พาราสาวะถี
รัฐบาลกล่าวหาว่าส.ส.ฝ่ายค้านไม่ยอมเข้าห้องประชุม แต่องค์ประชุมจำนวนเสียงส.ส.ที่มากกว่าฝ่ายค้าน ดังนั้นหน้าที่จึงเป็นเรื่องของส.ส.รัฐบาล
มีปัญหาเป็นแน่แท้เรื่องงานในสภากับกระบวนการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เพราะเห็นได้ว่าฝ่ายค้านมีการเสนอให้นับองค์ประชุมถี่ยิบ ขณะที่ซีกรัฐบาลก็แก้เกมด้วยการกล่าวหาว่าส.ส.ฝ่ายค้านไม่ยอมเข้าห้องประชุม แต่เรื่องขององค์ประชุมด้วยจำนวนเสียงส.ส.ที่มากกว่าฝ่ายค้านหรือความจริงคือมีเสียงเกินครึ่งของสภา ดังนั้นหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดมันจึงเป็นเรื่องของส.ส.รัฐบาล อย่าได้ปัดสวะให้พ้นตัว
ประเด็นสำคัญกับเสียงในสภาฝ่ายค้านไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดเสถียรภาพของรัฐบาล หากแต่เป็นเรื่องของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองที่จะต้องบริหารจัดการกันด้วยความพิถีพิถันและละเอียดละออเป็นพิเศษ เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของวาระการทำหน้าที่แล้ว สิ่งที่ได้สัญญากันไว้มีการตอบแทนถึงใจพระเดชพระคุณท่านแล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาภายในพรรคสืบทอดอำนาจเสียเอง ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการต่อรองกันหนักข้อขึ้นสำหรับส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล
อย่าลืมเป็นอันขาดการปีนเกลียวกันของคนในพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะพรรคแกนนำกับพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมีการขบเหลี่ยมกันทางการเมืองที่ว่าด้วยฐานเสียงเดียวกันต้องแย่งชิงกันชนิดใครดีใครได้ ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากที่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เคยใช้พลังดูดมหาศาลดึงคนพรรคเก่าแก่ไปร่วมงานได้จำนวนหนึ่งแล้ว การเตรียมพร้อมสู้ศึกครั้งใหม่พรรคสืบทอดอำนาจก็ยังใช้วิธีการเดิมและกลุ่มเป้าหมายก็ยังเป็นคนของพรรคเดิมเป็นหลักเช่นกัน
ทว่าหนนี้อาจจะเป็นงานที่ยากมากขึ้น เพราะไม่มีอำนาจเผด็จการที่ชื่อว่าคสช.มาเป็นแรงบีบนอกเหนือจากปัจจัยยื่นหมูยื่นแมวกันแล้ว ประกอบกับคะแนนนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็อยู่ในภาวะดิ่งหัวลง ไม่มีลูกเล่นใหม่ที่จะมาเรียกคะแนนนิยมได้เหมือนการเลือกตั้งหนก่อน ที่ดูเหมือนว่าแม้ความชมชอบจะไม่ได้สูงมากไปกว่าพรรคคู่แข่งเท่าไหร่ แต่การชูสโลแกนเลือกความสงบจบที่ลุง ก็สามารถดึงคะแนนจากพวกที่ไม่หือไม่อือได้มากโขทีเดียว
ด้วยความที่รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองอยู่ในภาวะสาละวันเตี้ยลง ประกอบกับหวั่นว่าจะเกิดการซ้ำรอยตอนที่ถูกซักฟอก จนอาจจะเกิดการนำไปสู่ภาวะตายน้ำตื้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงกำชับในที่ประชุมครม.ผ่านไปยังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค กำชับให้ส.ส.อย่าทิ้งการประชุม ไม่เพียงเท่านั้น ยังสั่งให้รัฐมนตรีที่ว่างไปสภาทุกวันพุธและพฤหัสบดี เพื่อจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติ เอาอกเอาใจกันขนาดนี้ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า แสดงว่าสถานการณ์ไม่ปกติแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แรงกระเพื่อมที่จะสร้างความสั่นคลอนจนนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามนั้น มองมุมไหนยังไร้วี่แวว รัฐบาลเรือเหล็กจะล่มย่อมเกิดจากสนิมเนื้อในตน เวลานี้ที่พอจะทำให้เห็นว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจจะไม่อยู่ไปจนครบวาระในปี 2566 หรือการยุบสภาก็คือ เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมารยาททางการเมืองที่ผ่านมาก็จะมีการคืนอำนาจให้ประชาชนได้ไปเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศใหม่
