พาราสาวะถี
กรณีที่ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญ Summit for Democracy ทางออนไลน์โดยอ้างว่า เป็นเรื่องของการเมืองที่ต้องการจะเล่นงานกันและกัน
ควรจะเชื่อตามที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎรที่ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยตั้งคำถามหรือไม่ กรณีที่ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย Summit for Democracy ทางออนไลน์ที่สหรัฐอเมริกาจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ โดยอ้างว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องของการเมืองล้วน ๆ เป็นเรื่องของการเมืองที่ต้องการจะเล่นงานกันและกัน”
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีที่แอบไปเมียนมาโดยอ้างว่าไม่ใช่คนหิวแสงหรือต้องโพนทะนาอะไร ยังบอกอีกว่าเรื่องที่ได้รับเชิญหรือไม่ได้รับเชิญไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจหรือเสียใจ พร้อมกับการยกตนข่มท่านโดยโชว์อดีตของตัวที่เคยเป็นทูตมาก่อนว่า ความเป็นจริงของชีวิตโดยเฉพาะในด้านต่างประเทศมันไม่ได้ออกมาอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แล้วไหง เมื่อนักข่าวไปถามเรื่องเดียวกันนี้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงแสดงสีหน้าไม่สบอารมณ์เมื่อได้ยินคำถามนี้ ถ้าไม่มีอะไรก็ไม่ควรชักสีหน้า
แม้ว่าคล้อยหลังจากนั้น 1 วัน ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะยอมให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ โดยอ้างแนวทางตามที่ดอนชี้แจงในสภา พร้อมอ้างว่าเราต้องวางตัวเองให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม ซึ่งตนก็ระวังที่สุดในเรื่องนี้ อะไรที่จะทำให้เกิดความเสียหายหรือทำให้ประเทศไทยมีปัญหาก็ต้องพิจารณา สิ่งที่หลายคนกังขาก็คือ กรณีที่สหรัฐฯ ไม่เชิญประเทศไทยมันเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน และที่บอกว่าต้องวางตัวให้เหมาะสมคืออะไร
ก่อนที่จะใช้มุกเดิม ๆ เรียกคะแนนสงสาร อ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยหยุดงานทำให้ทุกอย่าง ทุกคน ประชาชนคนไทยทุกคน คือคนไทยด้วยกันไม่ใช่หรือ ยิ่งพูดยิ่งทำให้เห็นถึงการทวงบุญคุณกับประชาชน ทั้งที่ความจริงหากมีผลงานเป็นเครื่องการันตีประชาชนย่อมจะออกมาปกป้องเอง เช่นเดียวกันกับการอ้างว่าประชาชนต้องร่วมมือกัน ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าสร้างความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ มันไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ
กรณีความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างยิ่งไม่ควรจะพูดถึง เพราะมันคือความล้มเหลวทั้งรัฐบาลเผด็จการคสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ยิ่งนานวันยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าปัญหาดังกล่าวนอกจากไม่ได้ถูกขจัดปัดเป่าไปตามข้อกล่าวอ้างในการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารแล้ว ยังมีความเชื่อกันเสียด้วยซ้ำไปว่า มีความพยายามให้ความขัดแย้งคงอยู่ เพื่อที่จะให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ถูกชูเป็นตัวทำให้บ้านเมืองสงบ ใช้เป็นข้ออ้างการอยู่ในตำแหน่งต่อไปให้นานที่สุด เท่าที่จะพอใจ
ประเด็นสหรัฐฯ นั้นอย่าลืมว่าไม่กี่วันก่อนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเพิ่งหลงใหลได้ปลื้มหลังทำพิธีรับมอบวัคซีนโมเดอร์นาจาก ไมเคิล ฮีต อุปทูตรักษาราชการชั่วคราวสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยที่อุปทูตฯ คนดังกล่าวหยอดคำหวาน สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ก็มาเกิดกรณีแบบนี้ เหมือนกับช่วงที่ท่านผู้นำสวมหัวโขนหัวหน้าคสช.ไม่มีผิด ที่ต่อหน้าบรรดาผู้นำหรือตัวแทนประเทศต่าง ๆ แสดงออกอีกแบบหนึ่ง ไล่หลังก็เป็นอีกแบบ
