อนาคตหุ้นเหล็กพลวัต2015
นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยแยกแยะหุ้นกลุ่มเหล็กทั้งผลิตและค้า เข้ามาอยู่ในหมวดหมู่เฉพาะเมื่อหลายปีก่อน หุ้นกลุ่มนี้ กลายเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการในลักษณะ “สาละวันเตี้ยลง” ต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยแยกแยะหุ้นกลุ่มเหล็กทั้งผลิตและค้า เข้ามาอยู่ในหมวดหมู่เฉพาะเมื่อหลายปีก่อน หุ้นกลุ่มนี้ กลายเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการในลักษณะ “สาละวันเตี้ยลง” ต่อเนื่อง
เริ่มจากหุ้นที่มีการผลิตกลางน้ำ ซึ่งมีการลงทุนขนาดใหญ่ มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ทั้งที่ความต้องการของตลาดมีมหาศาล
จากนั้นก็แพร่เชื้อลุกลามมาจนถึงปลายน้ำ และทุกระดับ จนกลายเป็นอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เร็วกว่ากำหนดทั้งที่ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ควรเป็นเช่นนั้น
ระบบเศรษฐกิจไทยมีการบริโภคเหล็กทั้งหมดประมาณ 17 ล้านตัน แต่ทำการผลิตในประเทศในทุกระดับได้เพียงแค่ 7 ล้านตัน ต้องนำเข้าส่วนที่เหลืออีก 10 ล้านตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากมีการเพิ่มกำลังการผลิต จะทำให้สนองตอบความต้องการตลาดภายในได้เพียงพอ โดยไม่ต้องพูดถึงการส่งออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กพิการมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยแก้ได้เลย
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่ไม่มีโอกาสเกิดได้เลย เพราะถูกต่อต้านจากบรรดา “คนรักชาติ” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ความไม่สมดุลของอุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออกจากภายนอกเกินขนาด
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กเริ่มทนไม่ไหว เพราะจากที่เคยเดือดร้อนในส่วนเหล็กกลางน้ำ ได้เคลื่อนมาถึงธุรกิจปลายน้ำทั่วทั้งระบบ
2 ปีมานี้ เหล็กนำเข้าจากจีนทุกรูปแบบ ถูกระบายออกมายังประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยในทุกระดับของเหล็ก แม้กระทั่งเกือบสำเร็จรูปด้วยซ้ำ ความเดือดร้อนจึงปรากฏไปทุกหย่อมหญ้า
เมื่อวานนี้ มีการรวมตัวของผู้ผลิตเหล็กก่อสร้าง 30 ราย ที่ยามนี้ไม่ค่อยจะเป็นเอกภาพกัน รวมตัวไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำแบบเดียวกันมาแล้ว เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน แล้วไม่ได้รับการสนองตอบ
สาระหลักของคำร้องทุกข์อยู่ที่ ขอให้รัฐหามาตรการเร่งป้องกันการนำเข้าเหล็กเส้นจากประเทศจีน ซึ่งมีราคาที่ต่ำผิดปกติประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมองว่าที่ราคาอาจจะต่ำกว่าต้นทุนอาจเกิดจากผู้ผลิตจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการส่งออกด้วยการคืนภาษีร้อยละ 13 และผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นการช่วยเหลือดำเนินกิจการ ทำให้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนผลิตสินค้า
ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น เคยสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น โดยกำหนดค่าส่วนประกอบ ห้ามการเจือธาตุอัลลอยในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเป็นกรณีเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปี 2558 นี้ แต่เหล็กจีนยังคงหลั่งไหลเข้าท่วมตลาด
นอกจากนั้น เหล็กอัลลอยที่นำเข้ามาในประเทศยังได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีก 5% ที่ภาครัฐได้ยกเว้นสำหรับเหล็กเกรดพิเศษ แต่เหล็กเส้นก่อสร้างไม่ได้เป็นเหล็กเกรดพิเศษ จึงทำให้ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
เหล็กจากจีนหลั่งไหลเข้ามามาก เพราะจีนยอมขายตัดขาดทุนเพื่อระบายเหล็กเหลือใช้ออกจากประเทศ หลังจากที่ตลาดเหล็กในจีนชะลอตัวลงในทุกระดับ มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการ ต้องหาตลาดต่างประเทศรองรับแทนในทุกระดับผลิตภัณฑ์ และทุกราคา
ข้อร้องเรียน ระบุว่า แต่ขณะนี้ สมอ.ยังปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น ไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมีการออกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ ให้กับบางบริษัทเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งที่มีการยืนยันมาตลอดว่าจะไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นฯ ในระหว่างการแก้ไขมาตรฐานดังกล่าว
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างภายใน ซึ่งอยู่ในภาวะล้นตลาดอยู่แล้ว จากกำลังการผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. รวมกันอยู่ถึง 7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการภายในประเทศมีเพียง 2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
คำร้องทุกข์ แสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลไทยไม่ให้ความช่วยเหลือจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กเส้นภายในประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลในเรื่องนี้ ทั้งที่ว่าไปแล้ว หากอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานที่รัฐบาลทุกประเทศปกป้อง เพื่อรักษาเอาไว้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติ เกิดมีอันล่มสลายไปจริง ความเสียหายจากการต้องพึ่งพานำเข้าถ่ายเดียว ย่อมเป็นไปได้
นี่คือ ข้อเท็จจริงเพียงเศษเสี้ยว ซึ่งไม่น่าประหลาดว่า ทำไมหุ้นเหล็กในตลาดหุ้นไทยขาดทุนมากกว่ากำไร
แต่ที่กลับน่าประหลาดก็คือ ทำไมบริษัทเหล็กอยู่รอดมาได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้อเสียเลย ยกเว้นบริษัท “เส้นใหญ่” บางรายที่เป็นข้อยกเว้น