พาราสาวะถี
วันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อ้างว่ามีภารกิจสำคัญในการประชุมสภา ทั้งที่มีการนัดหมายกันแล้ว ก็ไม่มีผลต่องานในสภาตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ความจริงวันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ ได้วางกำหนดการนัดหมายเชิญพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มาร่วมวงรับประทานอาหารกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นสัปดาห์หน้าคือศุกร์ที่ 3 ธันวาคม ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีภารกิจสำคัญในการประชุมสภา ทั้งที่ความจริงการนัดหมายดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาพบปะกันแล้ว ก็ไม่มีผลต่องานในสภาตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
เมื่อสแกนไปยังความไม่พร้อมแล้ว ไม่น่าจะเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น แต่คงจะเป็นปัญหาภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเอง โดยเฉพาะการส่งสัญญาณตอบรับเข้าร่วมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่ไม่แน่ใจว่าผ่านการทำใจได้แล้วหรือไม่ที่จะพบปะกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคสืบทอดอำนาจที่กลายร่างเป็นคู่ขัดแย้งกันไปแล้ว การไปร่วมวงกินข้าวในบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรภาพที่ปรากฏออกมาย่อมไม่สวยงามเป็นแน่แท้
ขณะเดียวกัน พลันที่เกิดข่าวการเลื่อนเวลาสังสรรค์ของพรรคร่วมรัฐบาลออกไป ก็เกิดข่าวตีคู่กันมากับการจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่าไทยสร้างสรรค์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ นั่นย่อมทำให้เห็นว่ารอยร้าวระหว่างแก๊ง 3 ป.ยังเป็นปัญหาไม่สามารถประสานใจ เชื่อมร้อยความผูกพันที่มีมายาวนานได้เหมือนเดิม แม้จะมีการปฏิเสธจากท่านผู้นำว่ายังเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคสืบทอดอำนาจอยู่ แต่นั่นคือปัจจุบัน ส่วนอนาคตไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม นักข่าวก็ไม่ลดละความพยายาม ยังคงจี้ถามผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อว่าไปยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจหรือยัง เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ทิ้งกันไปไหน คำตอบที่ได้คือ ให้ไปถามรายละเอียดกับพี่ใหญ่ของแก๊ง 3 ป.แทน ซึ่งเมื่อนักข่าวไปถามคนที่ถูกโยนเผือกร้อนมาให้ก็ไม่มีคำอธิบายใด ๆ พร้อมกับการสะบัดตูดหนีสื่อทันที ดังนั้นความไม่ปกติเช่นนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์ทำให้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสังสรรค์ของพรรคร่วมรัฐบาลต้องเลื่อนออกไปเพื่อปรับท่าทีกันใหม่
ถึงนาทีนี้ทีมกุนซือของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต่างกังวลใจกับความเคลื่อนไหวในสภาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจากเสียงของพวกเดียวกัน มันจึงทำให้เกิดข่าวท่านผู้นำสั่งการผ่านทั้งนักการเมืองและรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับงานในสภา ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยให้ความสำคัญหรือมองเห็นหัวกันมาก่อน นอกจากนั้นยังสะท้อนภาพปรากฏการณ์ข่าวที่น้องเล็กของแก๊ง 3 ป.พักนี้มีการเดินแล้วเกิดการสะดุดบ่อย
เรื่องนี้ไม่มีมุมทางไสยศาสตร์หรือโหราศาสตร์ใด ๆ เพราะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยอมรับเองว่า “ใจมันไปก่อนเท้า” นั่นหมายถึงว่าเกิดภาวะความเครียด คิดหนักในหลาย ๆ เรื่อง หากเป็นปมการแก้ไขปัญหาสารพัดที่อยู่ในแนวทางซึ่งรัฐบาลดำเนินการ ไม่น่าจะทำให้ต้องขบคิดกันอะไรขนาดนั้น ปัญหาน่าจะมาจากภาวะทางการเมืองที่พบว่ามีแรงกดดันถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง การจะญาติดีและให้เรียบร้อยไปทุกเรื่องเพียงแค่การเข้าใจและเอาใจไม่พอ แต่ยังหมายถึงต้นทุนที่ถูกนักเลือกตั้งขูดรีดกันแบบเมามันอีกด้วย