มันก็คือความจริงของชีวิตที่ดอนว่าไว้นั่นแหละ แม้กรณีนี้อาจมองได้ว่ามีเรื่องทางการเมืองแอบแฝงในประเด็นของการเชิญไต้หวันเข้าร่วมประชุม ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักของจีน แต่นั่นมันก็เป็นเรื่องสองยักษ์ของโลกที่จะฟาดฟันกัน ทว่าประเทศไทยในฐานะที่อ้างว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ควรถูกมองข้าม ในเมื่ออีก 3 ประเทศอาเซียน ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ต่างก็ได้รับเชิญ
หรือว่าดอนจะพอใจกับสถานะเช่นนี้ของประเทศไทย และคงลืมไปแล้วว่าก่อนหน้านั้นสถาบันเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือเลือกตั้งระหว่างประเทศหรือไอดีอีเอ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการอิสระในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระบอบการปกครองอำนาจนิยม ร่วมกับประเทศอย่างจีน เมียนมา ซาอุดีอาระเบีย เอธิโอเปีย และอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ ถูกกำหนดสถานะให้เป็นประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอยเป็นครั้งแรก
การที่สหรัฐฯ จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นก็ระบุชัดว่า เพื่อช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตย และการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก หรือว่าสิ่งที่ดอนพอใจกับการไม่ได้เข้าร่วมก็คือ จะได้ไม่ต้องไปตอบคำถามเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประเทศตัวเอง เพราะด้วยนิสัยส่วนตัวและการอยู่ร่วมกับขบวนการสืบทอดอำนาจคงจะเป็นเรื่องยากในการต้องเล่นละครตบตาโดยการอาศัยชั้นเชิงทางการทูต เพราะข้อมูลที่ต่างชาติมีกับสิ่งที่ทางการไทยชี้แจงนั้น มันเหมือนกับการประจานตัวเองดี ๆ นี่เอง
เรื่องนี้มันเหมือนการตอกย้ำความตกต่ำของไทยที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ อาจมีกองเชียร์ชนิดไม่ลืมหูลืมตาออกมาโต้แย้งแทนขบวนการสืบทอดอำนาจว่า ในอาเซียน สิงคโปร์ก็ไม่ได้รับเชิญ ซึ่งประเด็นนี้ รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ ให้ความเห็นว่า อย่าเอาไทยไปเปรียบเทียบเพราะมันไม่มีอะไรไปเปรียบสิงคโปร์ได้ ไม่ว่าด้านคุณภาพชีวิต ความกินดีอยู่ดีของประชาชนมันต่างกันมาก และที่สำคัญไทยไม่ได้มีผู้นำที่ชาญฉลาด มีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละแบบเขา
ทั้งนี้ เชื่อแน่ว่าคนจำนวนไม่น้อยน่าจะคล้อยตามสิ่งที่อดีตทูตรายนี้ให้ความเห็นที่ว่า การที่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ด้วยการยอมรับอย่างไม่ต้องอายอีก ถึงสภาพความเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตยง่อย ๆ เท่ากับยอมรับว่าที่ผ่านมา 6-7 ปี คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของด้านการต่างประเทศ ที่ผ่านมาการต่างประเทศไทยแทบไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการคอยแถแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ ไปวัน ๆ
ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ นานาประเทศไม่ได้หูหนวกตาบอด การยอมรับสภาพของการไม่ถูกเชิญคือสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นความล้มเหลวจนตัวเองหมดปัญญาจะแก้ตัว คนเหล่านี้บอกแล้วอย่างหนาเรียกพี่ สีข้างถลอกปอกเปิกไปหมด อยู่มาไม่เคยมีผลงานความคิดริเริ่มอื่นใดอีกในด้านต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ ไม่เคยทำอะไรให้เป็นที่น่าเชิดชูตาให้คนไทยได้ภาคภูมิใจนอกจากความขายขี้หน้า