พาราสาวะถีอรชุน
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ส่งจดหมายส่วนตัวถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะได้ให้โอกาสนักการเมืองที่เคยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกหลังพ้นกำหนด 5 ปี
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ส่งจดหมายส่วนตัวถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะได้ให้โอกาสนักการเมืองที่เคยกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกหลังพ้นกำหนด 5 ปี
โดยมีความเห็นว่า ไม่ควรให้โอกาสกับคนเหล่านี้กลับมากระทำผิดซ้ำอีกไม่ว่าจะเคยประกอบคุณงามความดี หรือทำประโยชน์แก่ประเทศชาติมากน้อยเพียงใดก็ตาม นอกจากนั้น ยังหนุนให้ปฏิรูปเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการเรียกร้องทรัพย์สินคืน เพื่อไม่ให้พวกที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ พร้อมทรัพย์สินที่กอบโกยไป
สูตรของธานินทร์ไม่ได้ต่างอะไรไปจากถ้อยแถลงของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่เรียกร้องไม่ควรให้ที่ยืนกับคนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ควรให้มีพื้นที่ใดในพื้นพิภพได้เป็นที่ซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตคดโกง ประโยคหลังนี้ไม่ทราบว่าคนที่ทำหนังสือถึงหัวหน้าคสช.ได้ติดตามข่าวคราวเรื่องหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้นที่เกี่ยวพันกับผู้นำการยึดอำนาจก่อนหน้านั้นหรือเปล่า
แต่เอาละเมื่อแสดงความเป็นห่วงบ้านเมือง คนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยคงอยากทราบว่าธานินทร์เป็นใคร ธานินทร์คืออดีตผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 2519 หลังจากการชุมนุมของนักศึกษาต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล โดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ขณะนั้นที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
รัฐบาลเผด็จการพลเรือนของธานินทร์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนและเห็นชอบของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งเจ้าตัวเปรียบไว้ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือนเนื้อหอย มีเปลือกหอยซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง จึงถูกสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า“รัฐบาลหอย” รัฐบาลเวลานั้นมีคณะรัฐมนตรีเพียง 17 คน มีพลเรือเอกสงัดเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นรัฐบาลที่มีแนวคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างตกขอบ
มีการใช้การทหารนำหน้าการเมืองปราบปรามผู้มีแนวความคิดต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง มีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีสมาชิก 340 คน ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ นายกฯในยุคนั้นมีอำนาจล้นฟ้า โดยใช้มาตรา 21 ตามรัฐธรรมนูญ 2519 ประหารชีวิตใครก็ได้ เหมือนกับมาตรา 17 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
การบริหารประเทศของธานินทร์ตึงเกินไปก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นมากมายในวงราชการ เช่น ปลด อำนวย วีรวรรณ พ้นปลัดกระทรวงการคลัง พักราชการ อานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอื่นๆ อีกมากมาย จนในที่สุด “จอว์ใหญ่” พลเรือเอกสงัด ต้องออกโรงยึดอำนาจอีกรอบภายในชื่อเรียกขนานที่เปลี่ยนจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็น“คณะปฏิวัติ”
ข้ออ้างสำหรับการยึดอำนาจหนนั้นระบุว่า “รัฐบาลบริหารประเทศแล้วเกิดการแตกแยกในหมู่ข้าราชการและประชาชน เศรษฐกิจทรุดลง แผนพัฒนาประชาธิปไตย 3 ขั้น 12 ปี นานเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน”เมื่อมองอดีตแล้วย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่า มีหลายๆ ประการที่คล้ายกับยุคของธานินทร์ เดจาวู!
คงต้องดูว่าบิ๊กตู่จะรับลูกความหวังดีที่หยิบยื่นมาให้หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าแนวทางตามความคิดที่จะให้เว้นวรรคนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตลอดชีวิตนั้น ไม่ต่างจากโทษประหารชีวิต ขณะที่มีคำถามถึงความเป็นกลางขององค์กรที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมในเรื่องเหล่านี้ ยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ
ตัวอย่างที่มีให้เห็นล่าสุด การออกอาการของป.ป.ช.ต่อกรณีตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 โดยมิชอบในยุคที่มี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบกและปัจจุบันดำรงสถานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและสมาชิกคสช. ไม่ว่า วิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.จะอธิบายอย่างไร จะทำให้คนเชื่อได้อย่างไรว่าปัญหาที่ติดขัดเป็นเรื่องของกระบวนการไม่ใช่การเกรงกลัวต่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การอ้างว่าไต่สวนคดีนี้ลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ ทั้งๆ ที่รู้ว่าประสิทธิภาพของจีที 200 ไม่ได้คุณภาพ แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ยังต้องการอะไรมากกว่าเรื่องของประสิทธิภาพ เพราะเรื่องการตัดสินใจและเจตนาการจัดซื้อของเจ้าหน้าที่พิสูจน์ลำบาก ส่วนการแสวงหาพยานหลักฐานก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.
ฟังดูแล้วช่างน่าสงสาร แต่หากป.ป.ช.อยากได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณา เอาแค่คำตัดสินของศาลอาญากลาง ประเทศอังกฤษ ที่ระบุว่า เจมส์ แมคคอร์มิค เจ้าของบริษัท คอมส์แทร็ค มีความผิดจริงข้อหาฉ้อฉล 3 กระทงจากการจำหน่ายจีที 200 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ต่างอะไรไปจากไม้ล้างป่าช้าให้แก่หลายประเทศรวมถึงไทยด้วย แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
มาตรฐานในการทำงานของป.ป.ช.นั้น มีสิ่งที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างของการเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจนก็คือ กรณีรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปแค่ปีเศษๆ แต่คดีกลับเสร็จรวดเร็วทันใจแค่ไม่กี่เดือนหลังจากการยึดอำนาจ ขณะที่คดีโรงพักร้างที่มีหลักฐานประจานโด่เด่ เวลาผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ววันนี้ยังไร้คำตอบ เมื่อกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมันเป็นเช่นนี้ ผู้มีอำนาจคิดว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกระทำจะรับได้หรือ และมันจะนำมาสู่ความสามัคคีของคนในชาติได้อย่างไร