ก่อนหน้านั้นภาระเหล่านี้ไม่เคยมีปัญหา เมื่อทุกอย่างผ่านการประสานและได้รับการดูแลโดยมือแจกกล้วยคนสำคัญที่เป็นแม่บ้านพรรคแกนนำรัฐบาล โดยที่มีหัวโขนของรัฐมนตรีช่วยเป็นตัวหนุนนำ แต่เมื่อตัวเองเลือกปลดมือประสานสิบทิศเพื่อเซ่นความไม่พอใจกับการที่มองว่าถูกหักหลังช่วงซักฟอกไปแล้ว ภาระดังว่าจึงต้องพุ่งกลับเข้ามาหาตัวเอง การที่จะใช้ให้ใครไปดำเนินการแทนเมื่อไม่ใช่นักการเมืองอาชีพย่อมเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาด
ในส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจที่เป็นความรับผิดชอบของพี่ใหญ่ไม่มีปัญหาทุกอย่างว่ากันไปตามกติกาที่ตกปากรับคำกันไว้ แต่เรื่องอื่นที่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลเมื่อมือขวาคนสำคัญของพี่ใหญ่ถูกเขี่ยทิ้งไปแล้ว หลายเรื่องจึงถูกโยนไปสู่การตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจโดยตรง นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกมองว่าจะทำให้ท่านผู้นำพิจารณาอนาคตตัวเองบนเส้นทางการสืบทอดอำนาจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่ด้วยกลไกที่วางกันไว้มันต้องไปให้สุด
จึงมีการหาทางพลิกสถานการณ์ที่จะกลับมากุมความได้เปรียบในฐานะ “ผู้คุมเกม” ให้ได้ การยืนยันล่าสุดที่ว่าจะไม่ยุบสภาหลังจากที่กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้วเสร็จ ด้วยการอ้างว่าบ้านเมืองมีปัญหาเยอะขออยู่แก้ไปให้ครบวาระก่อน ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าขบวนการสืบทอดอำนาจกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ตัวเองอยู่เหนือคู่แข่งทุกด้าน แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ดูท่าว่าจะไม่เป็นใจให้แม้แต่น้อย
การพูดถึงประเด็นปัญหาน้ำมันราคาแพงด้วยวลีที่ว่า “ช่วยชาติกันไปก่อน” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความบ้อท่า หมดปัญญาที่จะแก้ไขให้กับกลุ่มปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ แล้ว วิธีการด้อยค่าฝ่ายเรียกร้องเป็นสิ่งที่เผด็จการสืบทอดอำนาจนิยมใช้เป็นที่สุด แต่นั่นจะใช้ได้ดีในยามที่สถานการณ์บ้านเมืองปกติ ประชาชนกินดีอยู่ดี ผู้กุมอำนาจบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าบ้านเมืองเวลานี้เต็มไปด้วยปัญหาสารพัน ทุกเรื่องจึงอ่อนไหวและพร้อมที่จะปะทุขึ้นมากระทบเสถียรภาพรัฐบาลได้ตลอดเวลา
อีกกรณีน่าสนใจกับเรื่องที่กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน บุกยื่นหนังสือถึงท่านผู้นำผ่าน เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้ไล่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พ้นไปจากประเทศ ที่หนังหน้าไฟของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเล่นใหญ่ประกาศจะทิ้งเก้าอี้ทันทีถ้าไม่สามารถทำตามที่ทั้งสองกลุ่มเรียกร้องได้ คำถามสำคัญคือเชื่อถือคำพูดของคน ๆ นี้ที่เปลี่ยนสีเสื้อแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าได้แค่ไหน
สิ่งสำคัญคือ การประกาศจะต้องเอาเข้าคุก หรือเอาออกนอกประเทศ หรือไม่ก็ยุบองค์กรดังกล่าวให้ได้ ถามว่ามีประเด็นอะไรที่จะทำให้ได้ขนาดนั้น และใช้กฎหมายอะไรที่ไปดำเนินการที่จะไม่ทำให้องค์กรปฏิบัติต้องถูกนานาประเทศโจมตีและทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ขณะที่อีกด้านที่บอกว่าจะกดดันด้วยพลังพี่น้องประชาชนที่จงรักภักดีกับสถาบันให้หยุดการกระทำที่ทำอยู่ คิดให้ดีความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นเรื่องของใคร หรือจะเป็นการยอมรับว่ามีการใช้ม็อบเหล่านั้นอ้างสถาบันเพื่อปกป้องรัฐบาลเอง