พาราสาวะถี
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยเข้าสู่ปีที่ 90 แล้ว แต่พัฒนาการด้านประชาธิปไตยกลับไม่ไปไหน
ประเทศไทยเดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 90 แล้ว แต่พัฒนาการด้านประชาธิปไตยกลับไม่ไปไหน วนเวียนซ้ำซากกับการถูกรัฐประหารด้วยข้ออ้างสารพัด ทำให้ประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดถูกตีตราให้เป็น “ประเทศที่อยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยม” ร่วมกับประเทศอย่าง จีน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ และเมียนมา
ถามว่าน่าอับอายขายหน้าหรือไม่ ในสังคมชนชั้นนำหรือพวกที่ยกตนเป็นคนดีที่สนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจไม่ได้รู้สึกรู้สาต่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังแอบดีใจลึก ๆ เสียด้วยซ้ำไปที่เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า กลเกมที่ได้วางแผนกันไว้เพื่อการอยู่ยาวนั้นประสบความสำเร็จ และการครอบงำประเทศ การหากินบนความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ สามารถเดินหน้าต่อไปโดยไร้กระบวนการที่จะมาตรวจสอบและจัดการ
เมื่อไร้ซึ่งสำนึกต่อการยกระดับพัฒนาประชาธิปไตย ประเทศไทยจึงถูกตั้งคำถามตามมาว่าด้วยประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยที่ชวนให้คิดว่าเป็นของใคร และใครจะเป็นผู้ให้คำตอบ กรณีนี้เอกสารประกอบคำบรรยายโดย ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในการเสวนาวิชาการการเดินทาง 89 ปี รัฐธรรมนูญไทย อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาจึงน่าสนใจ
ทั้งนี้ ชำนาญชวนให้คิดถึงประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบว่า “อำนาจอธิปไตยในประเทศไทยเป็นของใครกันแน่” เมื่อไปดูในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีถึง 20 ฉบับ มีการบัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตยในแต่ละฉบับไม่เหมือนกัน แต่มีถ้อยคำอยู่สองแบบด้วยกันก็คือ “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย …” และ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย…” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย สิ่งที่เป็นคำถามต่อมาก็คือ คำว่า มาจาก กับ เป็นของ นั้นแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
ดูเผิน ๆ คำว่า เป็นของ กับ มาจาก น่าจะไม่แตกต่างกัน แต่โดยนัยทางการเมืองแล้วมีความแตกต่างกันมาก เพราะคำว่า “เป็นของ” นั้น ตามที่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เริ่มบัญญัติไว้นั้น บุคคลและคณะบุคคลทั้งหลายได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรโดยตรง แต่อำนาจอธิปไตยยังเป็นของราษฎรหรือประชาชนอยู่
ส่วนคำว่า “มาจาก” นั้น อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น มาจากราษฎรซึ่งราษฎรได้มอบอำนาจอธิปไตยของเขานั้นให้พระมหากษัตริย์ แล้วพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจ หรือรับเอาไปแบ่งให้คณะบุคคลอื่น ๆ ใช้ต่อไปอีก โดยอำนาจอธิปไตยนั้นไม่ใช่ของราษฎรหรือประชาชนอีกต่อไป เมื่อหันมามองในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบัญญัติไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่
อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ถึงแม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะแบ่งแยกไม่ได้ ถ้าแบ่งก็จะกลายเป็นรัฐใหม่ แต่สามารถจำแนกการใช้อำนาจอธิปไตยได้ ซึ่งโดยปกติจะถูกจำแนกการใช้เป็นอำนาจเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยมีหลักการที่สำคัญว่า ผู้ใช้อำนาจทั้งสามส่วนนั้น สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ หรือ check and balance ด้วยความเชื่อที่ว่าอำนาจต้องควบคุมอำนาจด้วยกันเองจึงจะได้ผล
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรีก็มีลักษณะถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ศาลซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยกระทำการทางตุลาการนั้น มาตรา 188 ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแต่เพียงผู้เดียว รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่มีโอกาสเข้ามาร่วมใช้อำนาจนี้กับศาลได้แต่อย่างใด
การยึดโยงระหว่างอำนาจตุลาการกับอำนาจอื่นนั้น มีเพียงการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลปกครอง โดยไม่รวมถึงผู้พิพากษาศาลยุติธรรมหรือประธานศาลฎีกาแต่อย่างใด มิหนำซ้ำในรัฐธรรมนูญปี 2560 อำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้ไปอยู่ในอำนาจของฝ่ายตุลาการแทนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเสียอีก ขณะเดียวกันก็พบว่าการใช้อำนาจในหลายเรื่องยิ่งกลับขยายอำนาจของตนเองออกไปอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้อีก
ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า การเดินทาง 89 ปี รัฐธรรมนูญไทยอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร คำตอบของชำนาญก็คือ “อำนาจอธิปไตยยังไม่ใช่ของประชาชนอย่างแท้จริง” เพราะถูกแทรกแซงด้วยการรัฐประหารมาถึง 13 ครั้ง แต่ปัจจุบันอำนาจอธิปไตยเป็นของชนชั้นนำที่แชร์อำนาจกับฝ่ายตุลาการ และนับวันอำนาจตุลาการยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประหนึ่งว่าอยู่เหนืออำนาจใด ๆ ทั้งปวง จนอาจเรียกได้ว่าปัจจุบันเราปกครองกันด้วย “ระบอบตุลาการธิปไตย” เสียด้วยซ้ำไป
สิ่งที่กำลังถูกสังคมจับตามองในช่วงของรัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้นคือ คนเห็นต่างทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีและคุมขัง ทั้งที่คนพวกนี้ศาลยังไม่พิพากษา ไม่ได้ทำอย่างอื่น ไม่ได้ลัก ปล้น ชิง ฆ่า หรือทำผิดข้อหาอาญาอื่น ๆ นอกจากการแสดงออก แน่นอนว่ามันชวนทำให้เกิดคำถามต่อการปฏิบัติงานของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น ที่เห็นว่ามุ่งจับกุม ตั้งข้อหาเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของฝ่ายกุมอำนาจ
ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์อ.ห.ต. จึงต้องขีดเส้นใต้ รัฐใดก็ตามที่มีปฏิบัติการไล่จับ-ไล่ขังคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งแสดงออกถึงความคิดตัวเอง สังคมที่ต้องการ โดยไม่เกิดการเรียนรู้ หรือพยายามทำความเข้าใจเลยว่ารัฐนั้นกำลังเดินเข้าสู่กับดักอันตรายต่อการใช้กำลังปราบปรามประชาชน และก็เป็นกับดักฝ่ายผู้มีอำนาจด้วย อำนาจรัฐที่ตึงตัวตลอดเวลา ใช้ทุกทรัพยากรที่มีเพื่อเผชิญหน้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากแหลมคมนี้ นานไปยากจะต้านทานไหว เพราะมันเกิดที่ความคิดของคน