ธปท.วิ่งไล่สินทรัพย์ดิจิทัล
ว่าด้วยเรื่อง ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง
จากถ้อยแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าด้วยเรื่อง “ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง มีความเสี่ยงถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงินที่จะส่งผลต่อร้านค้าผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย”
มาสู่ Media Briefing ว่าด้วยเรื่อง “ทำไมธปท. ห่วงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ” โดยที่ธปท.อธิบายว่า “การประกาศไม่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นการประกาศข้อบังคับห้ามใช้..และอยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำกับดูแลการรับชำระสินค้าผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเร็วที่สุด”
สรุปก็คือ “ผู้ประกอบการที่ออกเหรียญช่วงที่ผ่านมา สามารถใช้ชำระสินค้าและบริการตามที่ผู้ออกเหรียญระบุได้ต่อไป จนกว่าธปท.จะได้ข้อสรุปจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการอีกครั้ง”
นั่นทำให้เกิดความคิดเห็นเป็นการทั่วไปว่า..ธปท.ปรับตัวตาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ไม่ทันหรือไม่.!? ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ภาคเอกชนก้าวนำไปสู่ “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างเป็นรูปธรรมกันแล้ว
ข้อเท็จจริงเห็นได้อย่างกรณีกลุ่มเจมาร์ทและบีทีเอส ที่นำเอาสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง JFIN Coin มาร่วมสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งในรูปของสินค้าและบริการต่าง ๆ
หรือกรณีกลุ่มอาร์เอสที่เตรียมออก Popcoin เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจในเครือฯ ด้วยการประยุกต์ใช้กับแคมเปญการตลาดให้แบรนด์และสินค้าต่าง ๆ รวมถึงสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ผ่าน Popcoin Platform ด้วย
อีกบทพิสูจน์ที่ชัดเจนคืองาน “เดอะพินนาเคิล ออฟ พรอสเพอร์ริตี้” (THE PINNACLE OF PROSPERITY) เป็นความร่วมมือระหว่าง “เดอะมอลล์กรุ๊ป” และบริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด เพื่อสร้างดิจิทัลคอมมูนิตี้แห่งแรกของเมืองไทย ที่เป็นแหล่งพบปะของบรรดานักลงทุน และคนรักในสินทรัพย์ดิจิทัล จนทำให้เกิดโซ่ธุรกิจคือธุรกิจค้าปลีก เอ็นเตอร์เทนเมนท์ โรงแรม สายการบิน เรือท่องเที่ยวและเรือสําราญ โรงพยาบาล สุขภาพและความงาม ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ยกตัวอย่างเครือข่ายธุรกิจสายการบินรายใหญ่ อย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส”และ “ไทยแอร์เอชีย” ที่ประกาศว่าจะเปิดรับการชำระเงินรูปสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เริ่มรับชำระเงินด้วยคริปโตฯ ตั้งวันที่ 1 ม.ค. 65 ประเดิมที่สำนักงานใหญ่วิภาวดีรังสิต และทยอยเปิดให้ใช้บริการสาขาอื่นและรูปแบบออนไลน์ในอนาคต
ขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เตรียมที่จะเปิดให้ลูกค้าสามารถนำสกุลเงินดิจิทัลมาแลกเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินหรือสินค้าและบริการของไทยแอร์เอเชียเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Millennial ที่กำลังให้ความสนใจกับสินทรัพย์ดิจิทัล และจะกลายเป็นกลุ่มผู้ซื้อตัวจริงในอนาคตได้
นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลากหลายส่วนของภาคธุรกิจที่พยายามฉกฉวยโอกาสใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ตามเมกะเทรนด์โลก แน่นอนว่าไม่มีใครการันตีได้ว่าจะ “ประสบความสำเร็จ” หรือว่า “ล้มเหลวไม่เป็นท่า” แต่คำตอบที่ชัดเจนตอนนี้ก็คือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” มันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว..!!