‘STA-STGT’ โชว์งบ Q3 เด่น! โบรกชี้ปีหน้า “ราคาขายเฉลี่ยลด” ฉุดกำไรหด

หุ้นสองแม่ลูก STA และ STGT มักมีผู้กล่าวถึงไม่ใช่เล่นช่วงก่อนหน้าจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ในเรื่องผลประกอบการ


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นสองแม่ลูก STA และ STGT มักมีผู้กล่าวถึงไม่ใช่เล่นช่วงก่อนหน้าจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ในเรื่องผลประกอบการที่มีการคาดการณ์กันต่าง ๆ นานา ว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อน และบางสำนักประเมินว่าจะหดตัวลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน

ล่าสุดผลประกอบการสองแม่ลูกมีการแจ้งผ่านสารสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ทั้งสอง STA และ STGT ยังคงสามารถทำกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 และงวด 9 เดือนแรก สดใส เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยหุ้นแม่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 28,486.10 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 16,496.03 ล้านบาท โดยจากราคาขายเฉลี่ยของยางธรรมชาติที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการบริโภค และส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3,230.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,084.41 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 89,869.25 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 49,233.18 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14,232.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252.98% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,032.27 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล งวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ตามมติการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ณ วันที่ 8 พ.ย. 2564 ด้วยอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 1.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) คือวันที่ 19 พ.ย. 2564 ส่วนวันที่จ่ายปันผลวันที่ 10 ธ.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปดูบทวิเคราะห์ของ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่ากำไรไตรมาส 3 ปี 2564 ประกาศออกมาอยู่ที่ 3,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 36% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งผลกำไรที่ออกมา พบว่าต่ำกว่าตลาดคาดและฝ่ายวิจัยคาดเล็กน้อย ลบราว 7% และ 10%

ทั้งนี้ส่วนของกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากส่วนรายได้ลดลง 5% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากราคาขายถุงมือยางปรับตัวลงนั้นเอง

ส่วนหากมองไปข้างหน้าสำหรับการประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 17,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2565 อยู่ที่ 10,191 ล้านบาท ลดลง 43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

โดยจากสมมติฐาน 1. ราคาขายถุงมือยางปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 1.83 บาทต่อชิ้น และ 1.20 บาทต่อชิ้น 2. อัตรากำไรขั้นต้นปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 33% และ 19% 3. ปริมาณการขายยางปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน และ 1.4 ล้านตัน และ 4. ปริมาณการขายถุงมือยางอยู่ที่ 28,000 ล้านชิ้น และ 42,421 ล้านชิ้น

ดังนั้น คงคำแนะนำ “ถือ” และคงราคาเป้าหมายที่ 36.00 บาท อิงปี 2565 ค่า PER 6.0 เท่า จากอิงปี 2565 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมยางในอดีต โดยมองว่า STA ควรเทรด discount จากค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม จากแนวโน้มผลการดำเนินงานในทิศทางขาลง กดดันจากแนวโน้มราคาถุงมือยางที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง

ส่วนหุ้นลูก บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10,864.03 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 8,192.64 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4,532.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.97% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,401.92 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ด้วยความต้องการในการบริโภคถุงมือยางที่แข็งแกร่ง และเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคทั่วโลกจากการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับการกลับมาเดินเครื่องจักรอย่างเต็มที่ของโรงงานที่ จ.ตรัง และ จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ปริมาณการขายในไตรมาส 3 ปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,076 ล้านชิ้น ซึ่งสามารถชดเชยการลดลงของราคาขายเฉลี่ยได้บางส่วน

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 39,265.39 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 16,867.53 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 21,864.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,880.58 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทฯ ประกาศจ่ายเงินปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย. 2564 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ตามมติการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ณ วันที่ 8 พ.ย. 2564 ด้วยอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 1.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) คือวันที่ 19 พ.ย. 2564 ส่วนวันที่จ่ายปันผลวันที่ 7 ธ.ค. 2564

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าไปดูบทวิเคราะห์ของ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่ากำไรไตรมาส 3 ปี 2564 ประกาศออกมาอยู่ที่ 4,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 38% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนขาดทุนสุทธิ 267 ล้านบาท จะส่งผลให้มีกำไรปกติไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 4,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 35% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้กำไรที่ออกมาพบว่า อ่อนตัวตามตลาดคาด

ทั้งนี้ส่วนกำไรลดลงจากไตรมาสก่อนเป็นเพราะรายได้รวมปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากราคาขายถุงมือยางเฉลี่ย (ASP) ลดลง 32.5% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 1.53 บาทต่อชิ้น จากไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 2.27 บาทต่อชิ้น แม้ว่าปริมาณการขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7,076 ล้านชิ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกับราคาขายที่ปรับตัวลดลงได้

ส่วนหากมองไปข้างหน้าสำหรับการประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 2.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 คาดยังคงหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ปริมาณการขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ราคาขายถุงมือยางเฉลี่ย (ASP) จะยังคงปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2564  อีกราวลดลง 15% จากไตรมาสก่อน

นอกจากนี้คงกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านบาท ลดลง 58% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงสมมติฐานราคาขายเฉลี่ย (ASP) ที่ 1.20 บาทต่อชิ้น ทั้งนี้แนวโน้มราคาถุงมือยางเฉลี่ย (ASP) ยังอยู่ในทิศทางขาลงจาก 2 ปัจจัยดังนี้

1) กำลังการผลิตถุงมือยางโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในปี 2565 ราว 30-35% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ

2) จำนวนผู้ป่วยโควิดมีแนวโน้มลดลง และมีการพัฒนายารักษาโควิดออกมาเรื่อย ๆ อาทิ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท Merck และล่าสุด บริษัท Pfizer ได้ผลิตยา Paxlovid ที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 89% ในการลดความรุนแรงของผู้ป่วยอาการหนัก

ดังนั้นคงราคาเป้าหมายที่ 27.50 บาท อิงปี 2565 ค่า PER ที่ 7 เท่า ยังคงคำแนะนำ “ขาย” เนื่องจากทิศทางกำไรยังคงอยู่ในขาลง ซึ่งยังคงถูกกดดันจากราคาขายเฉลี่ย (ASP) ที่ยังคงปรับตัวลดลง ต่อเนื่องตามทิศทางตลาดโลก ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบยังคงทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับคาดความต้องการใช้ถุงมือยางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามสัดส่วนจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และกำลังการผลิตของถุงมือยางโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 30-35% ในปี 2565 ทำให้ค่า EPS ปี 2565 ปรับตัวลดลง 58%

สำหรับสองแม่ลูก STA และ STGT อย่างไรก็ดีแม้ว่าไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 กำไรจะเติบโตขึ้นแข็งแกร่งจากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่ายังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ที่สำคัญแนวโน้มนับจากนี้ไปในปี 2565 กำไรอาจอ่อนตัวลงหลังจากมีการประเมินว่าราคาขายเฉลี่ยที่ยังคงปรับตัวลดลง

Back to top button