ไม่ใกล้ไม่ไกลยุคสมัยของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยทำมาแล้วหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จ และกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ ก็มีการยุบสภาทันที หนนี้จึงเกิดเป็นเครื่องหมายคำถามว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะแสดงสปิริตแบบนั้นหรือไม่ คำถามที่ เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งโจทย์ไว้ว่า ตามมารยาททางการเมือง รัฐบาลควรต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ หากไม่ยุบสภาก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าแก้ไขระบบเลือกตั้งไปเพื่ออะไร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมานั้น ด้วยความที่มีกุนซือผู้ช่ำชองในชั้นเชิงทางกฎหมาย จึงมีการหาทางออกให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งที่ตัดสินใจทำไปนั้นจะผิดแผกแตกต่างจากการเมืองยุคสมัยที่ยึดถือมารยาทเป็นสำคัญกันหรือไม่ ความหน้าทนของคนที่อ้างว่ายึดถือกฎหมายเป็นสำคัญนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง จากกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน เรื่องนี้แถกันได้แต่ถูกต้องและเป็นบรรทัดฐานที่ดีหรือไม่ คนที่รู้ผิดชอบชั่วดีย่อมเข้าใจได้
ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่จะมีผลนำไปสู่การยุบสภาได้นั้น หากเรื่องถูกนำเข้าสู่กระบวนการของรัฐบาลแล้วจะต้องทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ไม่อาจจะยื้อเวลากันได้ โดยความเห็นของเจษฎ์มองว่าอาจจะมีการยื้อก่อนที่จะเสนอกฎหมายเข้ารัฐสภา แต่ถ้าทำเช่นนั้นแรงกดดันที่จะเกิดกับรัฐบาลมากขึ้น น่าจะถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะถ้าการยื้อไม่ได้เกิดจากรัฐบาลจะไปโทษกันได้อย่างไร
ต้องเข้าใจว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่จะใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาของรัฐสภาที่เป็นร่างของรัฐบาลนั้น ครม.ได้มอบหมายให้กกต.ไปดำเนินการ ซึ่งขณะนี้กกต.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยคาดหมายกันว่ากระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 10 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะเอาความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมายซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกระยะ โดยไม่ได้กำหนดว่านานเท่าใด ก่อนเสนอมาให้ครม.พิจารณา
แค่ขั้นตอนนี้ก็เห็นได้แล้วว่าจะยื้อกันขนาดไหน ยังมีประเด็นอีกว่าหลังจากที่ร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ผ่านสภาแล้ว ยังต้องส่งไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือกกต. โดยมีกรอบเวลากำหนด หากกกต.เห็นว่าควรจะต้องแก้อะไรบางอย่าง ใครที่ไปแก้ร่างของกกต.ก็จะเจอปมตรงนี้ ถ้ากกต.ยืนยันกลับมาก็ต้องแก้ตามกกต. ก็ต้องใช้เวลา แต่ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายคนเก่งของรัฐบาลก็ยืนยันไม่มีการยื้อเวลาแน่
โดยมีการคาดหมายกฎหมายลูกจะประกาศใช้ช่วงกรกฎาคม 2565 และรัฐบาลพร้อมจะชงเรื่องให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อถกเรื่องนี้โดยเฉพาะ น่าสนใจต่อประเด็นที่ว่ากฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะใกล้เคียงกับการนับระยะเวลาการเป็นนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่จะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม แม้ฝ่ายกุมอำนาจจะมั่นใจว่าไม่ได้นับจากปี 2557 แต่กันเหนียวยุบสภาไปก่อนอย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง