อย่าด่วนทิ้งหุ้นเพราะ ‘โอมิคอรน’

ข่าวการพบสายพันธุ์โอมิครอน ได้สร้างความตื่นตระหนกจนเกิดแรงเทขายอย่างรุนแรง จึงหันไปหาประวัติการเคลื่อนไหวของตลาดในอดีตมาเป็นตัวชี้นำ


ข่าวการพบสายพันธุ์โอมิครอน ได้สร้างความตื่นตระหนกจนเกิดแรงเทขายอย่างรุนแรง แต่ความผันผวนในตลาดสหรัฐฯ ได้ทำให้นักลงทุนได้เรียนรู้ว่า ยากที่จะคาดเดาการเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงหันไปหาประวัติการเคลื่อนไหวของตลาดในอดีตมาเป็นตัวชี้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบทเรียนเมื่อโควิดระบาดครั้งแรกในปีที่ผ่านมา

หลังจากที่ดาวโจนส์ปรับตัวลง 900 จุดในวันที่ 26 พฤศจิกายน ก็มีแรงซื้อเข้ามาในวันจันทร์ที่ 29 แต่ก็มีสัญญาณถึงความอ่อนแออยู่ และในวันอังคารที่ 30 ดัชนีก็ปรับตัวลงอีก แต่พอวันพุธที่ 1 ธันวาคม ดัชนีกลับมาพุ่งขึ้นแต่ปิดตลาดลดลง จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 2 ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นอีก จนในที่สุดปิดลดลงอีกครั้งในวันศุกร์ที่ผ่านมา

โมฮัมเหม็ด เอล-อีเรียน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า นักลงทุนกำลังเดิมพันว่าจะเกิด “ซานตาคลอส แรลลี่”ครั้งใหญ่ในเดือนธันวาคมแม้ว่ายังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการคุกคามของสายพันธุ์โอมิครอนและการแพร่กระจายของมัน และแม้แต่หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการกล่าวว่า เฟดอาจจะเร่งลดการซื้อพันธบัตรและไม่ควรถือว่าเงินเฟ้อสูงชั่วคราวอีกต่อไป

นักกลยุทธ์บางคนยกประวัติการเคลื่อนไหวของตลาดมาอธิบายเพื่อที่จะมองเห็นภาวะที่นักลงทุนที่มีความอดทนจะก้าวไปข้างหน้าในช่วง 1 ปีจากนี้ไป

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเกิด “แบล็ก ฟรายเดย์” ดัชนีวัดความผันผวน (วีไอเอ็กซ์) พุ่งขึ้น 54% โดยเป็นหนึ่งใน 5 ครั้งที่ดัชนีผันผวนรุนแรงสุดในวันเดียวในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ปี 2533 มี 19 วันที่ดัชนีวีไอเอ็กซ์พุ่งประมาณ 40% หรือมากกว่านั้น และใน 18 จากจำนวน 19 ตัวอย่าง หรือ 95% ของช่วงดังกล่าว ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นในเวลา 1 ปีต่อมา และดีดตัวขึ้นมาก โดยเฉลี่ยที่ 20%

อย่างไรก็ดี โควิดเป็นความเสี่ยงที่ตลาดไม่ได้พบเจอบ่อยในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และดัชนีวีไอเอ็กซ์ปรับตัวขึ้นมากสุดสองครั้งเมื่อโควิดระบาดในสหรัฐฯ ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธุ์ 2563 และในช่วงที่ดัชนีวีไอเอ็กซ์พุ่งสองครั้งนั้น หุ้นบอบช้ำเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งชี้ว่า ในขณะนี้ตลาดยังคงระวังซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีตัวอย่างเดียวในจำนวน 19 วันที่ดัชนีวีไอเอ็กซ์พุ่งสูง หุ้นปรับตัวลงในเวลาหนึ่งปีต่อมาคือ เมื่อเริ่มเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้นักกลยุทธ์บางคนยังมั่นใจมากขึ้นว่า หุ้นจะยังคงคึกคักอยู่

ความผันผวนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญก่อนที่ “แนวโน้มที่มีอิทธิพล” จะกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญ และแนวโน้มที่ว่าก็คือ “เศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและหนุนการดีดตัวของหุ้นเพิ่ม”

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวเป็นรูปตัววีเป็นเรื่องปกติมากขึ้น และเมื่อย้อนกลับไปยังช่วงที่การระบาดยังน้อย หุ้นปรับตัวลงรุนแรงแล้วกลับมาดีดตัว โดยมีการต่อสู้ระหว่าง “ความโลภ” กับ “ความกลัว” แต่โดยทั่วไปแล้ว ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นตลาดปรับตัวลงและปรับตัวขึ้นมากขึ้น ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ครั้งสุดท้ายที่เห็นภาวะตลาดเช่นนั้น คือ เมื่อปลายเดือนกันยายน เมื่อปัญหาการเงินของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกควงหางดิ่ง

นักกลยุทธ์มองว่า มีความเป็นไปได้มากสุดที่จะเกิด “สงครามความโลภกับความกลัว” จนกว่าจะมีข่าวออกมาอีกและตลาดสามารถประเมินเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้นักกลยุทธ์บางคนจึงยังคงมองว่า นักลงทุนมักจะได้รับผลตอบแทนจากการนั่งนิ่ง ๆ แทนที่จะออกจากตลาด

ยุคนี้เป็นยุคที่นักลงทุน “กลัวจะพลาดโอกาส” โดยนักลงทุนจำนวนมากได้เรียนรู้จาก ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ คึกคักสุดในประวัติศาสตร์เมื่ออิงจากการดีดตัวของราคาหุ้นในดัชนี S&P 500

คนที่พลาดโอกาสในครั้งนั้นยังจดจำไม่ลืม ถึงบทเรียนจากการ “มองในด้านลบมากเกินไปและเร็วเกินไป” ดังนั้นต่อให้มีข่าวเกี่ยวกับการระบาดทั้งหมด นักกลยุทธ์แนะนำว่านักลงทุนควรจะอยู่ในตลาดดีกว่าเพราะเมื่อมีความชัดเจนทั้งหมด ตลาดก็เคลื่อนไหวต่อไป

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดก่อนวันที่ 26 พ.ย. และเมื่อตลาดปรับตัวลงจากนิวไฮ ประวัติศาสตร์ชี้ว่า นักลงทุนควรเตรียมพร้อมที่หุ้นจะปรับตัวลงอีกในช่วงหนึ่งถึงสามเดือนข้างหน้า การระบาดอาจทำให้ความผันผวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นความไม่แน่นอนที่ตลาดไม่คุ้นเคยที่จะวิเคราะห์ แต่ตอนนี้ตลาดมี คู่มือโควิดปี 2563 ให้เรียนรู้แล้ว

ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้บันทึกหนึ่งในบทเรียนของยุคโควิดไว้ว่า เศรษฐกิจปรับตัวต่อการระบาดได้ดีขึ้นในแต่ละระลอกที่เกิดการระบาดต่อเนื่องกัน และเมื่อ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ แสดงท่าทีนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นในระหว่างการแถลงต่อวุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญตลาดบางคนชี้ว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป น่ากังวลมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากเงินเฟ้อจะเริ่มรุนแรงเพราะปัญหาซัพพลายเชนที่มีอยู่จะรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างช่วงที่พบสายพันธุ์โอไมครอน กับช่วงที่เกิดโควิดในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2563 คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนเมื่อตอนที่มีการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว แต่โอมิครอนอาจทำให้กิจกรรมช้าลงบ้าง

เมื่อวานนี้ยังเริ่มมีข่าวดีที่เกี่ยวกับโอมิครอนแพลม ๆ ออกมาแล้วเช่นกัน โดยแพทย์แอฟริกาใต้คนหนึ่ง กล่าวว่า สายพันธุ์โอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง ในขณะเดียวกัน ดร.แอนโทนี่ ฟาวซี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ได้ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนสายพันธุ์โอมิครอน ไม่มีดีกรี ความรุนแรงมาก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า นักลงทุนไม่ควรจะขายหุ้นเพราะโอมิครอน และมีคำแนะนำว่า นักลงทุนควรจะหันไปหาบริษัทที่ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากและมีงบดุลมากกว่า เพราะหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง บริษัทเหล่านี้จะมีเงินเพียงพอที่จะฝ่าวิกฤติไปได้

Back to top button