พาราสาวะถี
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีมีการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากเวลาผ่านมา 1 ปีกับ 3 เดือนเต็ม กับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่กลายเป็นกระแสสังคมอย่างรุนแรงในช่วงเวลานั้น เนื่องจากมีการประกาศข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ จนวานนี้ 10 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ยื่นร้องการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
โดยผู้ยื่นร้องครั้งนี้คือ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ชุมนุมปราศรัย 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้เนื้อหาที่สรุปตามวินิจฉัยคือ การชุมนุมและเรียกร้องดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตราา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 2 และ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 49 นั้นระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันไปถึงในอนาคต ซึ่งหมายความว่าต่อจากนี้การชุมนุมทางการเมืองที่กล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ น่าสนใจว่าในส่วนของการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวจะตัดประเด็นนี้ทิ้งไปหรือไม่ แต่กรณีนี้น่าติดตามต่อว่าจะถูกนำไปเชื่อมโยงสอดคล้องต่อความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อเสนอข้อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 112 หรือไม่
ในส่วนของรัฐบาล ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมีการมอบหมายให้ ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาลแถลงตอกย้ำ ไม่สนับสนุนการแก้ไขและการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันรัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของชาติไทย และไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในการแบ่งข้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม เป็นการยืนยันว่ายังไงก็ไม่แก้และไม่มีทางที่กฎหมายนี้จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของ 10 ข้อเรียกร้องกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลขับเคลื่อนอยู่นั้น ก็จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกัน โดยข้อเสนอทั้ง 10 ข้อนั้นประกอบไปด้วย ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
ยกเลิกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น คณะองคมนตรี
ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมดเพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
ความจริงประเด็นนี้คนส่วนใหญ่มีการทักท้วงกันไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ข้อเรียกร้องที่สุดโต่งทะลุซอยแบบนี้มันยากที่จะเดินไปสู่เป้าหมายได้ มิหนำซ้ำยังจะเป็นจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกมาโจมตีง่าย ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เห็นแล้วว่าการชุมนุมของขบวนการคนหนุ่มสาวจากนี้ไปจะขยับกันได้ลำบากขึ้น ยังไม่นับรวมกรณีที่บรรดาแกนนำทั้งหลายยังคงต้องเผชิญชะตากรรมจากการถูกดำเนินคดีและไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการปล่อยตัวอีกด้วย
นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะต่อกรกับกลุ่มอนุรักษนิยม ไม่เพียงกรณีนี้เท่านั้น หากแต่สิ่งที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเผชิญอยู่เวลานี้ก็เป็นอีกภาพสะท้อนที่ชัดเจน ล่าสุดมีการส่งหนังสือคัดค้านการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยตัวเอง เนื่องจากอาจารย์ 2 คนที่เป็นกรรมการเคยเป็นผู้ลงโทษตัดคะแนนเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตอีก 7 คน ส่วนอีกคนเคยร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีด ขนาดสู้แบบรอบคอบรัดกุมแล้วยังเจอแบบนี้ แล้วประเภทฮาร์ดคอร์จะไปเหลืออะไร