สายฟ้าฟาด จาก ‘โอไมครอน’
สายพันธุ์ “โอไมครอน” ปฏิกิริยาที่มีต่อข่าวนี้ถือว่ารุนแรงเอาเรื่องไม่ต่างกับตอนที่พบสายพันธุ์ก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น อัลฟ่า เบต้า เดลต้าหรือ มิว
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกต้องกลับมาหวาดผวากับการระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากที่พบสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า สายพันธุ์ “โอไมครอน” ปฏิกิริยาที่มีต่อข่าวนี้ถือว่ารุนแรงเอาเรื่องไม่ต่างกับตอนที่พบสายพันธุ์ก่อน ๆ หน้า ไม่ว่าจะเป็น อัลฟ่า เบต้า เดลต้าหรือ มิว
แต่ความหวาดผวาในครั้งนี้มันเกิดขึ้นในขณะที่ทุกคนกำลังจะเริ่มมีความหวังที่จะเห็นแสงทองผ่องอำไพและเตรียมตัวที่จะออกไปลั้นลากันอีกครั้งหลังจากที่ทนอัดอั้นอยู่กับบ้านและมาตรการคุมเข้มทั้งในประเทศและนอกประเทศ มานานเกือบสองปีเต็ม
การปรากฏตัวของ “โอไมครอน” จึงเหมือนกับ “สายฟ้าฟาด” ที่ผ่าเปรี้ยงลงมาในขณะที่ทุกคนกำลังเคลิบเคลิ้มและฝันหวานกับความสุขที่ใกล้จะมาถึง หลังจากที่หลายประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมไวรัสและเปิดเศรษฐกิจใหม่
แม้จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีความหวาดกลัวเป็นพิเศษเพราะยังมีอะไรอีกมากที่เป็นปริศนาอยู่เกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ แต่ก็มีคำถามว่า ควรจะมีมาตรการป้องกันที่รุนแรงและฉับพลันแค่ไหนเพื่อควบคุมมัน
หลายประเทศเช่นญี่ปุ่น และอิสราเอล เลือกที่จะใช้ “ยาแรง” ป้องกัน ด้วยการปิดตายประเทศทันทีที่ได้รับรู้ข่าวนี้ขณะที่บางประเทศเลือกที่จะปิดพรมแดนแต่กับแอฟริกาใต้และหลายประเทศในแอฟริกา หรือไม่ก็นำนโยบายกักตัวกลับมาใช้ใหม่ ทั้งที่ส่วนใหญ่เพิ่งผ่อนคลายให้กับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว
อเมริกาที่ทุกคนรอฟังว่าจะเอาไงกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ประกาศแล้วว่าจะไม่กลับไปล็อกดาวน์ในช่วงฤดูหนาวนี้ ขณะนี้สหรัฐฯ เพียงแต่ห้ามประชาชนจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้เข้าประเทศเท่านั้น
ไบเดนยังเรียกร้องให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน หรือไปฉีดวัคซีนกระตุ้น และสวมหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งบอกประชาชนว่า “ไม่ควรตื่นตระหนก” รัฐบาลจะทำงานร่วมกับบริษัทยาเพื่อทำแผนฉุกเฉินหากจำเป็นต้องมีวัคซีนตัวใหม่
แต่เมื่อมาฟังคำเตือนล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก มันก็น่าคิดว่า เราไม่ควรจะตื่นตระหนกจริงหรือ ?
หลังการประชุมฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกบอกว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าที่จะเข้าใจถึงความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน แต่ก็ยังไม่เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการ จำกัดการเดินทางอย่างรีบด่วน โดยแนะนำให้ออกมาตรการโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อิงตามความเสี่ยง
แต่พอวันจันทร์ ฮูออกมาเตือนใหม่ว่า สายพันธุ์โอไมครอน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทั่วโลก ‘สูงมาก’ และน่าจะแพร่กระจายเพิ่มอีก และอาจมี “ผลตามมาที่รุนแรง” ในบางพื้นที่ โดยเป็น สายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งมีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และบางส่วนมีความเกี่ยวข้องและอาจเกี่ยวข้องกับศักยภาพในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น
ฮูยังได้ย้ำอีกครั้งว่า ยังมีความไม่แน่นอนและเรื่องที่ยังไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้ โดยประการแรก ผู้เชี่ยวชาญยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์นี้ สามารถแพร่เชื้อได้อย่างไร และการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นใด ๆ เกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หรือเป็นการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ หรือทั้งสองอย่าง
ประการที่สอง ยังไม่ชัดเจนว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ การแพร่เชื้อ และโรคทางคลินิกที่มีระดับความรุนแรง และการเสียชีวิต ได้ดีเพียงใด และประการที่สาม ยังไม่แน่นอนว่า สายพันธุ์ใหม่นี้ มีประวัติความรุนแรงต่างกันหรือไม่
องค์การอนามัยโลกยังเตือนเหมือนเดิมว่า จะใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทำความเข้าใจว่าสายพันธุ์นี้อาจส่งผลต่อการวินิจฉัย การรักษา และวัคซีนอย่างไร แต่หลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะติดเชื้อซ้ำได้
จากการวิเคราะห์ของไฟแนนเชียลไทม์ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า สายพันธุ์ใหม่ กำลังแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และมันอาจเริ่มกระตุ้นให้เกิด “การติดเชื้อระลอกใหม่”
ข่าวที่พอทำให้ใจชื่นได้บ้างเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่คือ แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นคนแรกที่ส่งสัญญาณเตือนเรื่องนี้ บอกว่า อาการที่เชื่อมโยงกับโอไมครอน “ไม่รุนแรงมาก” และองค์การอนามัยโลก บอกว่า การทดสอบด้วยวิธี PCR สามารถตรวจจับการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่กำลังมีการศึกษาว่า สายพันธุ์ที่น่าข้อกังวล นี้ มีผลกระทบต่อการทดสอบประเภทอื่น ๆ หรือไม่
จนถึงขณะนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ไม่กี่ร้อยคนทั่วโลก โดยอยู่ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ และมีผู้ติดเชื้อเล็กน้อยในอังกฤษ ฝรั่งเศส อิสราเอล สกอตแลนด์ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี ออสเตรเลีย แคนาดา และฮ่องกง แต่ยังไม่พบในสหรัฐฯ
ดังนั้นจึงต้องอาจใช้เวลาสักระยะกว่าจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อาการใดที่อาจเกิดจากสายพันธุ์ โอไมครอนในวงกว้าง และยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั่วโลกในระดับใด
เราได้เห็นการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นมาหลายสายพันธุ์แล้ว โดยครั้งแรกกับสายพันธุ์ “อัลฟ่า” และต่อมาก็เป็น “เดลต้า” ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อมากสุดในโลก นอกจากนี้เรายังได้เห็นว่าวัคซีนโควิดช่วยลดการติดเชื้อรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้อย่างมากจริง ๆ
ตอนนี้จึงเพียงแค่รอคอนเฟิร์มว่า วัคซีนที่มีอยู่คุมสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่ ซึ่งตอนแรกมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญออกมาประปรายว่า วัคซีน “เอาอยู่” และองค์การอนามัยโลก ก็ยังคงเรียกร้องให้เร่งฉีดวัคซีนโควิด “ให้เร็วที่สุด” แต่เมื่อสเตฟาน แบนเซล ซีอีโอ โมเดอร์นา ออกมาคาดการณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงที่จะต่อต้านสายพันธุ์ใหม่ และต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะพัฒนาและส่งมอบวัคซีนที่ป้องกันเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนได้ ตราสารดาวโจนส์ ก็พลิกกลับมาปรับตัวลงมากกว่า 400 จุดทันที
พัฒนาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ชี้ว่า ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก และยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก และข้อมูลใหม่ที่ออกมาจะเป็นพัฒนาการในทางบวกหรือทางลบ ต้องติดตามและรอฟังด้วยสติ การตื่นตระหนกและกลัวจนเกินเหตุไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพียงแค่เราป้องกันตัวเองและ “การ์ดอย่าตก” ก็พอ