โดยข้อเท็จจริงก็ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นว่ากลุ่มญี่ปุ่นจะเข้าถือหุ้นเพิ่มได้อย่างไรโดยไม่ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อนตามกติกา
ข่าวลือดังกล่าวถูกผู้บริหารของ BAY ออกมาแถลงปฏิเสธในสายวันจันทร์ที่ 26 มกราคม ซึ่งทันทีที่ข่าวจริงออกมา ก็เข้าล็อกของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการลากราคาหุ้น ปล่อยให้หุ้นร่วงอย่างแรง ตามสูตร “ขึ้นเพราะข่าวลือ ลงเพราะข่าวจริง”
โจทย์ที่คนซึ่งเกี่ยวข้องในตลาดตั้งคำถามคือ หุ้น BAY ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีหุ้น 96%อยู่ในกำมือของ 4 ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล แต่รวมกันมีแค่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม MUFG ของญี่ปุ่น และรัตนรักษ์ ของไทย ดังนั้น จึงมีฟรีโฟลตเพียงแค่ 4% เหตุใดจึงไม่ถือว่า มีการเคลื่อนไหวที่เข่าขายถูกขึ้นบัญชีแคช บาลานซ์ เหมือนหุ้นรายอื่นๆ
ยามนั้น คำตอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ที่ทำกันงงกันเข้าข่าย “เอ๋อ” เลยทีเดียว คือ ทั้ง ตลาดฯและ ก.ล.ต. ยืนยันว่าไม่เข้าข่าย เพราะฟรีโฟลต BAYมีมากกว่า 15% ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างยิ่งยวด
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่อาจจะหวังได้ว่า จะมีการกล่าวโทษอะไรกับ BAY เพราะยังคงมีคนปกป้องว่าไม่มีอภิสิทธิ์อะไร โดยมีไม่คำอธิบายอื่นใด ดังนั้นจึงเหลือคำถามว่า แล้วดันราคาทำไม และใครกระทำ
คำตอบจากการตรวจสอบข้อมูลหลายด้าน ระบุตรงกันว่า เป็นฝีมือของกองทุนหรือนักลงทุนสถาบันในประเทศนี่เอง ที่เมื่อวานนี้เป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 618 ล้านบาท
กองทุนเหล่านี้ (ยังไม่อาจะรู้ได้ว่ามีใครบ้าง แต่ตลาดฯและ ก.ล.ต. ควรรู้ดี ถ้าอยากจะให้คนรู้ ไม่ช่วยกันอย่างลำเอียงเกินเหตุแบบไร้ยางอาย) ทำการขุดค้นหุ้น BAY เพื่อเอามาประคองตลาดไม่ให้ร่วงแรงจนเกินกรอบสัญญาณทางเทคนิคที่จะทำให้เกิดแรงเทขายรุนแรง
เหตุผลที่นำมาใช้อธิบายคือ กองทุนเหล่านี้ เล่นดัชนี SET50 ล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์โดยเปิดสถานะ LONG (คาดว่าดัชนีจะวิ่งขึ้น) ค่อนข้างเยอะ สอดรับกับบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์สำนักต่างๆ ที่เชื่อว่า กระแสฟันด์โฟลว์รอบนี้จะยังมาอีกต่อเนื่อง หากว่าดัชนีเกิดสัญญาณขายรุนแรง อาจทำให้ขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นการประคองตลาดเอาไว้ เพื่อรอเวลาหมดช่วงการพักฐานแบบไซด์เวย์ ก็จะสามารถดันดัชนีกลับขึ้นไป ทำกำไรได้ไม่ยาก
การดัน BAY จึงเป็นการประคองดัชนีของตลาด เพราะหุ้นตัวนี้ มีมาร์เก็ตแคปสูง จากการเพิ่มทุนเกือบ 100%หลังจากที่ MUFG เข้ามาถือหุ้นใหญ่สุดของธนาคารต่อจากกลุ่มจีอี ที่ถอนตัวจากไป แต่การที่มีฟรีโฟลตต่ำ ทำให้ราคาหุ้น BAY เคลื่อนไหวได้รุนแรงโดยหุ้นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีผลต่อดัชนีของตลาดเพราะถ่วงน้ำหนักสูงมาก
การดันหุ้นใหญ่ที่ขาดสภาพคล่องมาประคองตลาดเมื่อวานนี้ ถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง แม้จะด้วยเจตนา “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว” จะถือว่าผิดปกติอย่างยิ่ง ควรที่ ตลาดฯและ ก.ล.ต.จะต้องเข้าไปตรวจสอบ
แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี หุ้นตัวนี้ “เส้นใหญ่” อย่างไรเสียก็มั่นใจว่า ย่อมตรวจหาความผิดไม่เจอ
เหมือนเช่นเดิม
Déjà vu!!!